วันพุธ, 8 พฤษภาคม 2567

สารคดีเชิงข่าว-เล่าเรื่องพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่นM

Spread the love

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS

 

สารคดีเชิงข่าว-เล่าเรื่องพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่นM

                น่าสนใจมากนะครับ สำหรับผู้ประกอบการยุคนี้ ลองสละเวลาอ่านให้จบ มีประโยชน์มากครับ

                    ผู้บริโภคกลุ่ม Gen M หรือกลุ่ม Millennial หมายถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เกิด ระหว่างปี 2523-2543 (ค.ศ.1980-2000) ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษที่เกิด การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันประชากรกลุ่มนี้มีอายุระหว่าง 17-37 ปี และกำลังได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ทั้งจากจำนวนที่มีอยู่มากและพร้อมที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ล่าสุด Edelman

(บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาด) ประเมินว่า ปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่ม Gen M มี จำนวนมากถึง 1.8 พันล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรโลก นอกจากนี้  Badgeville (บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจดิจิทัล) คาดว่าภายในปี 2568 จำนวนผู้บริโภค กลุ่ม Gen M โลกจะมีสัดส่วนสูงถึง 3 ใน 4 ของจำนวนประชากรวัยแรงงานของโลกขณะเดียวกันมีการประเมินว่ายอดการใช้จ่ายของผู้บริโภคกลุ่มนี้สูงถึง

6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะพุ่งแตะระดับ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้บริโภคกลุ่ม Gen M มีพฤติกรรมและรสนิยมการบริโภค สินค้าและบริการแตกต่างจากผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ ค่อนข้างมาก  ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวจึงควรทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างถ่องแท้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการให้ตรงใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ ได้ดียิ่งขึ้น

             พฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่ม Gen M

ให้คุณค่าและความสำคัญกับการใช้จ่ายเพื่อซื้อประสบการณ์ชีวิต มากกว่าการเก็บเงินเพื่อซื้อทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงอย่างอสังหาริมทรัพย์ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้บริโภค Gen M กลุ่มใหญ่ของโลก โดยเฉพาะในอินเดียและจีนอาศัยอยู่กับพ่อแม่หลังจบการศึกษา จึงมีเงินเหลือพอเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบ ทั้งนี้ กิจกรรมที่ได้รับความนิยมในกลุ่ม Gen M ทั่วโลก มีดังนี้

รักการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ Expedia.co.th (เว็บไซต์ที่ให้บริการด้านท่องเที่ยว) เปิดเผยผลสำรวจ ทัศนคติและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen M จำนวน 21,000 ราย จาก 21 ประเทศ พบว่าแรงจูงใจสำคัญที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคกลุ่ม ดังกล่าวตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว คือ ประสบการณ์และแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลก เรียนรู้วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละประเทศ และที่สำคัญยังได้แชร์ประสบการณ์การเดินทางทั้งภาพหรือวิดีโอลง Social Media โดยพบว่าชาวเอเชีย โดยเฉพาะจีน อินเดีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen M ที่สำคัญของโลก ล่าสุด Brand Karma  (บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดดิจิทัล) คาดว่ายอดใช้จ่ายเพื่อเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen M ชาวเอเชียจะพุ่งแตะระดับ 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 โดยจากผลการศึกษาของ Forbes (นิตยสารด้านธุรกิจชื่อดังของโลก) พบว่า เมืองท่องเที่ยว ยอดนิยม 3 อันดับแรกของโลกที่นักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen M ใฝ่ฝันที่จะเดินทางไปเยือน คือ Liverpool สหราชอาณาจักร รองลงมาคือ Bordeaux ฝรั่งเศส และ Düsseldorf เยอรมนี ขณะที่ จ.ภูเก็ต ประเทศไทย ติดอันดับ 9 จากผลสำรวจ 10 อันดับแรกของโลก

ค้นหาร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพ อร่อย และบรรยากาศดี ร้านอาหารที่ผู้บริโภค Gen M นิยมเลือกรับประทานจะต้อง ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อย ราคาเหมาะสม และที่สำคัญต้องตกแต่งร้านให้มีบรรยากาศสวยงามแปลกใหม่ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

กลุ่มนี้ที่นิยมรับประทานอาหารพร้อมกับการถ่ายรูปอาหาร ร่วมกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวกับบรรยากาศร้านและแชร์ข้อมูลผ่าน Social Media นอกจากนี้ ผู้บริโภค Gen M ยังใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ อาหาร Organic อาหาร Paleo (อาหาร ที่ไม่ผ่านหรือผ่านกระบวนการผลิตและแปรรูปน้อยที่สุด) รวมถึงอาหารที่ผ่านการปรุงโดยลดปริมาณน้ำตาล เกลือ และไขมัน มีแนวโน้มได้รับ ความนิยมมากขึ้นด้วย

ยินดีใช้จ่ายเพื่อซื้อตั๋วชมคอนเสิร์ต งานเทศกาลดนตรี หรือตั๋วชมภาพยนตร์ มากกว่าการเก็บออมเงินไว้สำหรับลงทุนใน ทรัพย์สินราคาแพง เพราะผู้บริโภค Gen M เห็นว่าประสบการณ์และความรู้สึกพิเศษที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมบันเทิงดังกล่าวมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าการครอบครองทรัพย์สิน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ตั๋วเข้าชมคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดังในยุคที่ชาว Gen M ยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น แล้วนำกลับมาแสดงอีกครั้งในปัจจุบัน มักมียอดจองหมดอย่างรวดเร็วก่อนเปิดแสดงจริงเป็นเวลานาน

ชอบสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แต่ก็ต้องการเห็นหรือทดลองสินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อ จากผลการศึกษาของ SmarterHQ  (บริษัทที่ปรึกษาด้านการค้าออนไลน์) พบว่า ผู้บริโภค Gen M นิยมสั่งซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะสามารถค้นหาสินค้าเปรียบเทียบคุณสมบัติ ราคา และสั่งซื้อสินค้าหรือบริการที่ต้องการได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์พกพา

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคกลุ่มนี้กลับชอบเดินทางไปเลือกสินค้าในร้านค้าด้วยตนเอง เพราะอยากเห็น สัมผัส และทดลองสินค้าจริงก่อนตัดสินใจ  สั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์

ล่าสุด Bonobos (แบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษ) มีร้าน Guideshop ให้ลูกค้าเข้ามาเลือกขนาดและ ลองสวมใส่ และเมื่อลูกค้าเลือกสินค้าที่ต้องการได้แล้วสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถ เดินออกจากร้านตัวเปล่าและกลับไปรอรับสินค้าที่บ้าน เช่นเดียวกันกับ MM.LaFleur (แบรนด์เสื้อผ้าสุภาพสตรี) ก็มีหน้าร้านให้ลูกค้าได้เลือกชมและทดลองสินค้า ก่อนที่จะตัดสินใจสั่งซื้อทางออนไลน์

เชื่อและรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อน ครอบครัว หรือผู้ที่เคยใช้สินค้าหรือบริการจาก Blog หรือการ Review โดยผู้มีชื่อเสียง เทียบกับข้อมูลที่ได้รับจากการโฆษณาของผู้ผลิตสินค้า เพราะเห็นว่าข้อมูลสินค้าที่ได้รับจากผู้ผลิตสินค้าโดยตรง มักจะไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภค Gen M นิยมค้นหาข้อมูลและคำวิจารณ์สินค้าหรือบริการที่ตนเองสนใจตาม Blog ต่างๆ โดยตัวอย่าง Blog ที่มีชื่อเสียงของโลก อาทิ One Mile At A Time หรือ Normadic Matt ซึ่งเป็น Blog เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวและ Naturally Ella หรือ MinimalistBaker ซึ่งเป็น Blog เกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

 

          ช่องทางโฆษณาสินค้าและบริการที่โดนใจ ผู้บริโภค Gen M เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีสื่อสารที่ล้ำสมัยและคุ้นเคยกับการ

สื่อสารโดยใช้แอพพลิเคชั่นอย่าง LINE Twitter หรือ WhatsApp ดังนั้น การโฆษณาสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นดังกล่าวด้วยข้อความสั้นๆ กระชับ

แต่ได้ใจความสำคัญ รวมถึงอาจใช้สัญลักษณ์แสดงความรู้สึก (Emoji) หรือภาพ แทนการสื่อสารด้วยข้อความเพียงอย่างเดียวจะช่วยให้เข้าถึง

ผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ดียิ่งขึ้น ล่าสุดการโฆษณาสินค้าหรือบริการด้วย Video Content บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะ YouTube Facebook และ Instagram อาทิ การโฆษณาผ่าน TrueView In-Stream Video Ads ใน YouTube ซึ่งมีจุดเด่นสำคัญ

จากการสื่อข้อความ ภาพเคลื่อนไหว เสียง และดนตรีประกอบ ช่วยให้ผู้บริโภค Gen M เข้าถึงสิ่งที่ผู้ผลิตสินค้าและบริการต้องการจะสื่อสารได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น และส่งผลดีต่อยอดจำหน่ายสินค้าและบริการ

             ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงในยุคดิจิทัล ขณะที่ผู้บริโภค Gen M มีศักยภาพสูงที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริโภคกลุ่มสำคัญของโลก ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมตัวให้พร้อม ด้วยการติดตามและศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่ม Gen M ให้ละเอียดลึกซึ้ง และหาทาง รับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ก็คาดว่าจะช่วยให้ธุรกิจของท่านเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก.E-XIM ออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียงและรายงาน


สารคดีเชิงข่าว-เล่าเรื่องระบบไปรษณีย์เมืองลาว

Spread the love

 

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS

สารคดีเชิงข่าว-เล่าเรื่องระบบไปรษณีย์เมืองลาว

 

           เป็นที่ทราบกันดีว่า สปป.ลาว มีข้อจำกัดทางภูมิประเทศ คือ เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่ติดทะเล ทำให้ไม่มีท่าเรือ ส่งผลให้ที่ผ่านมารัฐบาล สปป.ลาว เร่งผลักดันและขับเคลื่อนประเทศด้วย

ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศจาก Land Lock สู่ Land Link เพื่อเปลี่ยนข้อจำกัดทางภูมิประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงประเทศสมาชิก

             ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) คือ จีนตอนใต้ เมียนมา ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เข้าด้วยกัน ซึ่งเริ่มเห็นผลการพัฒนาเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม

ทราบว่านอกจาก Land Lock ที่เป็นข้อจำกัดด้านการขนส่งระหว่างประเทศแล้ว สปป.ลาว ยังมีข้อจำกัดด้านการขนส่งภายในประเทศที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจอย่างน่าสนใจจนต้องนำมาเล่าสู่กันฟัง

                แม้ สปป.ลาว เร่งรัดการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่ระบบไปรษณีย์ในประเทศยังมีข้อจำกัดจากบริการจัดส่งพัสดุและจดหมายถึงมือผู้รับตามแต่ละบ้านยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเมือง ซึ่งมักจัดส่งพัสดุและจดหมายขอทั้งหมู่บ้านมารวมกันไว้ที่ P.O. Box ส่วนกลางที่บ้านของ “นายบ้าน” ซึ่งคล้ายกับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านของไทย จากนั้นนายบ้านจะแจ้งให้ลูกบ้านมารับพัสดุและจดหมายไป สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทีใกล้ชิดกันระหว่างนายบ้านกับลูกบ้าน

อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าว ไม่สามารถอำนวยความสะดวกในการจัดส่งพัสดุและจดหมายทางไปรษณีย์ให้แก่ผู้รับได้โดยตรง นอกจากนี้ ระบบบ้านเลขที่ใน สปป.ลาว            ยังไม่สมบูรณ์นัก โดยในบางพื้นที่ชนบทห่างไกลไม่มีบ้านเลขที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งพัสดุและจดหมายด้วยเช่นกัน โดยที่ผ่านมา ชาวลาวมักว่าจ้างรถจักรยานยนต์ในท้องถิ่นให้ไปรับของให้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันที่โลกการค้าออนไลน์ใน สปป.ลาว เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นตามกระแสดิจิทัล  จึงเป็นช่องว่างที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจบริการขนส่งแบบถึงมือผู้รับ (Door to Door Service) เข้ามามีบทบาทเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ การที่ผู้ขายสินค้าหลายรายเริ่มทำกลยุทธ์การตลาดด้วยการขายสินค้าพร้อมพ่วงการให้บริการส่งสินค้าถึงมือผู้รับเพื่อเป็นจุดขายแก่ลูกค้ารุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายล้วนมีส่วนช่วยให้ธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตและเป็นโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทย อาทิ ผู้ประกอบการขนส่งอาจขยายขอบเขตการให้บริการครอบคลุมไปจนถึงการขนส่งสินค้าถึงมือผู้รับ ขณะที่ผู้ส่งออกไทยก็ควรคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของชาวลาวที่เริ่มให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการรับสินค้า จึงอาจทำโปรโมชันพ่วงการให้บริการขนส่งถึงมือผู้รับเพื่อสร้างความประทับใจและกระตุ้นยอดขาย

ในส่วนของการพัฒนาระบบขนส่งระหว่างประเทศ ปัจจุบันรัฐบาล สปป.ลาว กำลังตั้งเป้าต่อยอดการพัฒนาไปสู่การเป็น Logistics Hub หรือศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน โดยมีโครงการพัฒนาการขนส่งทางบกผ่านเส้นทางรถไฟ 4 สายสำคัญ  คือ โครงการรถไฟ สปป.ลาว-จีน ที่กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งเชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์สู่ตลาดจีน ผ่านเมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน และอีก 2 สายจะเชื่อมไปยังท่าเรือ Vung Ang และ Dong Ha ในเวียดนามเพื่อเป็นเส้นทางขนส่งจาก สปป.ลาว ออกสู่ทะเล โดยเมื่อ เดือนเมษายน 2560 รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาล สปป.ลาว ลงนาม MOU ในการบริหารท่าเรือ Vung Ang ภายใต้ Vietnam-Laos Vung  Ang Port Joint Stock Company (VLP) นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศ Land Lock ดังเช่น สปป.ลาว มีส่วนในการเป็นเจ้าของท่าเรือ ของตนเอง สำหรับเส้นทางรถไฟสายที่ 4 คือ เส้นทางช่องเม็ก-ปากเซ-สะหวันนะเขต-ลาวบาว เพื่อเชื่อมพื้นที่ สปป.ลาว ตอนใต้และ ตอนกลางเข้าด้วยกัน

       จะเห็นได้ว่าแม้ สปป.ลาว มีข้อจำกัดทั้งด้านการขนส่งในประเทศและการขนส่งระหว่างประเทศ แต่การพัฒนา

โครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์ของชาวเมืองยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้นและกระแสดิจิทัลในปัจจุบัน ล้วนเป็นปัจจัยที่มีส่วนในการพลิกข้อจำกัดของ สปป.ลาว สู่โอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ ของผู้ประกอบการไทย ทั้งโอกาสพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจบริการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจขนส่งในประเทศ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก.E-XIM ออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียงและรายงาน