วันพุธ, 15 พฤษภาคม 2567

ย้อนตำนาน “104 ปี คุกกลางเมือง”ให้เป็น “ข่วงหลวงล้านนา”

Spread the love

ย้อนตำนาน “104 ปี คุกกลางเมือง”ให้เป็น “ข่วงหลวงล้านนา”

ย้อนตำนาน “104 ปี คุกกลางเมือง”ให้เป็น “ข่วงหลวงล้านนา”

จากที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้ย้ายทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองเชียงใหม่ไปยังที่แห่งใหม่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2552 และให้ปรับปรุงพื้นที่เดิมเป็นสวนสาธารณะ เนื่องจากสถานที่เดิมไม่สามารถรองรับผู้ต้องขังที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นได้ โดยเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้การดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เดิมเป็นสวนสาธารณะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันทัณฑสถานหญิงแห่งใหม่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโดยคืบหน้าไปกว่าครึ่ง

 

ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวนั้นอยู่ในบริเวณเดียวกับหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ หอศิลป์ล้านนา และหอประวัติศาสตร์เมืองซึ่งมีพื้นที่เชื่อมโยงถึงกันหมด ซึ่งรวมถึงที่ตั้งทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ที่จะมีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะด้วย

 

สำหรับบริเวณที่ตั้งทัณฑสถานหญิงเดิมนี้ถือว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นเขตพระราชฐานของราชวงศ์ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีอายุยืนยาวมากกว่า 700 ปี ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นเรือนจำเมื่อปี พ.ศ.2445 ในช่วงปฏิรูปการปกครองมณฑลเทศาภิบาล ที่มีการผนวกประเทศราชเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลกลาง

 

โดยภายในพื้นที่ดังกล่าวมีการพบบ่อน้ำที่มีอายุกว่า 700 ปี ใกล้เคียงกันมีศาลเจ้าพ่อมือเหล็กที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือตั้งแต่สมัยพญามังราย ซึ่งถือว่าเป็นโบราณสถานที่ล้ำค่าและเหลืออยู่นับตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังราย

 

ภาพที่ชาวจังหวัดเชียงใหม่ ชินตามาแต่ในอดีต คือ เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่เดิม หรือ ทัณฑสถานหญิงในปัจจุบัน ที่ตั้งอยู่หลัง ที่ว่าการอำเภอเมือง ก็คงเหลือไว้เพียงความทรงจำเก่าๆ ที่ชาวจังหวัดเชียงใหม่ ต้องจารึกไว้เพียงแค่เป็นตำนาน เล่าขานให้ลูกหลานฟังต่อไป

 

ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์ สำนักวิชาการ การเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ และ รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนบทความ เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีใจความว่า ทุกวันนี้  ใครๆก็รู้ว่าเชียงใหม่เป็นเมืองเก่าแก่  เป็นเมืองประวัติศาสตร์ และมีศิลปวัฒนธรรมอันเป็นลักษณะเฉพาะ เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆในล้านนา ที่มีศิลปวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัว

เมื่อพระญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 1839  และกำหนดให้เมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางอำนาจของรัฐล้านนา  บริเวณคุ้มหลวงหรือที่สยามประเทศเรียกว่าพระราชวังนั้น  ตั้งอยู่ที่ปัจจุบันคือคุกกลางเมืองเชียงใหม่  ตั้งอยู่หลังที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่

คนที่เคยเดินในบริเวณกลางเมืองเชียงใหม่แถวหน้าอนุสาวรีย์3 กษัตริย์บนถนนพระปกเกล้า หันไปทางทิศเหนือคือประตูช้างเผือก จะพบว่า มีสถานที่สำคัญอันเป็นประวัติศาสตร์ 3 แห่งคือ ซ้ายมือคือพระราชวังของกษัตริย์แห่งล้านนา (ปัจจุบันคือคุกหรือทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่) บนถนนพระปกเกล้าฝั่งตะวันตก (ปัจจุบันอยู่เยื้องอาคารบริษัทการบินไทย) คือวัดหัวข่วง หรือวัดแสนเมืองมา และด้านขวาคือวัดเชียงหมั้น (อยู่หลังอาคารการบินไทย)

วัดเชียงหมั้นเป็นวัดแรกของเมืองเชียงใหม่ พระญามังรายเป็นผู้สร้างวัดนี้หลังจากที่เมืองนี้ก่อกำแพงอิฐทั้ง 4 ด้านเสร็จแล้ว    จากนั้นพระญามังรายได้สร้างคุ้มหลวง หรือพระราชวังของพระองค์  ส่วนวัดหัวข่วงสร้างภายหลัง   แต่ก็น่าเชื่อว่าเป็นวัดที่เก่าแก่เพราะคติความเชื่อของผู้คนในล้านนา-เชียงตุง-สิบสองปันนา คือ  เมืองที่เจ้าผู้ครองประทับอยู่  จะมีข่วงหลวงหรือลานกว้างสาธารณะไม่ไกลจากพระราชวัง และตอนเหนือของข่วงจะมีวัดสำคัญคือวัดหัวข่วง  หมายถึงอยู่บริเวณส่วนหัวของข่วง  เป็นวัดที่ใช้ประกอบพิธีสำคัญ

ข่วงหลวง หรือสนามใหญ่แผ่เป็นบริเวณกว้างจากหน้าวัดหัวข่วงลงไปทางทิศใต้จนถึงวัดสะดือเมืองหรือวัดอินทขีล และวัดดวงดี  ไม่ต่างจากท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯในปัจจุบัน ทิศตะวันออกครอบคลุมพื้นที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและวัดบ้านปิง ทางทิศตะวันตกก็คงแผ่ไปจนถึงที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน เชียงใหม่มีอายุครบรอบ 715  ปีในปีนี้  เคยเป็นเมืองหลวงของรัฐที่เป็นอิสระ 262ปี (พ.ศ. 1839-2101) ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า 216 ปี (พ.ศ. 2101-2317) และตกเป็นเมืองขึ้นของธนบุรี-รัตน โกสินทร์ รวม 125ปี (พ.ศ. 2317-2442) ต่อจากนั้น  ในปี พ.ศ. 2442  ฐานะประเทศราชของล้านนาก็สิ้นสุดลง ล้านนาได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยาม  (ตอนแรกเรียกว่ามณฑลลาวเฉียง  ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลพายัพ)

แต่แม้จะได้ผ่านมาแล้วหลายยุค  คุ้มหลวงหรือพระราชวังของกษัตริย์แห่งล้านนาก็ยังคงอยู่ที่เดิม  จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5นี่เอง ที่เจ้าอินทวิชยานนท์-เจ้าหลวงเชียงใหม่สร้างคุ้มหลวงขึ้นที่ปัจจุบันคือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย คุ้มหลวงเดิมที่เคยรับใช้กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายและราชวงศ์กาวิละ (กระทั่งผู้ปกครองจากพม่า) ได้ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นลำดับ   มีการสร้างศาลาที่ว่าการมณฑลพายัพ (ปัจจุบันคือศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ อดีตคือศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่)  ศาลแขวง  บ้านพักอัยการ บ้านพักผู้พิพากษาในบริเวณรอบๆ อนุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ (สร้างปี พ.ศ. 2525)   สร้างเรือนจำกลางเชียงใหม่บนพื้นที่คุ้มหลวงที่รื้อออกไป  และสร้างที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่  มีการสร้างถนนจากประตูช้างเผือกตัดตรงไปจนถึงประตูเชียงใหม่เรียกว่าถนนพระปกเกล้า เมื่ออำนาจของกษัตริย์แห่งล้านนาสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 5 ข้าราชการของมณฑลพายัพก็ทะยอยเข้ามาสร้างสำนักงานและที่พักในบริเวณ  เช่นเดียวกับพี่น้องชาวจีนที่อพยพตามมาเพื่อหาโอกาสใหม่ๆในการเลี้ยงชีพ    ข่วงหลวงจึงหายไปทั้งหมด

มีคำถามว่าเหตุใดจึงเจาะจงสร้างคุกบนพื้นที่คุ้มหลวง เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นอุบัติเหตุเพราะที่ลำพูนและลำปาง คุกก็ตั้งอยู่บนพื้นที่คุ้มหลวงเช่นกัน  ดังนั้น คำตอบจึงน่าจะเป็นการสร้างตามพิธีไสยศาสตร์  แบบครอบงำเมือง และกำหนดให้ผู้ปกครองเมืองเป็นนักโทษตลอดไป

ในปี พ.ศ. 2544-45  ประชาชนชาวเชียงใหม่ได้รวมตัวกันเสนอรัฐบาล พ.ต.ท.ดร. ทักษิณ ชินวัตร ให้ย้ายคุกออกไปและสร้างข่วงหลวงขึ้นแทนเพื่อให้เป็นปอดของเมือง  ให้เป็นสวน สาธารณะขนาดใหญ่กลางเมือง (พื้นที่ราว 22 ไร่) สำหรับผู้อยู่และผู้มาเยือน  รัฐบาลในขณะนั้นรับหลักการและมีมติให้ย้ายคุกออกไปที่อำเภอแม่แตง  ปรากฏว่ากรมราชทัณฑ์ได้ย้ายนักโทษชายออกไปที่คุกแห่งใหม่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่แห่งใหม่ และเก็บนักโทษหญิงไว้กลายเป็นทัณฑสถานหญิงเรื่อยมา   บัดนี้เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี  ผู้บริหารทัณฑสถานหญิงยังคงอ้างว่ากรมราชทัณฑ์ขาดงบประมาณ  คุกที่อำเภอแม่แตงยังสร้างไม่เสร็จ

ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีการสอบถามความเห็นของคนเชียงใหม่อีกครั้ง ความเห็นยังเป็นดังเดิมคือให้ย้ายทัณฑสถานหญิงออกไป  สร้างข่วงหลวงขึ้นแทนเพื่อให้เกิดบริเวณกว้างกลางเมืองสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายๆทาง   มีเพียงความเห็นส่วนน้อยที่ว่าคุกแห่งนี้มีอายุราว 104 ปีสมควรเก็บไว้เป็นโบราณสถานบางส่วน หรือเก็บไว้ทั้งหมด กระทั่งบางคนเห็นว่าควรเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา  เกิดความเกรงกลัวต่อการทำผิดติดคุก  กระทั่งให้เก็บคุกใต้ดินเป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยวบางคนที่ชอบผจญภัย

ในเรื่องนี้  ความเห็นส่วนใหญ่เห็นว่าสิ่งเก่าอายุ 100 กว่าปี อาจจะเก่าก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเก่าทุกอย่างต้องมีค่า  บริเวณที่สร้างคุ้มหลวงย่อมเป็นชัยภูมิที่ดีที่สุดที่ผู้นำในแต่ละยุคได้เลือกไว้  เป็นที่ตั้งของศูนย์อำนาจ  กระทั่งเป็นศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวเมือง คนเชียงใหม่ย่อมยากที่จะทำใจยอมรับคุกอันเป็นสถานที่อโคจรให้อยู่ตรงนั้น  หรือจะเก็บของเก่าประเภทนั้นไว้ เพื่อเก็บรักษาความขมขื่นเจ็บช้ำกับเรื่องราวอดีตให้ดำรงต่อไปอีกหรือ

บัดนี้  ความเห็นที่รวบรวมได้นั้นได้นำเสนอให้นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นเวลาราว2 ปีแล้ว ปรากฏว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ  ข่าวที่ว่ากรมราชทัณฑ์มีงบประมาณไม่เพียงพอ จึงยังสร้างคุกที่อำเภอแม่แตงไม่เสร็จก็ไม่มีหน่วยงานใดของจังหวัดยืนยันและใส่ใจดูแลเรื่องนี้

ในโอกาสที่ประชาชนไทยได้รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  นายกรัฐมนตรีที่เป็นคนเชียงใหม่   บัดนี้ ได้เวลาที่คนเชียงใหม่จะต้องรวมพลังกันอีกครั้งทำความฝันนี้ให้เป็นความจริง ย้ายคุกกลางเมืองเชียงใหม่ออกไป    สร้างข่วงหลวงขึ้นแทนที่เพื่อสร้างปอดใหม่ให้เมือง

ธนวรรธน์  จรณชัยวัจน์ รายงาน

สำนักข่าว

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงา