วันจันทร์, 20 พฤษภาคม 2567

แพทย์ มช.แนะดนตรีกับการออกกำลังกาย

Spread the love

แพทย์ มช.แนะดนตรีกับการออกกำลังกาย

 

เมื่อพูดถึงดนตรีกับการออกกำลังกาย คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการออกกำลังกายในฟิตเนส หรือการเต้นแอโรบิก  เชื่อหรือไม่ว่าการฟังเพลงระหว่างการออกกำลังกาย สามารถทำให้เราออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือออกกำลังกายได้นาน ได้หนัก และได้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามก็ต้องเลือกชนิดของดนตรีให้เหมาะสม ดังต่อไปนี้

         ในกรณีที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของหัวใจ ปอด และหลอดเลือด ควรใช้เพลงหรือดนตรีที่มีเสียงจังหวะกลองสม่ำเสมอ มีเสียงเบสหรือกลองดัง และความเร็วของจังหวะสัมพันธ์กับชีพจรที่ต้องการ โดยทั่วไปก็อยู่ระหว่าง 120-140 ครั้งต่อนาที เราสามารถหาซื้อเพลงเหล่านี้ได้ตามร้านขายเทปหรือ CD โดยบอกกับเจ้าของร้านว่าขอซื้อ CD เพลงเต้นแอโรบิก ซึ่งเพลงใน CD มักจะถูกเรียบเรียงใหม่จากเพลงเดิมที่อาจมีจังหวะช้าเร็วต่างๆ กัน ให้มีจังหวะที่เริ่มจากช้าในเพลงแรกๆ สำหรับการอบอุ่นร่างกายและค่อยๆ เร็วขึ้น   ซึ่งจะสอดคล้องกับชีพจรขณะออกกำลังกายที่ค่อยๆ เร็วขึ้นตามลำดับ โดยจะเพิ่มความเร็วจนถึงประมาณ 120-140 ครั้งต่อนาที และคงที่อยู่ประมาณ 30-45 นาที จากนั้นก็จะค่อยๆ ช้าลง

ส่วนแนวเพลงอื่นอาจเป็นเพลง Dance หรือ Hip-Hop หรือ Rock เพราะจะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหว และกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว ส่งผลให้ออกกำลังกายได้นานขึ้นและหนักขึ้น มีงานวิจัยหลายฉบับรายงานว่า การฟังดนตรีขณะออกกำลังกายช่วยเพิ่มความทนทานของกล้ามเนื้อในการทำชิตอัพ (Sit-up) และการดันพื้น (Pushup) ทำให้การยก Dumbbell ได้หนักขึ้น  และทำให้ระยะเวลาการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15 นอกจากนั้นยังมีผลการวิจัยที่น่าสนใจของคนไทยโดย อาจารย์วรรณี เจิมสุรวงศ์ และอาจารย์อุไรรัตน์ ศรีวิบูลย์  เรื่องผลของดนตรีที่มีต่อระยะเวลาในการออกกำลังกายของผู้ที่ออกกำลังกายและไม่ออกกำลังกาย โดยแบ่งเพลงออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเพลงคัดสรรซึ่งคัดเลือกจากเพลงไทยทุกประเภทถึง 400 เพลง เหลือเพียง 5 เพลง ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติความรัก ความใฝ่ฝัน มีเนื้อร้องที่สร้างสรรค์และทำนองไพเราะ กับกลุ่มเพลงที่ผู้เข้าร่วมวิจัยแต่ละคนชอบฟังหรือคุ้นเคย ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นนักศึกษาหญิงอายุ 18-22 ปี จำนวน 18 คน เป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ 9 คน และไม่ออกกำลังกายเลย 9 คน โดยให้ทุกคนเข้ารับการทดสอบโดยการฟังดนตรีคัดสรร ดนตรีที่ชอบและไม่ให้ฟัง ขณะออกกำลังกายปั่นจักรยานไฟฟ้า ปรับความหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุก 1 นาที จนถึงระดับที่หมดแรงหรือไม่สามารถออกกำลังกายต่อไปได้ ผลการวิจัยพบว่า การฟังเพลงคัดสรรหรือเพลงที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ ทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น เมื่อเทียบกับการฟังเพลงที่ชอบและการไม่ฟังเพลงขณะออกกำลังกาย สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายด้วยเพลงคัดสรร สามารถเพิ่มระยะเวลาในการปั่นจักรยานให้นานขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่ออกกำลังกายการฟังเพลงไม่สามารถเพิ่มระยะเวลาในการปั่นจักรยาน ให้นานขึ้นได้ นี่แสดงให้เห็นว่าเนื้อหาของเพลงมีผลต่อคุณภาพการออกกำลังกายของคนไทย ผมเชื่อว่าขณะที่จิตเราจดจ่อกับเสียงเพลงหรือเนื้อร้อง ทำให้เกิดสมาธิและทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น  ส่วนการฟังเพลงช้าๆ อาจไม่ช่วยให้ความหนักของการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น แต่สามารถเพิ่มความนานได้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออกกำลังกายๆ นาน และเบาๆ เช่นการลดไขมัน หรือผู้ป่วยที่ต้องการออกกำลังกายเบาๆ

ผมเชื่อว่า แต่ละคนมีเพลงหรือดนตรีที่ชอบและมีวัตถุประสงค์ของการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน ในทางทฤษฎีแล้วแต่ละคนจึงควรใส่หูฟังเฉพาะคนไป ถ้าเราสามารถขยับขาหรือแขนตามจังหวะเพลงที่เราฟังได้จะดีที่สุด ทำให้จังหวะการขยับสม่ำเสมอทั้งในการปั่นจักรยาน การวิ่งบนลู่วิ่ง การเดินบนลู่เดินวงรี เป็นต้น และจังหวะของเพลงยังเป็นแรงผลักดันที่ดีให้ร่างกายพยายามเคลื่อนไหวตามแต่ถ้าไม่อยากยุ่งยากกับหูฟังที่มีสายระโยงรยางค์ก็ฟังเพลงที่เขาเปิดให้ฟังอยู่แล้วก็ได้

 

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ