วันจันทร์, 29 เมษายน 2567

แถลงการณ์สถานการณ์หมอกควัน และแนะนำข้อปฏิบัติตัวในช่วงหมอกควัน

Spread the love

แถลงการณ์สถานการณ์หมอกควัน และแนะนำข้อปฏิบัติตัวในช่วงหมอกควัน

ข่าว

โดย หน่วยโรคระบบการหายใจฯ คณะแพทย์ มช. 

วันที่  3 มีนาคม 2558

การหายใจด้วยอากาศที่มีคุณภาพเหมาะสมถือเป็น

สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน” (WHO)

เป็นที่ทราบกันดีว่า อนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 10 ไมครอน หรือ PM10มีผลกระทบต่อสุขภาพของปอด. ประชากรจังหวัดเชียงใหม่ ได้สัมผัสกับระดับค่าเฉลี่ยต่อวันของฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ที่สูง ในช่วงหน้าแล้งระหว่าง เดือน มกราคม-มีนาคมในหลายปีที่ผ่านมาและยังคงเป็นปัญหาอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พ.ศ.2550 ทางภาคเหนือรวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศ ครั้งใหญ่ โดย มีระดับ PM10ที่สูงอย่าง มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วง ปลายฤดูหนาวต้นฤดูร้อนที่มีการเผาทางการเกษตรในที่นาที่สวน และไฟป่าซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากชาวบ้านเผาเพื่อหวังผลทางการเกษตร ส่วนหนึ่งเป็นการเผาเพื่อทำแนวกันไฟป่าและส่วนน้อยเกิดตามธรรมชาติ ประกอบกับความกดอากาศสูงยังปกคลุมในชั้นบรรยากาศตอนบนอยู่ ร่วมกับภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาล้อมรอบคล้ายแอ่งกระทะ  ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงลมสงบ ควันไฟส่วนใหญ่จึงไม่สามารถลอยสูงขึ้นไปในชั้นบรรยากาศตอนบนและถูกกระแสลมพัดออกไปจากพื้นที่ได้ จึงทำให้เกิดปัญหาหมอกควันปกคลุมหนาแน่นในชั้นบรรยากาศเหนือพื้นดินอยู่เป็นเวลานานราว 2 เดือนก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคระบบการหายใจ โรคหัวใจ

ผศ.นพ.นิสิต วรรธนัจฉริยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “หน่วยวิชาโรคระบบการหายใจฯ คณะแพทยศาสตร์ ได้ทำการศึกษาเรื่อง”ผลกระทบของปริมาณอนุภาคขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ในอากาศต่ออัตรากำเริบของโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินในจังหวัดเชียงใหม่” โดยทำการศึกษา ในช่วงเดือน มกราคม ถึง เดือน มีนาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ.2552 และการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่มีการกำเริบของโรคหืด หรือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่เข้ารับการตรวจที่ห้องฉุกเฉิน ของโรงพยาบาล มหาราชนครเชียงใหม่ และ เชียงใหม่ราม เปรียบเทียบกับระดับค่า PM10ได้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษกระทรวงสาธารณสุข การวิเคราห์ความสัมพันธ์ ของการเพิ่มขึ้นของระดับ PM10และอัตราการกำเริบของโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังใช้สถิติ  Generalized Linear Modelผลการศึกษา:พบว่ามีผู้ป่วยเกิดกำเริบของโรค หืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังทั้งสิ้น 917 คนประมาณ2คนต่อวัน (มากสุด 10 คน/วัน) ระดับPM10อยู่ที่ 64.5 µg/m3 (สูงสุด 304 µg/m3).พบว่าการเพิ่มขึ้นของค่า PM10ทุก ๆ 10 µg/m3จะมีผลต่ออัตราการเพิ่มขึ้นของ การกำเริบของโรคหืด อย่างชัดเจน (มีนัยสำคัญ) หลังจากสัมผัสในวันที่ 6 วันและจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของการกำเริบของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างมีนัยสำคัญที่ 7วันหลังจากสัมผัส อีกทั้งยังเป็นที่น่าสังเกตที่พบว่าความเสี่ยงในการกำเริบของ โรค หืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพิ่มขึ้นถึง30%-35.0% ในวันที่ค่า ระดับ PM10สูงกว่า 50 µg/m3จากการศึกษานี้ยืนยันถึงผลกระทบของ การเพิ่มขึ้นของระดับ PM10 ต่อ การกำเริบของโรค หืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยจะไม่เกิดขึ้นทันที แต่จะมี delay time ในช่วง 6-7 วัน หลังจากการเพิ่มของระดับ PM10และการใช้ค่ามาตรฐานที่ 120 µg/m3อาจสูงเกินไปทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพดังกล่าว ประเทศไทยควรพิจารณาเกณฑ์มาตรฐานตาม WHO ที่ 50µg/m3

 

ดังนั้น ทางคณะแพทย์ มช. จึงขอแจ้งข้อมูลและแนะนำข้อปฏิบัติตัวให้ประชาชนโดยเฉพาะ ผู้ป่วยโรค ภูมิแพ้ โรคระบบการหายใจ และหัวใจและหลอดเลือดปฏิบัติตัวในช่วงหมอกควันดังนี้ 

กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบของ PM 10 มากกว่าคนทั่วไป โดยสามารถมีอาการได้แม้สัมผัสอนุภาคในอากาศเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ได้แก่กลุ่มผู้ป่วย

  • โรคหืดและโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆเช่นถุงลมโป่งพอง (สัมพันธ์กับอัตราการกำเริบของโรค, อัตราการนอนโรงพยาบาล, และอัตราการเสียชีวิต)
  • ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้มีอาการหอบเหนื่อยและแน่นอกได้(สัมพันธ์กับอัตราการกำเริบของโรค, อัตราการนอนโรงพยาบาล, และอัตราการเสียชีวิต)
  • คนสูงอายุ
  • เด็กเล็ก (ปอดยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทำให้มีอาการไอ, หอบ, และมีการเสื่อมของสมรรถภาพปอด)
  • คนสูบบุหรี่
  • คนที่ออกกำลัง (ต้องหายใจแรงขึ้น, เร็วขึ้น, ทำให้อัตราไหลของ PM มากขึ้น, การอ้าปากหายใจ)

อาการ:

  • ไอมีเสมหะ
  • หายใจมีเสียงวี๊ดหอบเหนื่อยมีอาการกำเริบของหลอดลมในผู้ป่วยหืดและถุงลมโป่งพอง
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอกหรือมีอาการกำเริบของโรคหัวใจ

ผลของมลภาวะเป็นพิษทางอากาศต่อสุขภาพ

  • มีอาการทางระบบการหายใจมากขึ้น
  • มีการเจ็บป่วยทางระบบการหายใจมากขึ้น
  • มีการกำเริบของโรคหืดและถุงลมโป่งพอง
  • เพิ่มความต้องการในการใช้บริการทางสาธารณสุข: ต้องมาก่อนนัด, มาห้องฉุกเฉิน, ต้องนอนโรงพยาบาล
  • เพิ่มอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคระบบการหายใจและ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด

คำแนะนำสำหรับการดูแลตนเอง

  1. ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อไม่ให้มลพิษอากาศเข้ามาสะสมในอาคาร เปิดใช้เครื่องฟอกอากาศหรือเครื่องปรับอากาศที่สามารถกรองอากาศได้ (ถ้ามี)
  2. ควรสวมหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ ( N-95) หรือ สวมหน้ากากผ้า(surgical mask)ปิดจมูกเพื่อกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก
  3. สวมแว่นตา เพื่อป้องกันดวงตาจากลมและควัน
  4. ใช้น้ำเกลือล้างจมูก เพื่อล้างฝุ่นควันลดอาการคัดจมูก หรือ กลั้วคอ เพื่อป้องกันอาการเจ็บคอ
  5. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายนอกอาคารในช่วงที่มีหมอกควัน
  6. ห้ามการเผาทุกชนิดโดยเด็ดขาด
  7. เก็บใบไม้กิ่งไม้ เพื่อทำปุ๋ยหมักแทนการเผา
  8. หมั่นตรวจสภาพเครื่องยนต์ของรถยนต์และจักรยานยนต์ให้อยู่ในสภาพดี ไม่ปล่อยควันขาวหรือควันดำ
  9. ปลูกต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่มรวมทั้งไม้ในร่มให้มากขึ้น เพื่อที่ใบไม้จะดักจับฝุ่นละออง
  10. ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจควรหมั่นสังเกตอาการ ถ้ามีอาการผิดปกติควรพาไปพบแพทย์โดยเร็ว

 

มาช่วยกันรณรงค์ “คืนความสุขในการหายใจ คืนวันฟ้าใส ให้ชาวเชียงใหม่” กันเถอะ

       มาช่วยกั๋น “คืนอากาศสดใส หื้อจาวเชียงใหม่” ตวยกั๋นเด้อเจ้า

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ