วันเสาร์, 18 พฤษภาคม 2567

เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงอำเภอแม่แจ่มยังคงปักหลักเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นวันที่สอง

Spread the love

เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงอำเภอแม่แจ่มยังคงปักหลักเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นวันที่สอง

 

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงอำเภอแม่แจ่มกว่า 500 คน ที่เดินทางมาชุมนุม และติดตามทวงถามถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลหลังจากที่ทางกลุ่มเกษตรกรได้ยื่นหนังสือของความช่วยเหลือกรณีราคาตกต่ำเป็นวันที่สอง โดยปักหลักพักแรมในบริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ในคืนที่ผ่านมา ที่ด้านหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ วันนี้ (7 มี.ค.56) นายบุญศรี กองจันทร์ ประธานเครือข่ายผู้ปลูกหอมแดงอำเภอแม่แจ่ม ยังคงปักหลักนำกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงอำเภอแม่แจ่มกว่า 500 คน เดินทางมาชุมนุม และติดตามทวงถามถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล หลังจากที่ทางกลุ่มเกษตรกรได้ยื่นหนังสือของความช่วยเหลือกรณีราคาตกต่ำไว้เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยได้ยึดบริเวณสนามด้านหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เป็นสถานที่พักแรม

สำหรับวันที่สองของการชุมนุมเรียกร้องขอความช่วยเหลือ นายไพโรจน์ กุลละวาณิชย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ได้เชิญผู้แทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงเข้าร่วมหารือหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ณ ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ตามประเด็นการเสนอแนวทางของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเรียกร้องให้มีการกำหนดราคาหอมแดงแห้งคละ (แขวน 15 วัน) ให้มีราคา 20 บาทต่อกิโลกรัม ช่วงระยะเวลาดำเนินการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม – 15 มิถุนายน 2556 โดยกำหนดให้มีจุดรับซื้อในเขตอำเภอแม่แจ่ม จำนวน 3 จุด และให้รับซื้อหอมแดงจากเกษตรกร จำนวน 300 ตันต่อวัน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร 1,211 ราย ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูก 5,219 ไร่ โดยผลผลิตที่ได้นั้นอยู่ที่ประมาณ 18,268,250 กิโลกรัม ซึ่งที่ประชุมร่วมกันหารือและมีมติมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานรับซื้อผลผลิตหอมแดงจากเกษตรกรทั้งหมด ในราคากิโลกรัมละ 17 บาท จากนั้นให้นำออกจำหน่ายแก่บุคลากรในหน่วยงานราชการในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งจังหวัดได้ขอความร่วมมือจัดซื้อผลผลิตหอมแดงคนละ 5 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 22 บาท

โดยให้กำหนดจุดรับซื้อ 3 จุดในจำนวนวันละ 300 ตัน ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรต่อไปกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงอำเภอแม่แจ่ม ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เสนอข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ ตั้งแต่วานนี้ (6 มี.ค.56) โดยยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเกษตรกรโดยรับซื้อผลผลิตในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ตามที่เกษตรกรร้องขอ เนื่องจากผลผลิตหอมแดงเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว แต่แทบจะไม่มีพ่อค้าเข้าไปรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ หรือหากมีก็จะรับซื้อในราคาต่ำเพียง 3-4 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตหอมแดงของเกษตรกรอยู่ที่ประมาณ 9.50 บาท

อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงเนื่องจากได้รับความเดือดร้อนมากด้านนายไพโรจน์ กุลละวณิชย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสาเหตุของราคาหอมแดงตกต่ำว่าเนื่องจากหอมแดงในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ได้ออกสู่ท้องตลาดตามปกติ แต่หอมแดงในพื้นที่เชียงใหม่มีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดเร็วกว่าปกติซึ่งที่ผ่านมาจะออกประมาณปลายเดือนมีนาคม ดังนั้นจึงทำให้เกิดการทับซ้อนกัน ทำให้ ผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าปกติ ซึ่งแนวทางในการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรนั้น ในขณะที่ตลาดต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซียได้เปิดโควตารับซื้อจากประเทศไทยแล้ว ซึ่งก็จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในข้อเรียกร้องได้ ทั้งนี้เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ประเทศอินโดนีเซียได้ซื้อนำเข้าหอมแดงจากไทยประมาณ 36,972.56 ตัน มูลค่า 417.25 ล้านบาท

ข่าวโดย : ราตรี จักร์แก้ว
หน่วยงาน : ส.ปชส.เชียงใหม่

http://region3.prd.go.th/ct/news/viewnews.php?ID=130307131739

สำนักข่าว 

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน