วันพุธ, 8 พฤษภาคม 2567

แพทย์ เชียงใหม่ โชว์ผลงานยอดเยี่ยมบนเวทีเอเชียแปซิฟิก

19 มิ.ย. 2014
1328
Spread the love

แพทย์ เชียงใหม่ โชว์ผลงานยอดเยี่ยมบนเวทีเอเชียแปซิฟิก

คว้ารางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น

พบเครื่องอัลตร้าซาวด์ผ่าตัดกระดูก ลดการสัมผัสรังสีในผู้ป่วย

 

       แพทย์ออร์โทปิดิกส์ คณะแพทย์ฯ มช. เผยงานวิจัยยอกเยี่ยมใช้เครื่องอัลต้าซาวด์ในการช่วยผ่าตัดกระดูกต้นขาหักโดยวิธีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ทำให้แผลหายเร็ว ลดความเสี่ยงในการสัมผัสรังสี ปลอดภัยทั้งผู้ป่วย และทีมแพทย์ คว้ารางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น Winner of Young Investigator Award ในการประชุมวิชาการของหมอผ่าตัดกระดูกหักทั่วเอเชียแปซิฟิก เมื่อวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ กรุง Seoul ประเทศเกาหลีใต้

นพ.จิราวัฒน์ แสงสิน แพทย์ใช้ทุนปี 4 ผู้วิจัย เปิดเผยว่า “งานวิจัยในครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอัลต้าซาวด์ในการช่วยผ่าตัดกระดูกต้นขาหักโดยวิธีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (minimal invasive plate osteosynthesis) เปรียบเทียบกับการใช้เครื่องถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการอัลต้าซาวด์เปรียบเทียบกับการใช้เครื่องถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ในการช่วยผ่าตัดกระดูกต้นขาหักโดยวิธีการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งได้วิจัยในร่างอาจารย์ใหญ่จำนวน 14 ร่าง โดยมีกระดูกต้นขาหักในการศึกษาทั้งหมด 28 ข้าง  เครื่องอัลตร้าซาวด์ถูกใช้ในการวัดระยะการเคลื่อนของกระดูกที่หักช่วยในการจัดกระดูก รวมถึงการระบุตำแหน่งของเหล็กที่จะใช้ในการยึดกระดูก จากนั้นนำค่าที่ได้ทั้งหมดมาเปรียบเทียบกับค่าที่ได้จากการวัดโดยใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์”

แพทย์ผู้วิจัย เปิดเผยต่อว่า “งานวิจัยพบว่าภาพที่ได้จากการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ขณะช่วยผ่าตัดมีความใกล้เคียงกับภาพที่ได้จากการใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์ สามารถบอกระยะการเคลื่อนของกระดูกได้อย่างแม่นยำ และสามารถระบุตำแหน่งของเหล็กที่ใช้ในการยึดกระดูกได้อย่างดี นอกจากนี้การใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ในการผ่าตัดกระดูกยังสามารถลดการสัมผัสรังสีจากการใช้เครื่องเอ็กซ์เรย์ เกิดความปลอดภัยทั้งในผู้ป่วย ทีมแพทย์ และพยาบาลผู้รักษามากขึ้น จะเห็นว่าการนำเครื่องอัลตร้าซาวด์มาใช้ในการผ่าตัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดการสัมผัสกับรังสีลงได้

ผศ.นพ.ธนวัตน์  วะสีนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ที่ปรึกษางานวิจัยฯ ให้สัมภาษณ์ว่า “รู้สึกภูมิใจมากที่ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะแพทยศาสตร์ มช. ถึงแม้ภาควิชาจะเป็นหน่วยเล็กๆ แต่รางวัลในครั้งนี้ได้ทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเอเชียถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับงานวิจัยครั้งนี้เราไม่ได้เดินตามความฟุ่มเฟือยของต่างชาติ เราได้ประยุกต์ใช้เครื่องมือที่เรามีอยู่ในโรงพยาบาลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยการใช้เครื่องอัลตร้าซาว์เทคโนโลยีสมัยใหม่ๆ กับการผ่าตัดรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเป็นการต่อยอดงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จต่อผู้ป่วยที่ไม่เหมือนใคร และสร้างความแตกต่างที่เป็นประโยชน์มากต่อผู้ป่วย แพทย์ และพยาบาล”

 รศ.นพ.สัตยา  โรจนเสถียร หัวหน้าภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่อาจารย์แพทย์ และแพทย์ของเราประสบความสำเร็จในการทำวิจัยและได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศในครั้งนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการรักษาคนไข้เป็นอย่างมาก ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น รวมทั้งหมอ พยาบาล ก็มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยแพทย์ที่เดินทางไปนำเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้ได้รับทุน DR.Prasit and Toni Sri  Orthopedic resident Fund ในการส่งแพทย์ประจำบ้านไปเสนอผลงานต่างประเทศเป็นประจำทุกปีต้องกราบขอบพระคุณดร.นพ.ประสิทธิ์ ศรีอุทโยภาส ที่กรุณามอบทุนแก่แพทย์ในครั้งนี้”

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน