วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

รมว.กระทรวงทรัพย์จัดประชุมใหญ่ ผวช.17 จังหวัด

Spread the love

รมว.กระทรวงทรัพย์จัดประชุมใหญ่ ผวช.17 จังหวัด

 

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 17 มิ.ย.2556 ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายปรีชา  เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายสิทธิชัย กิตติธเนศวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางเป็นประธานในการเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางและขั้นตอนการดำเนินโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูต้นน้ำ และโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษามหาราชินี  เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2555 โดยมีนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือทั้งสิ้น 16 จังหวัด และหัวหน้า ผู้แทน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมเป็นจำนวนมาก

โดยการจัดประชุมโครงการดังกล่าวครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ชี้แจงรวมถึงรับฟังแนวทางและขั้นตอนดำเนินโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรษามหาราชินีฯ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 12 สิงหาคม 2555 ซึ่งการประชุมในวันนี้สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 ได้เห็นชอบแผนแม่บทการฟื้นฟูและการอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ (24ลุ่มน้ำ) ภายใต้ยุทธศาสตร์ เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (เงินกู้ 350,000ล้านบาท) และอนุมัติแผนปฏิบัติโครงการปลูกป่าและฟื้นฟูต้นน้ำและโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้าฯ ระยะที่ 2 ปี 2556 รวมทั้งอนุมัติวงเงินสำหรับดำเนินโครงการในปี พ.ศ 2556 จำนวน 2,805.3361 ล้านบาท

สำหรับการประชุมชี้แจงได้กำหนดไว้จำนวน  3 ครั้งใน 3 ภูมิภาคได้แก่ 1)     การประชุม ครั้งที่ 1 สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง (จังหวัดที่ไม่ติดทะเล) ในวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เวลา 09.00 น. – 12.00 น. ณ ห้องประชุมทองใหญ่ ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภายในกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัด จำนวน 35 จังหวัด

การประชุม ครั้งที่ 2 สำหรับพื้นที่ภาคใต้และภาคกลาง (จังหวัดที่ติดทะเล) ในวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2556 ณ ห้องประชุมเมืองคนดี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานภายในกระทรวงหมาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดจำนวน 24 จังหวัด

การประชุมครั้งที่ 3 สำหรับพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ ในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2556 เวลา 09.00 น.-12.00 น. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยเชิญผู่ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภายในกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดจำนวน 17 จังหวัด

ทั้งนี้ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การจัดประชุมในวันนี้เป็นการประชุมที่ได้รับมอบหมายจากทางนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือและมอบนโยบายให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 17 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ที่เข้าร่วมโครงการประชาอาสาปลูกป่า 800 ล้านกล้า 80 พรรณษามหาราชินีฯ ซึ่ง จะมีการจัดสรรงบประมาณที่ใช้ในการปลูกป่าเป็นปีแรกที่จะปลูก โดยในโครงการดังกล่าวนี้จะได้มีการมอบเงินให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัด และจะได้มีการดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการในการหาพิกัดในการปลูก รวมถึงการเฝ้าระวังและการดูแล มีเงินงบประมาณในการเตรียมแปลง งบประมาณในการปลูก งบประมาณในการดูแลรักษา โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นจะมีหน้าที่ในการรับผิดชอบร่วมกับทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ รวมถึงการตรวจสอบพิกัดที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะต้องลงไปสำรวจพิกัดด้วยเพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกต้นกล้าตามโครงการด้วย

ขณะเดียวกันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ นั้นก็ได้มีการกำชับและมอบนโยบายที่ชัดเจนแล้วในวันนี้ และทางผู้ว่าราชการจังหวัดก็พร้อมที่จะร่วมมือในการจัดทำโครงการดังกล่าวตรงนี้ อีกทั้งยังได้มีการเน้นในเรื่องของการปลูกที่จะใช้ระยะเวลาต่อเนื่องถึง 5 ปี คลอบคลุมไปทุกภูมิภาคที่มีการเตรียมความพร้อมในพื้นที่ ซึ่งโครงการที่ได้ดำเนินการในปีนี้ก็จะต่อเนื่องไปทั่วประเทศ โดยมีการสำรวจพื้นที่ที่เป็นเขตอนุรักษ์ที่เป็นป่าต้นน้ำ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่มีสภาพเสื่อมโทรมและไม่มีผู้คนเข้าไปอยู่อาศัย ก็จะมีการเข้าไปคืนสภาพผืนป่าให้เกิดความสมบูรณ์ดังเดิม เพราะจากอดีตที่ผ่านมาเมื่อเกิดฝนตกในพื้นที่ก็ไม่มีต้นไม้ที่ช่วยดูดซับน้ำเนื่องจากป่าถูกทำลาย และจากสถิติเดิมๆ ที่่ผ่านมาพบว่ามีพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายไปกว่า 70% ของพื้นที่ป่าทั้งหมด อีกด้วย

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ