วันพุธ, 8 พฤษภาคม 2567

เตรียมเสนอ สธ. ไฟเขียวโครงการ “รพ.ประชารัฐ”…ดึงประชาชนร่วมเป็นเจ้าของ

Spread the love

scoop21

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS

 

เตรียมเสนอ สธ. ไฟเขียวโครงการ “รพ.ประชารัฐ”…ดึงประชาชนร่วมเป็นเจ้าของ

      

         ท่านผู้อ่านครับ มีข่าวน่าสนใจยิ่งมาฝากกันครับ

         เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2560 สื่อมวลชนสายกระทรวงสาธารณสุขรายงานข่าวว่า   นพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวถึงแนวคิดโรงพยาบาลประชารัฐ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ร่วมเป็นเจ้าของโรงพยาบาล ว่า การเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเป็นได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่การร่วมเงิน แต่ยังรวมถึงการร่วมแรงและร่วมคิดด้วย ซึ่งตอนนนี้ทางโรงพยาบาลน้ำพองได้คิดโครงการห้องพิเศษ รพ.ประชารัฐ ที่ให้ประชาชนร่วมบริจาควันละ 3 บาท หรือปีละ 1,000 บาทต่อคน โดยสมัครใจ เมื่อเจ็บป่วยสามารถนอนห้องพิเศษได้ฟรี ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการมีส่วนร่วม ซึ่งจากการพูดคุยกับคนในพื้นที่พบว่า เห็นด้วยอย่างมากกับแนวคิดนี้ถึง 90% โดยตั้งเป้าให้มีคนในพื้นที่ร่วมขั้นต่ำประมาณ 10,000 คน จะช่วยให้มีงบมาพัฒนาโรงพยาบาลและดูแลประชาชนถึง 10 ล้านบาท แบ่งเป็นงบคืนค่าห้องพิเศษ ซึ่งคำนวณแล้วอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านบาท จะช่วยให้โรงพยาบาลลดปัญหาขาดสภาพคล่องไปได้บ้าง ที่เหลืออีก 3 ล้านบาท จะนำมาใช้ในการพัฒนาคนในพื้นที่ เช่น ส่งคนในพื้นที่เรียนพยาบาลเพื่อกลับมาดูแลประชาชน หรือพัฒนาคนให้มีอาชีพพึ่งตนเองได้

นพ.วิชัย กล่าวว่า  แนวคิดเรื่อง  รพ.ประชารัฐ ได้นำไปพูดคุยกันและมีโรงพยาบาลต่างๆเห็นด้วย จะเริ่มดำเนินการใน 38 โรงพยาบาล แบ่งเป็น 2 เฟส คือ เฟสแรก เริ่มต้นที่ 20 โรงพยาบาลที่มีห้องพิเศษอยู่ก่อนแล้ว และผู้อำนวยการโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่มานานเกิน 10 ปี เป็นที่รักของคนในพื้นที่ เข้ากับประชาชนได้ ทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ได้ ก็จะสื่อสารกับคนในพื้นที่ให้เข้าร่วม รพ.ประชารัฐ ได้ โดยขณะนี้เริ่มแล้วที่ รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ส่วน รพ.น้ำพอง จะเริ่มเปิดดำเนินการในปลายปีนี้ ส่วนเฟสที่สอง คือ รพ. อีก 18 แห่งที่ยังไม่มีห้องพิเศษ ก็ต้องรองบประมาณและสร้างตึกให้เรียบร้อยก่อน จึงดำเนินการได้ ซึ่งคาดว่าต้องใช้งบประมาณประมาณแห่งละ 20 ล้านบาท แต่ระหว่างนี้ก็จะดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน หรือประชารัฐในส่วนอื่นก่อนเช่นเดียวกับ 20 โรงพยาบาลในเฟสแรก เช่น การจ้างงานคนพิการ การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น

“รพ.น้ำพอง ดูแลประชากรประมาณ 1.2 แสนคน ซึ่งกว่า 90% เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ คาดว่า น่าจะมีคนเข้าร่วม 3 – 5 หมื่นคน ได้ไม่ยาก ส่วนการร่วมบริจาคคนละ 1,000 บาท คิดว่าไม่น่าจะเป็นภาระมากเกินไป เพียงแต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษานักกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า แนวทางนี้สามารถทำได้หรือไม่ ติดขัดข้อกฎหมายใดหรือไม่ โดยอาจมีการเสนอเป็นโครงการให้ปลัด สธ. อนุมัติ ซึ่งหากไม่ติดขัดเรื่องใดก็สามารถลงมือดำเนินการได้เลย ส่วนการบริจาคคงต้องมีการแยกบัญชีออกมา ส่วนการบริจาคก็ขึ้นกับประชาชนว่าสะดวกแบบใด บริจาคครั้งละ 1,000 บาท หรือวันละ 3 บาท” ผอ.รพ.น้ำพอง กล่าว

นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรากูร ผู้อำนวยการ รพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า การร่วมบริจาคตามแนวทาง รพ.ประชารัฐ ไม่ได้เกิดประโยชน์เพียงแค่ผู้บริจาคเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ไม่ได้ร่วมบริจาคด้วย โดยผู้บริจาคนอกจากได้บุญ ขอให้ไม่เจ็บป่วยแล้ว เมื่อป่วยยังได้รับสิทธิใช้ห้องพิเศษฟรี ขณะที่โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็สามารถนำเงินไปใช้บริหารจัดการให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้ร่วมโครงการได้รับการดูแลดีขึ้นด้วย และยังเปิดโอกาสให้เข้าร่วมได้ด้วย ส่วนปัญหาหากมีผู้ร่วมโครงการมาก และมีผู้ใช้ห้องพิเศษมากจนไม่เพียงพอ ก็อาจมีการปรับให้ห้องพิเศษมี 2 เตียง ซึ่งเท่าที่ดำเนินการเบื้องต้น คนไข้บอกว่าดีมีเพื่อนคุย และไม่ได้มีความแออัดแต่อย่างใด ทั้งนี้ รพ.อุบลรัตน์ มีประชาชนเข้าร่วมประมาณพันกว่าคนแล้ว คาดว่า ภายใน 1 – 2 ปี น่าจะได้ครบ 10,000 คน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

นพ.สมชาย ศรีสมบัณฑิต ผู้อำนวยการ รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวว่า จากการนำแนวคิดนี้ไปเสนอในที่ประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปรากฏว่า คนทั้งหมดต่างก็สนับสนุน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากแม้จะไม่มีการร่วมบริจาคก็ได้รับการดูแลนอนพักในห้องสามัญอยู่แล้ว แต่การบริจาคก็เหมือนกับได้พักห้องพิเศษแบบเดียวกับสิทธิข้าราชการ ซึ่งต้องจ่ายค่าห้องพิเศษด้วย ส่วนการพูดคุยกับคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

            สำหรับโรงพยาบาล 20 แห่งในเฟสแรก ประกอบด้วย 1. รพ.อุบลรัตน์ ขอนแก่น 2. รพ.น้ำพอง ขอนแก่น 3. รพร.สว่างแดนดิน สกลนคร 4. รพ.นาทวี สงขลา 5. รพ.กันตัง ตรัง 6. รพ..หล่มเก่า เพชรบูรณ์ 7. รพ.ตากใบ นราธิวาส 8. รพ.จักราช นครราชสีมา 9. รพร.กระนวน ขอนแก่น 10. รพร.กุฉินารายณ์ กาฬสินธุ์ 11. รพ.อุทุมพรพิสัย ศรีสะเกษ 12. รพ.หัวตะพาน อำนาญเจริญ 13. รพ.พนมดงรัก สุรินทร์ 14. รพร.นครไทย พิษณุโลก 15. รพ.กระสัง บุรีรัมย์ 16. รพ.ท่าตูม สุรินทร์ 17. รพ.บัวใหญ่ นครราชสีมา 18. รพ.สังขะ สุรินทร์ 19. รพร.ปัว น่าน และ 20. รพ.กมลาไสย กาฬสินธุ์

             ส่วนโรงพยาบาล 18 แห่งในเฟสสอง ประกอบด้วย 1. รพ.บ้านหม้อ สระบุรี 2. รพ.แก่งคอย สระบุรี 3. รพ.บ้านกรวด บุรีรัมย์ 4. รพ.หนองบัวระเหว ชัยภูมิ 5. รพ.พรเจริญ บึงกาฬ 6. รพ.สบปราบ ลำปาง 7. รพ.ละงู สตูล 8. รพ.ขุนหาญ ศรีสะเกษ 9. รพ.เถิน ลำปาง 10. รพ.สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา 11. รพ.บ้านโฮ่ง ลำพูน 12. รพ.ห้วยแถลง นครราชสีมา 13. รพ.ห้วยยอด ตรัง 14. รพ.ลำสนธิ ลพบุรี 15. รพ.ท่ายาง เพชรบุรี 16. รพ.ศรีณรงค์ สุรินทร์ 17. รพ.ท่าคันโท กาฬสินธุ์ และ 18. รพ.สิเกา ตรัง

          ผมก็ขอสรุปส่งท้ายว่า แนวคิดเรื่องโรงพยาบาลประชารัฐ เป็นเรื่องของโรงพยาบาลของรัฐ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลนำเสนอแนวคิดนี้ส่งต่อไปยังชุมชน เนื้อหาคือ เชิญชวนประชาชนผู้มีรายได้พอที่จะร่วมบริจาคสมทบช่วยโรงพยาบาลสักปีละ 1,000 บาทต่อ 1 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3บาท จะบริจาคแบบใดก็ได้ จ่ายครั้งเดียว 1 พันบาท หรือจ่ายเป็นวัน เป็นเดือน จนครบ 1 พัน เงิน 1 พันนี้จะคิดอย่างไรก็ไม่ว่ากัน จะคิดว่าทำบุญกับสถาบันอื่นๆเช่น วัดวาอารามปีหนึ่งอาจจะมากกว่า 1 พันบาท แล้วไม่ได้อะไรกลับมา นอกจากได้บุญกุศล แล้วจะบริจาคเพื่อสร้างบุญกุศลกับโรงพยาบาลบ้างไม่ได้หรือ ก็ได้ ซึ่งเงินนี้ โรงพยาบาลก็จะนำไปบริหารในเรืองต่างๆของโรงพยาบาลที่ไม่มีงบประมาณ เช่น งบประมาณจ้างคนพิการทำงาน หรือทำเป็นทุนการศึกษาคนในท้องถิ่น ที่สำคัญคือ โรงพยาบาลเหล่านี้ยังให้การรักษาพยาบาลคนในชุมชนด้วยระบบ 30 บาททุกโรคอยู่ ปัญหาของ 30บาททุกโรคคือ ประชาชนเจ็บป่วยจะได้รับการบริการรักษาฟรี ก็จริง แต่ถ้าต้องนอนโรงพยาบาลจะได้รับการดูแลในห้องรวม หากแต่จะเข้าพักรักษายังห้องพิเศษ ต้องจ่ายเงินเอง กรณีนี้หากมีชื่อเป็นผู้บริจาค ก็จะได้รับบริการห้องพิเศษแบบฟรีๆ และตามข่าว เป็นที่น่ายินดีว่าทางเหนือตอนบนของเราก็มีโรงพยาบาลในจังหวัด น่าน ลำปาง และลำพูน เข้าร่วมโครงการนำร่องแล้ว คิดว่า หากมันเวิร์ค ต่อไป โรงพยาบาลในจังหวัดอื่น เช่นในเชียงใหม่ ก็คงจะร่วมโครงการนี้ด้วยนะครับ

อรุณ ช้างขวัญยืน เรียบเรียง/รายงาน