วันเสาร์, 18 พฤษภาคม 2567

พิธีเปิด ที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่

Spread the love

พิธีเปิด

ที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา  จังหวัดเชียงใหม่

24  เมษายน 2557

 

กัลยาณิวัฒนาสูงสง่า   ป่าสนพันปี วัฒนธรรมประเพณีชนเผ่า พระธาตุเก่าล้ำค่า  หกธาราแหล่งต้นน้ำ งามเลิศล้ำอำเภอในฝัน

วิสัยทัศน์ “เป็นอำเภอต้นแบบในการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต และการบริหารจัดการอย่างสมดุลเพื่อความยั่งยืน

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ “พระโสทรเชษฐภคินีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ”คำว่า “พระโสทรเชษฐภคินี” มีความหมายว่า “พี่สาวร่วมอุทรเดียวกัน” พระโสทรเชษฐภคินีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระองค์เดียว คือ สมเด็จ พระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในราชสกุลมหิดล ทรงเป็นพี่สาวของพระมหากษัตริย์ ๒ รัชกาล คือ รัชกาล ที่ ๘ และรัชกาลปัจจุบันคือรัชกาลที่ ๙

ในฐานะพระโสทรเชษฐภคินีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตัวพระทัยปฏิบัติบำเพ็ญเสริมพระเกียรติยศคุณแห่งสมเด็จพระอนุชาธิราช ด้วยความรัก และเชิดชูพระเกียรติคุณแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ให้สง่างดงามพระกรณีกิจทั้งปวงนั้น โดย เฉพาะด้านการศึกษา การแพทย์ สาธารณสุขและสังคม กล่าวได้ว่าเป็นการแบ่งเบาภาระรัฐบาลในส่วนที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทั่วถึงให้มีการ สมานฉันท์ขับเคลื่อนไปด้วยความเมตตาต่อกันและกัน เพราะพระกรณีกิจนั้นล้วนเป็นคุณอเนกอนันต์ต่อประเทศไทยและชาวไทยอย่างไพศาลดังที่กล่าวขานถึงพระองค์ว่า ทรงประดุจ “แสงแห่งรุ้งงาม”

ประวัติความเป็นมา

จังหวัดเชียงใหม่ได้ขอจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ

ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูงในทุกเรื่อง และทรงเลือกให้อำเภอแม่แจ่มเป็นต้นแบบทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสบนพื้นที่สูง ให้มีโอกาสทางการศึกษาอีกทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ทรงมีรับสั่งเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรพื้นที่อำเภอแม่แจ่มเนื่องจากเป็นท้องที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร ราษฎรมีปัญหาในด้านคุณภาพชีวิต การปกครอง และปัญหายาเสพติด

โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหากมีการแบ่งแยกเขตการปกครองของอำเภอแม่แจ่ม โดยเอาพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์    ตำบลแม่แดด  และตำบลแจ่มหลวง ไปร่วมกันจัดตั้งเป็นอำเภอ   ก็จะสามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรได้อย่างเป็นรูปธรรม 

จึงได้มีการริเริ่มขอแยกตั้งกิ่งอำเภอวัดจันทร์ ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ จนกระทั่งวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จังหวัดเชียงใหม่ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้การสนับสนุนการจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์เป็นกรณีพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในท้องที่ตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่แดด และตำบลแจ่มหลวง พร้อมทั้งมีหนังสือถึง อธิบดีกรมการปกครอง ได้โปรดพิจารณาทบทวนการจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์ อีกครั้งหนึ่งเป็นกรณีพิเศษ

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ คณะกรรมาธิการปกครองสภาผู้แทนราษฎรได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาการจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติและได้เชิญผู้แทนของจังหวัดเชียงใหม่่ไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักการและเหตุผล   ขั้นตอน   วิธีดำเนินการ  ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ อาคารรัฐสภาที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์   เคยเสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราช-กรณียกิจ ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม   จึงเห็นสมควรจัดตั้งอำเภอวัดจันทร์เป็นกรณีพิเศษ  เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์   ดังเช่นที่กระทรวงมหาดไทยเคยจัดตั้งอำเภอเพื่อเทิดพระเกียรติพระบรมวงศานุวงศ์ที่ผ่านมา

วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกา ตั้งอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๕๒ และได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๙๗  ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นไป  โดยให้แยกตำบลแจ่มหลวง ตำบลบ้านจันทร์ และตำบล แม่แดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ออกจากอำเภอดังกล่าว และรวมตั้งเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา โดยให้ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตำบลแจ่มหลวง  ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกานี้ คือ เพื่อประโยชน์แก่การปกครอง การให้บริการของรัฐ ความสะดวกของประชาชน และเพื่อส่งเสริมให้ท้องที่มีความเจริญยิ่งขึ้น ตลอดจนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ต่อมาสำนักเลขาสำนักเลขาคณะรัฐมนตรี  นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทาน ชื่อที่เกี่ยวข้องกับพระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตั้งชื่ออำเภอวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออำเภอว่า“อำเภอกัลยาณิวัฒนา” ตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒

 อำเภอกัลยาณิวัฒนา เป็นเขตการปกครองระดับอำเภอลำดับที่ ๒๕ ของจังหวัดเชียงใหม่ และอันดับที่ ๘๗๘ ของประเทศ จัดตั้งเมื่อ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒

ลักษณะที่ตั้ง

ตั้งอยู่ทางทิศติวันตกเฉียงเหนือ ของจังหวัดเชียงใหม่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขาสูงชันล้อมรอบ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ

อาณาเขตติดต่อ

ทิศเหนือ   ติดต่อกับอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทิศตะวันออก    ติดต่อกับอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอขุนยวมและอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าและภูเขาสูงล้อมรอบ ทุรกันดาร ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว โดยเฉพาะฤดูหนาวจะเย็นจัด เหมาะสำหรับการปลูกพืชเมืองหนาว ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย ๑,๒๒๕ มิลลิเมตรต่อปี

ทรัพยากรธรรมชาติ

สภาพดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทราย ทำให้ไม่สามารถรับและอุ้มน้ำได้ดี มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำจนถึงปานกลาง จึงทำให้ไม่สามารถจะเก็บกักน้ำไว้ใช้ เพื่อการอุปโภคบริโภค

มีแหล่งน้ำสำคัญ ๖ สาย ได้แก่ แม่น้ำแม่แจ่ม ลำน้ำแม่ตะละ ห้วยโป่งสะแยงห้วยแม่ละอุป ห้วยขุนแม่รวม ห้วยบะบ้า มีอ่างเก็บน้ำ ๔ แห่ง ได้แก่  อ่างเก็บน้ำห้วยอ้อ และอ่างเก็บน้ำห้วยงู ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลบ้านจันทร์      อ่างเก็บน้ำศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลบ้านจันทร์ และอ่างเก็บน้ำบ้านแจ่มหลวง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖  ตำบลแจ่มหลวง

การปกครองท้องที่

อำเภอกัลยาณิวัฒนา ประกอบด้วย 3 ตำบล คือตำบลบ้านจันทร์ ตำบลแม่แดด และตำบลแจ่มหลวง จำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 22 หมู่บ้าน

ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ

A ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ป่าไม้เป็นรูปแบบอื่นอย่างเด็ดขาดทุกกรณี ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำไม่อนุมัติให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑A อีกไม่ว่ากรณีใด

B ในกรณีที่ต้องมีการก่อสร้างถนนผ่านหรือการทำเหมือนแร่หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องควบคุมการชะล้างพังทลายของดิน และกรณีส่วนราชการใดมีความจำเป็นที่ต้องใช้ที่ดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องจัดทำ EJA เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณา

กำหนดให้ใช้พื้นที่ในกิจกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ แต่ต้องควบคุมวิธีการปฏิบัติในการใช้ที่ดินอย่างเข้มงวดกวดขันและการใช้ที่ดินเพื่อกิจกรรมทางด้านการเกษตรกรรมควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด

กำหนดให้ใช้พื้นที่ในกิจกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ กสิกรรมหรือกิจการอื่นแต่ต้องมีการควบคุมวิธีการปฏิบัติอย่างเข้มงวดให้เป็นไปตามหลักอนุรักษ์ดินและน้ำ

กำหนดให้ใช้พื้นที่ทุกกิจกรรม แต่หากใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมต้องเป็นบริเวณที่มีความลาดชันเกิน ๒๘ เปอร์เซ็นต์ และต้องมีการวางแผนใช้ที่ดินตามมาตรการการอนุรักษ์ดินและน้ำ

มีพื้นที่ป่าไม้ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ ๒๕๒,๐๗๗.๘๗ ไร่ พื้นที่โครงการหลวงวัดจันทร์ ๑๕๑,๒๕๙ ไร่

การใช้ประโยชน์ที่ดินปัจจุบัน

ป่าไม้และภูเขา ๓๗๘,๒๔๕ ไร่

การเกษตร ๓๐,๓๙๐ ไร่

พื้นที่ว่างเปล่า  ๔,๖๓๕ ไร่

ที่อยู่อาศัย ๓,๓๒๗ ไร่

ประชากร 

       อำเภอกัลยาณิวัฒนามีประชากรทั้งสิ้น จำนวนคน แยกเป็น ชาย         คน   หญิง        คน   ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง ลีซอ และม้ง  ร้อยละ 50 นับถือศาสนาคริสต์และอีกร้อยละ 50 นับถือศาสนาพุทธ

แหล่งท่องเที่ยว

พื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากราษฎรยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของ ชนเผ่าไว้ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งในพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของโครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ๘ แห่ง ได้แก่

๑) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์

๒) สวนป่าหลวงวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้วัดจันทร์

๓) น้ำตกโป่งสะแยง

๔) ดอยโป่งกา

๕) สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านเสาแดง

๖)  อุโบสถเก่าแก่วัดจันทร์(โบสถ์แว่นตา)

๗) อ่างอนุรักษ์พันธุ์ปลาห้วยฮ่าง

๘) หมู่บ้านแม่ตะละม้ง ต.แม่แดด (กลุ่มหัตถกรรมตีมีด)

กรอบแนวคิดในการวางผังและการพัฒนา

เศรษฐกิจพอเพียง

“เศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า Safficiency Ecomomy คำว่า Sufficiency Ecnonmy นี้ไม่มีในดำรงเศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่ Suffciency นั้น ไม่มีในดำรง เพราะหมายความว่าเรามีความคิดใหม่ และโดยที่ท่านผู้เชียวชาญสนใจ ก็หมายความว่า เราก็สามารถที่จะไปปรับปรุง หรือไปใช้หลักการเพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศและของโลกพัฒนาดีขึ้น”

บ้านเล็กในป่าใหญ่

       “…ข้าพเจ้ามีความภาคภูมิในในทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่าของไทยมากข้าพเจ้าเห็นว่าเราควรจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้อย่างระมัดระวังและทำนุบำรุงให้คงอยู่ตลอดไปมิใช่ให้ประวัติศาสตร์จาริไว้ว่าทรัยพากรเหล่านั้นถูกทำลายหมดสิ้นไปในระยะเวลาอันสั้นแค่ช่วงอายุของเรา และเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ สมควรที่เราทั้งหลายจะช่วยรักษาให้คงเป็นประโยชน์สืบไปชั่วลูกหลาน…” (พระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ)

แนวทางการพัฒนา

ภายใต้วิสัยทัศน์การวางผัง “อำเภอเล็กในป่าใหญ่ ดำรงรักษาวิถีชนเผ่า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว เชิงนิเวศและการเกษตรที่สูง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

       อำเภอเล็กในป่าใหญ่ มีสาธารณูปโภค สาธารณูปการขั้นพื้นฐานรองรับ รักษาสภาพแวดล้อมผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์

ดำรงรักษาวิถีชนเผ่า รักษาเอกลักษณ์รูปแบบการตั้งถิ่นฐานและอาคารบ้านเรือนแต่ละชนเผ่า

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการเกษตรที่สูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและภาครัฐภายใต้แนวทางสหกรณ์รองรับการท่องเทียวด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ประหยัดและสะอาด

เกณฑ์การพิจารณาเพื่อกำหนดเขตชุมชน

• ชั้นคุณภาพกลุ่มน้ำ–ป่าเศรษฐกิจ ป่าเพื่อการเกษตร

• สภาพภูมิประเทศ–เป็นที่ราบความลาดชันต่ำกว่า ๓๕ องศา

• จำนวนและความหนาแน่นของประชากรที่ได้สัดส่วนกับสาธารณูปโภค

• เส้นทางคมนาคม–มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ภายในและภายนอกชุมชนได้สะดวก

• เป็นที่ตั้งของสาธารณูปการระดับพื้นฐาน

• มีบทบาทสำคัญในเชิงเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

เป้าหมายการพัฒนา

เป็นชุมชนน่าอยู่อย่างพอเพียง สืบสารวิถีชีวิตขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างยั่งยืน

• รักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

• ชุมชนได้รับบริการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการอย่างทั่วถึง

• ชุมชนเป็นผู้กำหนดคุณภาพชีวิตของชุมชนเองผู้มาเยือนต้องปรับตัวเองให้สอดคล้องกับลักษณะและวิถีของชุมชน

วิธีการดำเนินงาน

๑. การจัดทำแผนผังเพื่อการพัฒนาพื้นที่

๒. การจัดทำรายละเอียดโครงการพัฒนาทางกายภาพ

• ออกแบบบริเวณพื้นที่เฉพาะที่มีประเด็น

• จัดทำข้อเสนอแนะด้านสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อให้ชุมชนใช้เป็นคู่มือการพัฒนาพื้นที่

• ออกแบบรายละเอียดด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และจัดภูมิทัศน์

• ออกแบบระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ และศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น

 

ที่ตั้งศูนย์ราชการ

บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ ๒ ตำแจ่มหลวง

พื้นที่

๘๒ ไร่ ๒ งาน ๓๙ ตารางวา

ความกว้าง

ประมาณ ๖๐๐ เมตร

ความลึก

ประมาณ ๓๐๐ เมตร

แนวความคิดการวางผังศูนย์ราชการ

       • เคารพภูมิประเทศตามธรรมชาติดั้งเดิมของพื้นที่ ส่งเสริมภูมิสัณฐาน เนินเขา ภูเขาตัดถนนไล่ตามระดับเนินเขาตัดถนนไล่ตามระดับเนินเขา

• ประหยัดพลังงาน อาคารด้านสกัด วางแนวตะวันออกตะวันตก

• ความสง่างาม อาคาร ที่ว่าการและเสาธงอยู่บนเนิน เปิดมุมกว้างเห็นแนวทิวเขาสนามหญ้าและพื้นที่สีเขียวด้านหน้าเน้นความโดดเด่นของตัวอาคาร

๓. การสร้างกระบวนการงานการพัฒนาพื้นที่

               • การจัดทำแผนงาน โครงการ พัฒนา

• การบูรณาการกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakolders) ทุกระดับ

           การเสด็จฯ เพื่อทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและทรงงานในพื้นที่  อำเภอกัลยาณิวัฒนาเมื่อครั้งยังไม่ได้แยกจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและพระบรมวงศานุวงศ์

1.วันเสาร์ที่ 17 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2522

เวลา 10.40 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง จากลานเฮลิคอปเตอร์ ภูพิงคราชนิเวศน์ ไปยังบ้านจันทร์และบ้านหนองเจ็ดหน่วย อำเภอแจ่ม  จังหวัดเชียงใหม่

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงบ้านจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม เสร็จเข้าอาศรม พระธรรมจาริกบ้านจันทร์ ทรงถวายยารักษาโรค และทรงถวายปัจจัยสำหรับใช้บำรุงบูรณะสำนักสงฆ์ ต่อจากนั้น        ทรงพระดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง  ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เป็นจำนวนมาก และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้แพทย์ที่ตามเสด็จพระราชดำเนินทำการตรวจรักษาและแจกจ่ายยาแก่ราษฎรที่ป่วยเจ็บ สมควรแก่เวลา จึงทรงพระดำเนินเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ไปยังบ้านหนองเจ็ดหน่วย ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม ได้ทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์หลวงและทันตแพทย์อาสาสมัคร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เดินทางล่วงหน้า มาตั้งหน่วยทำการตรวจรักษาราษฏร ณ อาคารเรียนของโรงเรียนสหมิตรวิทยา จากนั้นประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ ริมฝั่งห้วย เป็นเวลาอันสมควร จึงทรงพระดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรชาวเข่าเผ่ากะเหรี่ยงซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เป็นจำนวนมาก ในโอกาสนี้ ได้ประทับทอดพระเนตรการแสดงการร้องเพลงประสานเสียงของราษฎรและนักเรียน เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จ-พระเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรที่ตั้งหมู่บ้าน และบริเวณพื้นที่นาของหมู่บ้าน ในการนี้ ได้มีกระแสพระราชดำรัสกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน กล่าวคือต้นน้ำแม่แจ่มในการพิจารณาจัดทำโครงการสร้างฝายกักน้ำ และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อจัดหาน้ำส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกบริเวณดังกล่าวซึ่งมีลักษณะค่อนข้างแห้งแล้ง ให้สามารถปลูกข้าวตลอดจนพืชหมุนเวียนอื่นๆ ให้พอเพียงสำหรับบริโภคได้ตลอดปี ทั้งนี้เนื่องจากหมู่บ้านแถบนี้ไม่มีเส้นทางคมนาคมที่จะติดต่อกับชุมชนอื่นๆได้ เสร็จแล้ว จึงประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับถึงภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อเวลา 18.30 น.

2.วันจันทร์ที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2523

       เวลา 11.25 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ จากลานเฮลิคอปเตอร์  ภูพิงคราชนิเวศน์ ไปทรงเยี่ยมราษฎรณ บ้านจันทร์ และโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำ หน่วยที่ 7 แม่จอนหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงบ้านจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ณ ที่นั่น พลโท สีมา ปาณิกบุตร แม่ทัพกองทัพภาคที่ 3 และนายอนันต์ สงวนนาม เลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบท เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยกับโครงการร่วมมือกันสร้างถนนระหว่างบ้านดงสามหมื่น-บ้านจันทร์ เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร เพื่อให้เป็นเส้นทางคมนาคมของราษฎรบ้านจันทร์ และหมู่บ้านใกล้เคียง สำหรับติดต่อกับชุมชนอื่นๆ ที่เจริญกว่า แทนการเดินเท้าและใช้สัตว์ต่าง ซึ่งได้ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน  ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังอาศรมพระธรรมจาริกบ้านจันทร์ ในความอุปถัมภ์ของกองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ และเสด็จขึ้นศาลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายผ้าห่ม ยารักษาโรค และปัจจัยแก่ภิกษุ ตลอดจนมีพระราชดำรัสกับพระภิกษุ เป็นเวลาอันสมควร จึงทรงพระดำเนินไปยังศูนย์ช่วยเหลือประชาชนบ้านจันทร์ ในพระบรมราชินูถัมภ์ เพื่อพระราชทานสิ่งของและอุปกรณ์การเรียนแก่ผู้แทนคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนบ้านจันทร์ ตลอดจนโรงเรียนอื่นๆ ในเขตพื้นที่ตำบลบ้านจันทร์ ในการนี้ ได้เสด็จเข้าทอดพระเนตรภายในศูนย์ฯ ซึ่งจัดเป็นลักษณะศาลารวมใจ กล่าวคือ เป็นทั้งห้องสมุดประจำหมู่บ้าน ห้องปฐมพยาบาล นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการเพื่อให้ความรู้เบื้องต้นแก่ราษฎร เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพอนามัยและการวางแผนครอบครัว  ตลอดจนความรู้รอบตัวที่เป็นประโยชน์ด้วย เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรธนาคารข้าวในพระบรมราชินูปถัมภ์ ขนาดความจุ 20 เกวียน ซึ่งปรากฎว่าคณะกรรมการได้ควบคุมกิจการให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ทุกประการ โดยราษฎรที่ขอยืมข้าวไปบริโภคในยามขัดสน ได้นำข้าวมาคืนครบตามจำนวนในสัญญาทุกราย แสดงว่าราษฎรเข้าใจในหลักการ และตระหนักถึงประโยชน์ของธนาคารข้าวเป็นอย่างดี ในโอกาสนี้ได้ทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าม้ง ที่เฝ้าทูลละอองพระบาทอยู่ ณ บริเวณนั้น ตลอดจนทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์พระราชทาน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เดินทางล่วงหน้ามาทำการตรวจรักษาและแจกจ่ายยาแก่ราษฎรที่เจ็บป่วย จากนั้น ทรงพระดำเนินผ่านป่าสนเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ไปทอดพระเนตรฝายทดน้ำตามพระราชดำริ ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างปิดกั้นห้วยแม่แจ่ม เป็นลักษณะฝายคอกหมูหินทิ้ง โดยใช้แรงงานช้าง เนื่องจากไม่มีเส้นทางขนส่งเครื่องจักรกลเข้าไปทำงานได้ ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้ก็คือ สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกของราษฎรบ้านจันทร์เป็นเนื้อที่ประมาณ 650 ไร่ ได้ตลอดทั้งปี ในการนี้ ได้พระราชทาน พระราชดำริกับ นายถนอม เปรมรัศมี  อธิบดีกรมป่าไม้ และนางสะอาด บุญเกิด รองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ให้ร่วมมือกันจัดส่งเจ้าหน้าที่มาสาธิตวิธีการเจาะเก็บยางสนตามหลักวิชาการ โดยให้ต้นสนได้รับอันตรายน้อยที่สุดแก่ราษฎรที่มีอาชีพเจาะเก็บยางสนเป็นอาชีพ  เนื่องจากในปัจจุบันราษฎรยังใช้วิธีใช้ไฟสุมที่โคมต้น อันเป็นอันตรายต่อต้นสนเป็นอย่างมาก เสร็จแล้ว ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน ณ บริเวณฝาย สมควรแก่เวลา จึงทรงพระดำเนินกลับไปประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังโครงการหลวงพัฒนาต้นน้ำ หน่วยที่ 7 แม่จอนหลวง ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

3.วันจันทร์ที่ 8 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2525

เวลา 11.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากลานเฮลิคอปเตอร์ ภูพิงคราชนิเวศน์ ไปทอดพระเนตรโครงการหลวงปางอุ๋ง ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม ตลอดจนทรงเยี่ยมราษฎร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และเสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งต่อไปยังโครงการบ้านวัดจันทร์ ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม เพื่อประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน สมควรแก่เวลา จึงทรงพระดำเนินทอดพระเนตรโรงงานทดลองกลั่นน้ำมันสน ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยอนุรักษ์ป่าสนวัดจันทร์ และสำนักงานเงินทุนหมุนเวียนฯ กรมป่าไม้ เพื่อสนองพระราชดำริในการพัฒนาการใช้ประโยชน์ไม้สนเขาและยางสนธรรมชาติ เพื่อเพิ่มพูนฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของราษฎรบ้านวัดจันทร์ ตลอดจนหมู่บ้านใกล้เคียง ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปเยี่ยมราษฎรชาวเข่าเผ่ากะเหรี่ยงกับสมาชิกโครงการหลวงฯ ที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานถุงของขวัญอุปกรณ์การเรียนและการกีฬา แก่ผู้แทนเจ้าหน้าที่โครงการหลวงฯ ครู และนักเรียน แล้วทอดพระเนตรแผนที่รูปถ่ายทางอากาศแสดงพื้นที่โครงการหลวงวัดจันทร์ และแผนที่การวางแผนใช้ที่ดิน ซึ่งจัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร กรมป่าไม้ โครงการสำรวจลุ่มน้ำทางเหนือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ณ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนตำบลบ้านจันทร์ เพื่อใช้วางแผนพัฒนาการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ดิน และน้ำ ควบคู่กับการพัฒนาการเกษตรกรรมบริเวณแห่งต้นน้ำลำธาร โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมป่าไม้และด้านพืชพรรม ในโอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระดำเนินไปทรงถวายปัจจัยและยารักษาโรคแก่พระภิกษุ ณ วัดจันทร์ สมควรแก่เวลา จึงประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ ถึง ภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อเวลา19.20 น.

วิถีชีวิตชนเผ่าในพื้นที่

วิถีชีวิตชนเผ่าปกาเกอะญอ

ปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยงสกอร์ หรือ กะหร่างเป็นกลุ่มชาวกะเหรี่ยง    ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ตามชายเขาที่ต่ำลุ่มกว่าเผ่าอื่นๆ และมีชื่อเสียงในการทำเกษตรกรรม โดยมีแบบแผนที่ทำกันมาดังนี้

– ทำนา/ทำไร่เพียงฤดูเดียว แล้วพักดินห้าถึงสิบสองปี

– แผ้วถางดินแล้วเผาต้นไม้ใบหญ้าโดยกันมิให้ลุกลามไหม้ป่าโดยรอบอย่างพิถีพิถัน

– รักษาป่าบนดอยเหนือบริเวณที่เพาะปลูกอย่างดีไม่ตัดไม้หรือทำลายกล้าใหม่เลย

– ถอนวัชพืชและไม่ไถนา (ไม่พลิกหน้าดิน) ก่อนเพาะปลูก

ด้วยวิธีการนี้ จึงสามารถรักษาคุณภาพของดินให้อุดมอยู่ได้นาน และเมื่อพักดินก็มักไม่มีปัญหาเรื่องหญ้าคาขึ้นในนา น่าเสียดายที่ปัจจุบันปัญหาเรื่องจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและที่ดินทำกินน้อยลงทำให้ชนปกาเกอะญอหมดโอกาสเปลี่ยนบริเวณเพาะปลูกและพักดินนานๆ จึงไม่ได้ดินที่อุดมเช่นแต่ก่อน

การเข้าไปเป็นสมาชิกใหม่ของหมู่บ้าน ต้องได้รับอนุญาตจากพระและ ผู้เฒ่าผู้แก่ประจำหมู่บ้านที่เรียกว่า “ซีโข่” เสียก่อนแล้วจึงทำพิธีเซ่นไหว้เจ้าที่    ชนปกาเกอะญอสร้างบ้านใต้ถุนสูงแบบต่างๆ พื้นและฝาฟากหลังคามุงจาก หรือ ตองตึง บ้านชนปกาเกอะญอแท้มีห้องเดียว สมาชิกของครอบครัวปูเสื่อนอนกันรอบเตาผิงซึ่งอยู่กลางห้อง อาจมีการกั้นบังตาเป็นสัดส่วนให้ลูกสาวอยู่รวมกันมุมหนึ่งของห้อง

การสร้างบ้านเรือนมีธรรมเนียมอยู่ว่าญาติข้างมารดาจะอยู่รวมกลุ่มกันไม่ควรมีคนอื่นมาสร้างบ้านแทรกกลางบ้านให้ผีบ้านผีเรือนขัดใจ จะต้องไม่สร้างบ้านสามหลังในลักษณะสามเส้า

ข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามจารีตประเพณี

๑.ข้อห้ามระหว่างคนกับธรรมชาติ

ป่าช้าจะเป็นป่าหวงห้ามสำหรับหมู่บ้าน ห้ามการเข้าไปตัดไม้และทำประโยชน์ใดทุกคนต้องเคารพข้อห้ามนี้ เพราะถือเป็นแหล่งพักพิงของเหล่าวิญญาณบรรพบุรุษ สัตว์ป่า ชะนี นกกก และสัตว์ป่าขนาดใหญ่หลายชนิดจะห้ามล่า และเมื่อถึง ฤดูวางไข่ผสมพันธุ์และเลี้ยงลูกอ่อนจะห้ามล่าสัตว์ป่าทุกชนิด แม่น้ำลำธาร บริเวณต้นน้ำลำธาร โดยเฉพาะตาน้ำผุดจะห้ามการตัดไม้ทำลายป่า ปลาที่อยู่ในตาน้ำผุดหรือ  ถ้ำลอดจะห้ามจับ

 ๒. ข้อห้ามระหว่างคนกับชุมชน

 

       • ระบบการทำไร่หมุนเวียนของชนปกาเกอะญอโดยใช้เวลาหมุนเวียนประมาณ ๗-๑๐ ปี ให้ระบบนิเวศที่ถูกทำลายไป พื้นตัวกลับสู่สภาพเดิม

• ระบบการทำสวนของสังคมปกาเกอะญอ

ก.   สวนครัว เป็นสวนที่อยู่ในหมู่บ้าน

ข.  สวนในไร่ปลายนาเป็นสวนที่อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน แต่จะอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำกิน

ค.   สวนในหมู่บ้านร้าง เป็นสวนทีเกิดจากการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นั้นมาก่อน โดยทั่วไปแล้วสวนบ้านร้างนี้ถือเป็นสวนส่วนรวมหรือสวนสาธารณะ ซึ่งทุกคนมีสิทธิในการเก็บผลผลิตได้โดยไม่มีใครแสดงความเป็นเจ้าของ

๓. การทำนา ใครมีนาคือ ได้ว่าบุคคลนั้นมีฐานะที่มั่นคงพอกินพอใช้ และเป็นคนมีหน้ามีตาในชุมชน เป็นนาแบบขั้นบันได จะอยู่ตามที่ราบลุ่มหุบเขา ริมแม่น้ำ ลำธารที่สามารถผันน้ำเข้าไปในพื้นที่นาได้

กฎระเบียบข้อความปฏิบัติและข้อห้ามของชุมชนทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

. การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

ก.ป่าหวงห้าม ลักษณะป่าจะมีต้นไม้ที่ขนาดเท่าๆ กันจำนวนมากและเป็นต้นไม้ที่โตเต็มที่แล้ว มักเป็นป่าต้นน้ำลำธารจะไม่มีใครกล้าเข้าไปทำไร่หรือแม้แต่ตัดต้นไม้

ข.ป่าเขาน้ำล้อม เป็นป่าที่อยู่บนเนินเขาที่ลำห้วยสองสายไหลล้อมรอบและบรรจบกัน มีข้อห้ามว่าห้ามเข้าไปทำประโยชน์และใช้สอยใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งหมู่บ้านจะไม่สามารถทำได้เลย

ค.ป่าที่ราบเขาล้อม ป่าต้นน้ำลำธารก็ดี ป่าที่ราบลุ่ม ลำห้วยที่มีเขาล้อมรอบก็ดีชนปกาเกอะญอถือเป็นเขตป่าหวงห้ามด้วยเช่นกัน

๒. การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ

ก. แม่น้ำลำธาร ทุกสายมีเจ้าของชนปกาเกอะญอ เรียกว่า “นาที” หมายความว่า “วิญญาณ  น้ำ” หรือ “ผีน้ำ” หากผู้ใดอุจจาระ ปัสสาวะลงไปหรือตัดต้นไม้บริเวณต้นน้ำลำธาร “นาที” จะลงโทษผู้นั้น

ข. น้ำบอด คือ ลำห้วยหรือแม่น้ำที่ลอดเข้าถ้ำหรือภูเขาเข้าไปเชื่อกันว่าน้ำลอดนี้มีเจ้าของที่เป็นงูหรือภูตผีก็ได้

ค. ตาน้ำผุด เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำของน้ำตามธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มีขนาดใหญ่  บางแห่งใหญ่จนสามารถลงมาเป็นลำห้วยได้เลยบริเวณรอบๆ จะมีต้นไม้ขึ้นมากมายห้ามผู้ใดมารบกวนและทำลายต้นไม้ในบริเวณนี้

ง. โป่ง เป็นแหล่งธาตุอาหารประเภทเกลือของสัตว์ป่า ห้ามการตัดไม้บริเวณรอบๆ โป่ง

๓. การอนุรักษ์สัตว์ป่า สัตว์ป่าทุกชนิด เชื่อว่ามีเจ้าของคอยติดตามตัวและคอยคุ้มครองดูแล

วิถีชนเผ่าชนเผ่าลีซู (ลีซอ)

ข้อมูลทั่วไป

ลีซูเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดอยู่ในกลุ่มธิเบต-พม่า ของชนชาติโลโล ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชนเผ่าลีซูอยู่บริเวณต้นน้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน อยู่เหนือหุบเขาสาละวินในเขตมณฑลยูนนานตะวันตกเฉียงเหนือและตอนเหนือของรัฐ คะฉิ่น ประเทศพม่า       ชนเผ่าลีซูส่วนใหญ่เชื่อว่าเมื่อ 4,000 ปี ที่ผ่านมา เคยมีอาณาจักร เป็นของตนเอง แต่ต้องเสียดินแดนให้กับจีนและกลายเป็นคนไร้ชาติต่อมาชนเผ่าลีซู  จึงได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่รัฐฉานตอนใต้กระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาในเมืองต่างๆ เช่น เมืองเชียงตุง บางส่วนอพยพไปอยู่เขตเมืองซือเหมา สิบสองปันนา ประเทศจีน หลังจากนั้นได้อพยพลงมา ทางใต้เนื่องจากเกิดการ สู้รบกันระหว่างชนเผ่าอื่น นับเวลาหลายศตวรรษ ชนเผ่าลีซูได้ถอยร่นเรื่อยลงมา จนในที่สุดก็แตกกระจายกัน เข้าสู่ประเทศพม่า จีน อินเดีย แล้วเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2464 

ภาษา

ลีซอ อยู่กลุ่มเดียวกับ มูเซอ และอาข่า เรียกว่าโลโล กลุ่มโลโลมีความสัมพันธ์กับภาษาพม่ามีภาษาพูดในกลุ่มหยี (โลโล) ตระกูลธิเบต-พม่า 30% เป็นภาษาจีนฮ่อ ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง แต่สำหรับ ลีซูอที่นับถือเป็นคริสเตียน ได้ใช้อักษรโรมันมาดัดแปลงเป็นภาษาเขียนของชนเผ่า มีลักษณะการสืบทอดต่อๆ กันมาการใช้ภาษาลีซูนั้นการสื่อสารและการพูดมากกว่า สำเนียงคำพูดของลีซูนั้น เสียงสั้นและสูง หรือบางคำก็ยาว พูดกับเด็กเล็กที่กำลังฝึกพูด จะใช้ภาษาพูดอีกแบบหนึ่ง เช่น ด่าด๋า คือ การยืน ส่วนใหญ่เป็นภาษาที่เด็กสามารถพูดหรือ เอ่ยขึ้นมาเองตามธรรมชาติของเด็ก โดยไม่จำเป็นต้องสอนให้เด็กพูด ชนเผ่าลีซูมีความเชื่อกันว่า การร้องไห้และการหัวเราะของเด็กนั้น เหมือนกับเป็นวาจาที่เด็กพูดเอง โดยที่ผู้ใหญ่ไม่ต้องสอนให้พูด เช่น การร้องไห้ของเด็กก็เหมือนกับการพูดหรือบอกตนเองว่าตอนนี้ ฉันมีความรู้สึกไม่พอใจ หิว ไม่สบาย เป็นต้น

วิถีชีวิต และลักษณะบ้านเรือน

ลักษณะบ้าน แบบคร่อมดิน: ลักษณะของบ้านแบบปลูกคร่อมดินนั้น มักจะปลูกในพื้นดินที่เรียบเสมอกัน ส่วนวัสดุการก่อสร้างใช้ไม้ไผ่ ยกเว้นเสาบ้านที่ต้องใช้ ไม้เนื้อแข็งเพื่อความมั่นคง ส่วนฝานั้นกั้นด้วยฟากแบบสานขัดแตะ ส่วนหลังคามุงด้วยหญ้าคา ตัวบ้านจะไม่มีหน้าต่างมีประตูเข้าด้านหน้าด้านเดียว ภายในค่อนข้างจะมืด ส่วนบริเวณลานบ้านด้านนอกจะเป็นที่ตั้งครก กระเดื่องสำหรับตำข้าวประจำบ้าน และหลังบ้านจะเป็นเล้าไก่หลังเล็กๆ สำหรับไก่ที่เลี้ยงไว้ ลักษณะ และรูปแบบในการสร้างบ้านของลีซูนั้น แบบเดียวกับอาข่า เพราะคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ดังนั้นการสร้างบ้านในลักษณะนี้กันทั้งฝน และลมหนาวได้ดี

วัฒนธรรมประเพณี

ประเพณีการแต่งงาน

ชายลีซูไม่ว่าคนใดจะต้องไม่แต่งงานกับสตรีที่เขาเรียกว่า “จิจิ” หรือญาติ นั้นคือ พี่สาว หรือน้องสาวร่วมตระกูล หรือแม้แต่ลูกของน้าก็แต่งไม่ได้แต่งได้กับลูกสาวของอา และไม่ใช่ตระกูลเดียวกัน

การเลือกคู่: หนุ่มสาวลีซูหาคู่กันรอบๆ ครกตำข้าวนั้นเอง ยามค่ำสาวๆ จะชุมนุมกันตำข้าวไว้หุง ในวันรุ่งขึ้นเป็นโอกาสให้หนุ่มๆ ไปอาสาช่วยตำ แล้วปากต่อปากคำ หยอกเย้าเกี้ยวพา พอสาวหยุดพักหนุ่มก็พาคนที่ถูกใจไปนั่งพร่ำพรอดกัน โดยบางคู่ก็ถึงขั้นแลกกำไล หรือสัญลักษณ์เสน่หาอื่นๆ ซึ่งต่างฝ่ายก็จะพกติดตัวไว้ บ่อยครั้งการเกี้ยวพาจะทำกันอย่างครึกครื้นเมื่อถึงเวลาทำงานในนา หรือในไร่ สาวจะส่งข่าวไปนัดหมายหนุ่มๆ ว่าวันนี้จะไปนาไหนแล้วทั้งสาว ทั้งหนุ่มก็แต่งตัวชุดใหญ่ไป “เล่นเพลง” กันนั่นคือ แม่เพลงว่าบาทแรก แล้วลูกคู่ก็ร้องรับกันทั้งหมู่จนจบบท แล้วพ่อเพลงก็ตอบบาทแรกให้ลูกคู่ก็รับจนจบบท โต้กันไปโต้กันมาด้วยความหมายเกี้ยวพา ทั้งลูกล่อลูกชน เป็นต้น ฝ่ายใดติด หรือจนให้อีกฝ่ายเอาไปต่อเองได้ เป็นอันว่าแพ้เด็ดขาดจบเกมในวันนั้น ข่าวก็จะแพร่สะพัดไปทั้งหมู่บ้านทำให้ฝ่ายแพ้เสียหน้าไปไม่น้อย

พิธีแต่งงาน: ชนเผ่าลีซูนั้นจะเข้าพิธีแต่งงาน โดยค่าสินสอดของหญิงสาว และค่าน้ำนมจะมอบให้กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว ค่าตัวสาวลีซูจะค่อนข้างแพง อาจแพงกว่าสาวบางเผ่า ค่าตัวสาวลีซู ประมาณ 30,000 บาทขึ้นไป สาเหตุที่ค่าตัวหญิงสาวค่อนข้างแพงนั้น เพราะว่าเมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงจะต้องไปอยู่กับทางฝ่ายชาย และจะต้องช่วยทำงานทุกสิ่ง ทำทุกอย่างทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ทำงานค่อนข้างจะหนัก สำหรับเงินค่าตัวของฝ่ายหญิงนั้น ทางพ่อแม่ของฝ่ายชายจะเป็นคนออกให้ทั้งหมด

ประเพณีปีใหม่ (โข่เซยี่ย)

จัดขึ้นในวันที่ 1 เดือน 1 ของเดือนลีซู ซึ่งลีซูเรียกเดือนนี้ว่า “โข่เซยี่ยอาบา” เป็นวันที่มีความสำคัญมากสำหรับชาวลีซู เพราะเชื่อว่าเป็นวันที่เริ่มต้นสำหรับชีวิต และสิ่งใหม่ ให้สิ่งเก่าๆ ที่ไม่ดีหมดไปพร้อมกับปีเก่า จึงต้องมีการเฉลิมฉลองด้วยการทำพิธีกรรม และจัดงานรื่นเริง เช่น การทำบุญศาลเจ้า และเทพเจ้าต่างๆ ของชาวลีซู การขอศีลพรจากเทพเจ้าและผู้อาวุโส การร้องเพลง การเล่นดนตรี และการเต้นรำ เป็นต้น ก่อนวันปีใหม่ 1 วัน หรือวันสุดท้ายของเดือน “หลายี” (เดือน 12) จะมีการตำข้าวปุ๊ก หรือเรียกว่า “ป่าปาเตี๊ยะ”

สำหรับกิจกรรมและพิธีกรรมต่างๆ ที่ทำในวันนี้คือ นึ่งข้าวเหนียว เพื่อตำข้าวปุ๊กในตอนเช้า เมื่อข้าวสุกแล้วก็นำข้าวเหนียวไปตำใน “ลูทูว” จนนุ่ม และโรยแป้งหรืองา เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวติดมือ และปั้นเป็นก้อนพอประมาณ  ใส่ลงไปในใบตองที่เตรียมไว้ โดยทบไปตองไปมา หน้าละ 2 ก้อน จนกระทั่งใบตองหมดแผ่น จึงทำแผ่นใหม่เรื่อยๆ จนหมด ก่อนวัน “ป่าปาเตี๊ยะ” 1 วัน ตอนเย็นวันนั้น “มือหมือ” จะต้องเป็นคนแช่ข้าวเหนียวก่อน และจุดประทัดเป็นสัญญาณบอก จากนั้นชาวบ้านอื่นๆ จึงจะแช่ข้าวเหนียวได้ ช่วงเย็นต้องเตรียมต้นไม้ “โข่เซยี่ยและจึว” ซึ่งจะเลือกเอาจากต้นไม้ที่มีลักษณะงาม ลำต้นเรียวยาว สูงประมาณ 1.5 เมตร โดยนำต้นไม้มาปักกลางลานบริเวณบ้าน จากนั้นนำ “ป่าปา” และเนื้อหมูหั่นยาวประมาณ 6-7 นิ้ว “ซาซือ” แขวนที่เสา และจุดธูป 2 ดอก และมีการเตรียมไข่ต้ม และเส้นด้ายยาวขนาดที่จะมัดที่คอหรือข้อมือได้ เท่ากับจำนวนสมาชิกในบ้าน ผู้อาวุโสในบ้าน (จะเป็นผู้ชาย) เป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญ “โชวฮาคูว” โดยการเอาไข่ต้มทั้งหมด และเส้นด้ายที่จะใช้มัดวางขนถ้วยที่ใส่ข้าวสุกที่วางบนผ้าอีกชั้นหนึ่ง   ไปยืนเรียกขวัญที่หน้าประตูบ้านเมื่อทำพิธีเสร็จ จึงทำการผูกด้ายสายสิญจน์ และให้ไข่ต้มแก่สมาชิกคนละใบเพื่อให้ขวัญ

เอ้อยี่ปา

จะมีขึ้นหลังจากปีใหม่ผ่านไปประมาณเดือนกว่าๆ พิธีนี้มีเพียง 1 วัน 1 คืน เท่านั้นจะมีการเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษในบ้านและผีบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน ตอนกลางคืนก็จะมีการเต้นรำกัน หน้าบ้านของผู้นำศาสนา (มือหมือผะ) จะไม่มีต้นไม้ปีใหม่ พิธีกรรมนี้ก็สำคัญมากสำหรับชาวลีซูเช่นกัน

กินข้าวโพดใหม่ ลีซู เรียกว่า “ชือแป๊ะกว๊ะ

วันกินข้าวโพดใหม่จะอยู่ช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ตรงกับกลางเดือน 7 ของลีซู จะมีวันสำคัญอยู่ 3 วัน ในหมู่บ้านทุกคนหลังคาเรือนจะต้องหยุดทำงาน (ยกเว้นผู้ที่นับถือคริสต์) จะมีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษในบ้านและผีประจำหมู่บ้าน พิธีกรรมนี้ทุกหลังคาเรือนจะหาของเซ่นไหว้ คือ ข้าวโพด แตงกวา อ้อย ดอกไม้ พืชผักต่างๆ และธูป เทียน และมีการสวดบทขอบคุณผีบรรพบุรุษและเทพเจ้า ที่ช่วยดูแลพืชพันธ์ธัญญาหาร รวมถึงสัตว์เลี้ยงต่างๆ และคนในบ้านให้อยู่อย่างมีความสุขตลอดมา

เซ่นไหว้หลุมศพ ลีซู เรียกว่า “หลี่ฮีชัว”

หลังจากปีใหม่ผ่านไปสักสองเดือนกว่าๆ พิธีนี้จะจัดขึ้น ณ สุสานหรือหลุมฝังศพ ลีซูมีการเซ่นไหว้ที่ ณ หลุมฝังศพ พิธีกรรมนี้จะทำการ 3 ครั้ง ทำทุกๆปี หลังจากนั้นเซ่นไหว้ครบ 3 ครั้งแล้ว ไม่ต้องทำแล้ว ลีซูมีความเชื่อว่าวิญญาณไปเกิดใหม่แล้ว ถ้าครอบครัวไหนอยากจะทำต่อสามารถทำได้ พิธีนี้ทำได้เฉพาะคนที่มีลูกชาย เช่น เวลาพ่อและแม่เสียชีวิตไป ลูกชายก็จะทำพิธี “หลี่ฮีชัว” ให้พ่อแม่ที่เสียไปแล้ว ถ้าครอบครัวไหนไม่มีลูกชาย มีแต่ลูกสาวไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะผู้หญิงไม่สามารถทำพิธีกรรมได้ นอกจากผู้ชาย

ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม

ชาวลีซอส่วนใหญ่นับถือผี (เหน่) ควบคู่กับศาสนาคริสต์หรือศาสนาพุทธ ผีที่สำคัญมาก คือ ผีปู่ ตา ย่า ยาย ผีที่นับถือหรือเกรงกลัว คือ ผีที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น ผีดอย ผีดิน ผีน้ำ ผีไร่ เป็นต้น การเรียกขวัญ เป็นความเชื่อด้วยด้านจิต วิญญาณ เพื่อความสุขสบายกายและใจ ทำต่อเมื่อคนในครอบครัวเจ็บป่วยบาดเจ็บ ส่วนการทำนายโชค จะใช้กระดูกไก่ทำนายโชคชะตาของเจ้าภาพและครอบครัว

ชาวลีซูนับถือผีบรรพบุรุษเป็นส่วนใหญ่เช่นเดียวกับชนเผ่าอื่นๆ จะมีอยู่บ้างที่หันมานับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ การนับถือผีบรรพบุรุษยังคงพบเห็นในหมู่บ้านโดยทั่วไป เช่น จะมีผีประจำหมู่บ้าน ผีบ้าน ผีเรือน ผีหลวง ผีป่า ผีน้ำ ผีลำห้วย ผีต่างๆ อาจแบ่งออกเป็นผีดีและผีร้าย ผีดีเป็นผีที่ให้คุณแก่ชาวบ้าน เช่น ผีประจำหมู่บ้าน ผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเรือน ส่วนผีร้าย ได้แก่ ผีป่า ผีคนตายไม่ดี เช่น ถูกยิงตาย หรือคลอดลูกตาย ปัจจุบันคนภายในชุมชนยังมีกิจกรรม วัฒนธรรมและพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิมอยู่และปฏิบัติกันอยู่

การแต่งกาย

ลักษณะการแต่งกายของชนเผ่าลีซู (ลีซอ) เทศกาลปีใหม่เป็นยามที่ดรุณีลีซูทั้งหลายแต่งกายกันอย่างเต็มที่ เครื่องประดับเงินจะทับโถมอยู่เต็มทรวงเจ้าหล่อน จะสวมเสื้อกั๊กกำมะหยี่ดำ ซึ่งปักปรายไปด้วยดุมเงิน เป็นสายและดอกดวง ทั้งด้านหน้าและหลังยืดอกปิดด้วยหัวเข็มขัดเงินแผ่นสีเหลี่ยม เรียงลงมาเป็นแถวรอบคอ รัดด้วยแถบผ้าติดสร้อยระย้า ซึ่งแผ่สยายอยู่เต็มอก ส่วนติ่งหูเจาะรูสองข้างเกี่ยวตะขอห้อยตุ้มระย้าซึ่งติดพู่ไหมพรมเพิ่มสีสัน เข้าไปด้วย แถมสร้อยเงินหลายสายที่โยงผ่านใต้คางจากตุ้มซ้ายไปสู่ตุ้มขวา ส่วนข้อมือทั้งสองสวมกำไลแผ่นกว้าง แต่งด้วยอัญมณี แม้นิ้วก็สวมแหวนเงินไว้

ลักษณะการแต่งกายของผู้ชาย

ชุดของผู้ชาย ประกอบด้วยกางเกงเป้าต่ำสีฟ้าหรือสีอะไรก็ได้ สวมเสื้อแขนยาว จะติดด้วยกำมะหยี่ ซับในขวามักแต่งด้วยดุมเงินยิ่งมากยิ่งดี เอวคาดด้วยผ้าแดง และในย่ามก็ห้อยพู่หางม้ายาวคล้ายของผู้หญิง แต่ว่าหนุ่มนั้นห้อยไว้ข้างหน้า เดิมทีผู้ชายจะสวมผ้าโพกศีรษะทำด้วยผ้าไหมสีแดง ฟ้า เหลือง และดำ แต่ปัจจุบันหายากแล้ว เห็นใช้กันแต่ผ้าขนหนูขาว สอดกระดาษแข็งให้ตั้งขึ้นราว 20 ซม. พันรอบศีรษะง่ายๆ และห้อยตุ้มหูเงินข้างเดียวจากรูที่เจาะไว้ที่ติ่งหูซ้าย สวมกำไลก้านเงินเรียบๆ ที่ข้อมือข้างละวง ย่ามใช้งานของลีซูทอด้วยด้ายขาวหรือด้ายดิบโดยใช้ที่ผูกข้อมือ เป็นผ้าพื้นขาวยกลายทางสีแดง หรือสีอื่นๆ นอกจากสะพายบ่าเหมือนเผ่าอื่น

ลักษณะการแต่งกายของผู้หญิง

ผู้หญิงลีซอทุกวัยแต่งกายด้วยผ้าสีสดใส สวมใส่เป็นเสื้อตัวหลวม แขนกระบอก ส่วนหน้าของเสื้อยาวถึงเข่า นิยมสีน้ำเงิน เขียว ฟ้า และม่วง คอเป็นผ้าสีดำ ตกแต่งลวดลายสวยงาม โดยนำผ้าแถบผ้าสีต่างๆ เช่น ม่วง ฟ้า ชมพู เขียว ดำ ขาว ส้ม แดง มาเย็บต่อกันเป็นริ้ว สวมเสื้อกั๊กที่ตกแต่งด้วยกระดุมเงิน สวมกางเกงหลวมๆ สีดำ ในตัวเสื้อ ใช้ผ้าสีดำพันรอบเอว คล้ายเข็มขัด สวมปลอกขาเพื่อป้องกันแมลง กิ่งไม้ หรือกันหนาว ผู้หญิงสูงวัยโพกหัวด้วยผ้าสีดำยาวพันหัวหลายๆ รอบแล้วเก็บชาย หญิงสาวจะสวมหมวกโดยประดับประดาด้วยลูกปัดหลากสี ส่วนผู้ชายลีซอ ทุกวัยแต่งกายเหมือนกัน โดยสวมใส่กางเกงที่มีความยาวเลยเข่าเล็กน้อย เป้ากว้างมาก สีน้ำเงิน สีเขียว ฟ้า เสื้อสีดำ แขนยาว คอป้ายตกแต่งกระดุมเงิน ติดรังดุมสีน้ำเงินที่ส่วนบนของตัวเสื้อ สวมปลอกขาสีดำ

เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีของแต่ละชนเผ่า คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงความสวยงามและความหลากหลายทางภูมิปัญญาความคิด ภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เกิดขึ้นมา เพื่อใช้ในการสื่อทางอารมณ์ แทนการบอกเล่ากันทางปากต่อปาก เสียงไพเราะ เพาะพริ้งของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดยามตะวันแลง จะยังคงอยู่และสืบเนื่องต่อไป หากได้รับการปลูกฝัง และการเอาใจใส่ของกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าชนรุ่นใหม่ เครื่องดนตรีที่นิยมกันมากของชนเผ่าลีซู คือ พิณ 3 สาย เรียกว่า ซึง (ซือ บือ) และ แคน (ฝู่หลู่)

 

แคนน้ำเต้า “ฟู่วหลูว”

เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า และนิยมเล่นกันของผู้ชายลีซู มี 3 ชนิด คือ แคนชนิดสั้น ชนิดธรรมดา และชนิดยาว ทำด้วยน้ำเต้าและปล้องไผ่เล็กๆ ที่คัดเป็นพิเศษ ปัจจุบันช่างทำฝู่หลู่ได้หายากเข้าทุกที การจะเป็นเจ้าของฝู่หลู่ได้จึงต้องเดินทางไปถึงหมู่บ้านที่มีช่างทำอยู่ และสั่งจองล่วงหน้า คนที่สามารถเป่าฝู่หลู่ได้ในแต่ละหมู่บ้านจึงมีไม่มากเพียงหมู่บ้านละ 3-4 คนเท่านั้น เพราะการหาซื้อฝู่หลู่ทำได้ยาก และการฝึกเป่าฝู่หลู่ก็ยากกว่า ด้วยการเล่นดนตรีถือเป็นเรื่องของผู้ชาย ไม่ถือเป็นบทบาทของผู้หญิง หนุ่มลีซูจะเล่นในเวลาที่ว่างหรือช่วงประเพณีต่างๆ โดยใช้บริเวณลานวัฒนธรรมชุมชน เป็นสถานที่เล่น หรือเล่นระหว่างทางไปท่องเที่ยวต่างหมู่บ้าน เพื่อส่งเสียงให้ผู้คนได้ยิน และก็จะใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อเพื่อแสดงความคิดถึงต่อกัน จนทำให้เครื่องดนตรีเป็นที่นิยม และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

ซึง“ชือบือ”

เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด หนุ่มลีซูมักจะฝึกดนตรีตั้งแต่อายุได้ 12-13 ปี ส่วนใหญ่พ่อจะทำซึงให้ลูกชายได้ใช้ฝึกซ้อม ตัวซึงมีคันยาว ทำด้วยไม้และหนังตะกวด (คนเมืองเรียกว่า “แลน”) เวลาที่งานไม่ชุกนัก หนุ่มลีซู       จะเอาไปฝึกดีดในไร่ด้วย การดีดซึงก็มีจังหวะสนุกสนาน เร้าใจ การเดินทางไปเที่ยวต่างหมู่บ้านหนุ่มลีซูจะพกเครื่องดนตรีติดตัวไปด้วย

วิถีชีวิตชนเผ่าม้ง

ม้ง หมายถึง อิสระชน เดิมอาศัยอยู่ในประเทศจีน ต่อมาชาวจีนเข้ามาปราบปราม เป็นเหตุให้อพยพลงมาถึงตอนใต้ของจีน และเขตอินโดจีน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และตอนเหนือของประเทศไทย ประมาณพ.ศ. 2400 โดยมีสองกลุ่มได้แก่ ม้งน้ำเงินและม้งขาว ไม่ชอบให้เรียกว่าแม้ว โดยถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยาม

 ภาษา

 

ภาษาม้งจัดอยู่ในสาขาเมี้ยว-เย้าจองตระกูลจีน-ธิเบตไม่มีภาษาเขียนแต่ยืมตัว อักษรภาษาโรมัน มาใช้ ม้ง

ไม่มีภาษาที่แน่นนอน ส่วนใหญ่มักจะรับภาษาอื่นมาใช้พูดกัน เช่น ภาษาจีนยูนนาน ภาษาลาว ภาษาไทยภาคเหนือ เป็นต้น ซึ่งม้งทั้ง 3 เผ่าพูดภาษาคล้ายๆ กัน คือ มีรากศัพท์ และไวยากรณ์ที่เหมือนกัน แต่การออกเสียงหรือสำเนียงจะแตกต่างกันเล็กน้อย ม้งสามารถใช้ภาษาเผ่าของตนเอง พูดคุยกับม้งเผ่าอื่นเข้าใจได้เป็นอย่างดี แต่ม้งไม่มีภาษาเขียนหรือตัวหนังสือ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันชาวม้งได้เขียน และอ่านหนังสือภาษาม้ง โดยการใช้ตัวอักขระหนังสือละติน (Hmong RPA) เรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ของม้ง จึงอาศัยวิธีการจำและเล่าสืบต่อกันมาเพียงเท่านั้น

วิถีชิวิต

ในอดีตนั้นม้งอาศัยอยู่ตามภูเขาอยู่ตามธรรมชาติ ม้งต้องตรากตรำทำงานหนักอยู่แต่ในไร่เท่านั้น ทำให้ม้งไม่มีเวลาที่จะดูแลตัวเองและครอบครัว ดังนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของม้งจึงเป็นแบบเรียบง่าย เพราะคลุกคลีกับธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ชีวิตประจำวันของม้งคือ จะทำไร่ ทำสวน และหารายได้เล็กน้อยเพื่อจุนเจือครอบครัว ส่วนเรื่องอาหารก็จะเป็นเรื่องเรียบง่าย

ในการกินอาหาร ม้งนิยมใช้ตะเกียบซึ่งรับมาจากธรรมเนียมจีน ส่วนเหล้าจะนิยมดื่มกันในงานเลี้ยงต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยงญาติ อาจเป็นญาติของภรรยาที่มาเยี่ยม ฝ่ายญาติทางสามีจะต้องรินแก้วเหล้าแจก ครั้งละ  2 แก้ว โดยเชื่อกันว่าจะทำให้คู่สามีภรรยาอยู่ด้วยกันตลอดไป เหล้าจะทำกันเองในหมู่บ้าน ซึ่งทำจากข้าวโพด ข้าว หรือข้าวสาลี ม้งให้เกียรติแก่ผู้ชาย เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงรับประทานอาหาร หลังผู้ชายเสมอ การประกอบอาหารของม้งส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะการต้ม ทอด และม้งยังมีความสามารถในการถนอมอาหาร ซึ่งในการถนอมอาหารสามารถถนอมได้หลายแบบ เช่น การหมัก การดอง

ลักษณะบ้านเรือน

ชนเผ่าม้ง นิยมสร้างบ้านอยู่บนภูเขาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งม้งบางกลุ่มจะมีการปลูกฝิ่นเป็นพืชหลัก แต่ในปัจจุบันนี้ ม้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้อพยพมาตั้งรกรากอยู่ในพื้นราบลุ่มเขา และยังมีม้งบางกลุ่มก็ยังคงตั้งรกรากอยู่บนดอย แต่ไม่ลึกการคมนาคมพอที่จะเข้าไปถึงได้ หมู่บ้านม้งจะประกอบด้วยกลุ่มเรือนหลายๆ หย่อม แต่ละหย่อมจะมีบ้านราวๆ 7-8 หลังคาเรือน โดยที่มีเรือนใหญ่ของคนสำคัญอยู่ตรงกลาง ส่วนเรือนที่เป็นเรือนเล็กจะเป็นลูกบ้านหรือลูกหลาน ส่วนแต่ละหย่อมนั้นจะหมายถึงตระกูลเดียวกัน หรือเป็นญาติพี่น้องกันนั่นเอง

ตัวบ้านปลูกคล่อมอยู่บนพื้นดินที่ทุบแน่น โดยใช้พื้นดินเป็นพื้นบ้านฝาบ้านเป็นไม้แผ่น มุงด้วยคา มีห้องนอน กับห้องครัวในบ้าน บ้านจะมีขนาดใหญ่ เพราะอยู่อาศัยในลักษณะครอบครัวขยาย ม้งถือผู้อาวุโสเป็นหัวหน้าครอบครัว วัสดุส่วนใหญ่ใช้ไม่เนื้ออ่อน ผนังกั้นระหว่างห้องหรือบ้านทำใช้ลำไม้ไผ่ ผ่าคลี่เป็นแผ่น หลังคามุง ด้วยหญ้าคา หรือใบจาก แต่เสาจะเป็นไม้เนื้อแข็ง แปลนเป็นแบบง่ายๆ ตัวบ้านไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากอยู่ในที่อากาศหนาวเย็น ใกล้กับประตูหลัก จะมีเตาไฟเล็ก และแคร่ไม่ไผ่สำหรับนั่งหรือนอน เอาไว้รับแขก กลางบ้านจะเป็นที่ทำงานบ้าน เข้าไปในสุดด้านซ้ายจะเป็นเตาไฟใหญ่สำหรับ ทำอาหารเลี้ยงแขกจำนวนมาก และเอาไว้ต้มอาหารหมู บางบ้านจะมีครกไม้ใหญ่สำหรับตำข้าวเปลือก มีลูกโม่หินสำหรับบดข้าวโพด แป้ง ถั่วเหลือง ใกล้กับที่ทำงานจะมีกระบอกไม้ไผ่รองน้ำตั้งอยู่ สำหรับมุมบ้านฝั่งซ้ายมักจะกั้นเป็นห้องนอนของพ่อแม่ กับลูก

ความเชื่อก่อนที่จะปลูกบ้านเรือน: ม้งจะมีการเสี่ยงทายพื้นที่ที่จะมีการปลูกบ้านเรือนก่อน เพื่อครอบครัวจะได้มีความสุข และร่ำรวย โดยกระทำดังนี้ เมื่อเลือกสถานที่ได้แล้ว จะขุดหลุมหนึ่งหลุมแล้วนำเม็ดข้าวสารจำนวนเท่ากับสมาชิกในครอบครัวโรยลงใน หลุม แล้วโรยข้าวสารอีกสามเม็ดแทนสัตว์เลี้ยงเสร็จแล้ว จะจุดธูปบูชาผีเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขออนุญาต และเอาชามมาครอบก่อนเอาดินกลบ รุ่งขึ้นจึงเปิดดู หากเมล็ดข้าวยังอยู่เรียบ                ก็หมายความว่า ที่ดังกล่าวสามารถทำการ ปลูกสร้างบ้านเรือนได้ รอบๆ ตัวบ้านมักจะมีโรงม้า คอกหมู เล้าไก่         ยุ้งฉางใส่ข้าวเปลือก ถั่ว และ ข้าวโพด

วัฒนธรรมประเพณี

 

ชาวเขาเผ่าม้ง มีประเพณีและวัฒนธรรมตลอดทั้งความเชื่อเป็นของตนเองสืบมาแต่บรรพบุรุษ เช่น

ประเพณีแต่งงาน

เมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงรู้จักกันและเกิดรักกัน ทั้ง2 คนอยากใช้ชีวิตร่วมกัน ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะกลับมาบ้านของตนเอง และฝ่ายชายค่อยมาพาฝ่ายหญิงจากบ้านของฝ่ายหญิง โดยผ่านประตูผีบ้านของฝ่ายหญิง เพราะคนม้งถือและเป็นวัฒนธรรมของคนม้ง หลังจากที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงกลับมาถึงบ้านของฝ่ายชาย พ่อ แม่ของฝ่ายชาย จะเอาแม่ไก่มาหมุนรอบศีรษะทั้งสองคน 3 รอบเรียกว่า “หรือข๊า” เป็นการต้อนรับคนทั้งสองเข้าบ้าน ซึ่งฝ่ายชายต้องแจ้งให้ญาติทางฝ่ายหญิงทราบภายใน 24 ชั่วโมง โดยจัดหาคน 2 คน เพื่อไปแจ้งข่าวให้พ่อแม่และญาติทางฝ่ายหญิงทราบ ว่าตอนนี้บุตรชายของเราได้พาบุตรสาวของท่านมาเป็นลูกสะใภ้ของเราแล้ว ท่านไม่ต้องเป็นห่วงบุตรสาว

ชาวม้ง จะไม่เกี้ยวพาราสี หรือแต่งงานกับคนแซ่หรือตระกูลเดียวกันเพราะถือเป็นพี่น้องกัน ชาวม้งนิยมแต่งงาน ในระหว่างอายุ 15-19 ปี เมื่อแต่งงานกันแล้วฝ่ายหญิงจะย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านของฝ่ายชาย ซึ่งนับเป็นการเพิ่มสมาชิกในครอบครัวชายชาวม้งอาจมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคนอยู่รวมกันในบ้านของฝ่ายสามี

ประเพณีขึ้นปีใหม่หรือประเพณีฉลองปีใหม่

ซึ่งเป็นงานรื่นเริงของชาวม้งของทุกๆ ปี จะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย และเป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า – ผีป่า – ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะทำการฉลองกันอย่างพร้อมเพรียงกัน หรือตามวันและเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งโดยมากจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่างๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง

ประเพณีกินข้าวใหม่ของม้ง

เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นทวด-รุ่นปู่ ซึ่งม้งจะมีความเชื่อว่าจะต้องเลี้ยง ผีปู่-ผีย่า เพราะช่วงเวลาในหนึ่งรอบปีหรือในหนึ่งปีที่ผ่านมานั้นผีปู่-ผีย่า ได้ดูแลครอบครัวของแต่ละครอบครัวเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงมีการปลูกข้าวใหม่เพื่อจะเซ่นบูชา คุณผีปู-ผีย่ากับเจ้าที่ทุกตน ซึ่งการกินข้าวใหม่จะทำกันในเดือน ตุลาคมของทุกปี ข้าวใหม่คือข้าวที่ปลูกขึ้นมาเพื่อที่จะเซ่นถวายให้กับผีปู่-ผีย่า แล้วสุกในระหว่างเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม           แล้วจะต้องเก็บเกี่ยวโดยเคียวเกี่ยวข้าว ที่มีขนาดเล็ก เพราะเคียวที่ใช้เกี่ยวนั้นสามารถที่จะเกี่ยวต้นข้าวได้เพียง 3-4 ต้นเท่านั้น จะเริ่มเกี่ยวได้เมื่อรวงข้าวสุกแต่ยังไม่เหลืองมาก ต้องเกี่ยวตอนที่รวงข้าวมีสีเขียวปนเหลือง เมื่อเกี่ยว เสร็จก็จะนำมานวดให้ข้าวเปลือกหลุดออกโดยไม่ต้องตากให้แห้ง นำข้าวเปลือกที่นวดเรียบร้อยแล้ว มาคั่วให้เม็ดข้าวแข็งและเปลือกข้าวแห้ง เพื่อให้สะดวกในการ ตำข้าว

ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม

ชาวม้งมีการนับถือวิญญาณบรรพบุรุษ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่อยู่บนฟ้า ในลำน้ำ ประจำต้นไม้ ภูเขา ไร่นา ฯลฯ ชาวม้งจะต้องเซ่นสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เหล่านี้ปีละครั้ง โดยเชื่อว่าพิธีไสยศาสตร์เหล่านี้ จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องและทำการ รักษาได้ผล เพราะความเจ็บป่วยทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผลมาจากการผิดผี ทำให้ผีเดือดดาลมาแก้แค้นลงโทษให้เจ็บป่วย จึงต้องใช้วิธีจัดการกับผีให้คนไข้หายจากโรค หากว่าคนทรงเจ้ารายงานว่าคนไข้ที่ล้มป่วยเพราะขวัญหนี ก็จะต้องทำพิธีเรียกขวัญกลับเข้าสู่ร่างของบุคคลนั้น

การแต่งกาย

ชาย: ตัวเสื้อจะเป็นผ้ากำมะหยี่ เสื้อแขนยาวจรดข้อมือ ชายเสื้อจะยาวคลุมเอว ด้านหน้ามีสาบเสื้อสองข้างลงมาตลอดแนว สายเสื้อลงไปยังชายเสื้อ ด้านหลัง มักจะปักลวดลายสวยงามด้วย ปัจจุบันนิยมใส่ซิปลงขอบ สาบเสื้อ เพื่อสะดวกในการใส่ ส่วนกางเกงจะสวมใส่กางเกงขาก๊วย หรือกางเกงจีนเป้าตื้นขาบาน มีลวดลายน้อย และใส่ผ้าพันเอวสีแดง คาดทับกางเกง และอาจมีเข็มขัดเงินคาดทับอีกชั้นหนึ่งด้วยเหมือนกัน

หญิง: ตัวเสื้อจะเป็นผ้ากำมะหยี่ เสื้ออาจจะเป็นสีน้ำเงินเข้มหรือดำ แต่ปัจจุบันก็มี การเปลี่ยนแปลงให้มีหลากสีมากขึ้น เป็นเสื้อแขนยาว ซึ่งที่ปลายแขนนี้มีการปักลวดลายใส่ด้านหน้ามีสาบเสื้อสองข้างลงมา และมีการปักลวดลายใส่ด้วย การแต่งกายของหญิงม้งขาว (ม้งเด๊อะ) เดิมจะสวมกระโปรงจีบรอบตัวสีขาวล้วนไม่มีการปักลวดลายใดๆ เมื่อสวมใส่จะปล่อยรอยผ่าไว้ด้านหน้าพร้อมกับมีผ้าสี่เหลี่ยมยาวปักลวดลาย ปิดทับรอยผ่า มีผ้าแถบสีแดงคาดเอวไว้ชั้นหนึ่ง โดยผูกปล่อยชายเป็นหางไว้ด้านหลัง ปัจจุบันนิยมใส่กระโปรงสีขาวเฉพาะงานสำคัญเท่านั้น เพราะกระโปรงขาวเปรอะเปื้อนได้ง่าย จึงหันมานิยมสวมกางเกงทรงจีนกับเสื้อแทนกระโปรง และมีผ้าสี่เหลี่ยมผืนยาวห้อยลงทั้งด้านหน้าและหลัง นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับอื่นประกอบเพิ่มเติม ซึ่งมักจะสวมใส่กันในงานสำคัญจำพวกเครื่องเงิน กำไลคอ กำไลข้อมือ ตุ้มหู แหวน รวมทั้งเหรียญเงินขนาดต่างๆ ทั้งรูปวงกลม และสามเหลี่ยม ที่ประดับตามเสื้อผ้าแพรพรรณ รวมทั้งสายสะพายปักลวดลายสวยงาม เวลาใช้จะสะพายไหล่เฉียงสลับกันสองข้าง

 

เครื่องดนตรี

เครื่องดนตรีของคนม้งที่มีมาแต่โบราณกาลนั้นก็มีหลากหลาย แต่ว่าดนตรีเหล่านี้ดูเหมือนว่ากำลังจะสูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

เครื่องดนตรีประเภทเป่า

จิ๊งหน่อง (จ่าง-Ncas): เป็นเครื่องดนตรีคู่กายคู่ใจของหนุ่มสาวม้ง จ่างเป็นเครื่องดนตรีที่ปู่ย่าตายายท่านสร้างไว้และเชื่อกันว่ามีผีสิงอยู่ ใช้เป่าเพื่อบรรยายความรู้สึกในใจ สามารถเป่าได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เราเป็น หนุ่มต้องเดินทางไกลไปเที่ยวสาวก็จะเป่าจ่างทางไกล หรือถ้าเป็นหนุ่มสาวในหมู่บ้านเดียวกัน ก็จะเป่าอีกแบบหนึ่ง เพื่อแสดงว่าเราเป็นคนคุ้นเคยกัน จ่างนับว่าเป็นเครื่องดนตรีของม้งที่ใช้สื่อรักกัน แต่พอได้มาเป่าจ่างโต้ตอบกัน และทำให้ต่างคนต่างเห็นคุณค่าของแต่ละคน จนเกิดความผูกพันและรักกัน ปัจจุบันจ่างได้หายไปจากวิถีชีวิตของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่แล้ว

แคน (Qeej): เป็นภาษาม้ง อ่านว่า เฆ่ง หรือ qeng ซึ่งแปลว่า แคน หรือ mouth organ เฆ่ง หรือแคนเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากลำไม้ไผ่ และไม้เนื้อแข็ง ถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยลำไม้ไผ่ทะลุปล้อง 6 อัน คือ ซย้งตั๋วจื๋อ (xyoob tuam tswm) 1 อัน และ ซย้งเฆ่ง (xyoob qeej) 5 อัน แต่ละอันมีขนาด และความยาวไม่เท่ากันกับลำไม้เนื้อแข็งซึ่งมีปากกลมยาว (ก๋างเฆ่ง kaav qeej) เป็นไม้แดงหรือ ที่ภาษาม้งเรียกว่า ดงจือเป๋ (ntoo txwv pem) เมื่อเป่าหรือสูดลมเข้าออก จะให้เสียงไพเราะต่อเนื่องกัน ตลอดจนจบตอนของบทเพลงลำไม้ไผ่แต่ละอันมีชื่อเรียกเฉพาะของตัวเอง เช่น ดีลัว ดีไล ดีเส่ง ดีตือ ดีจู้ คนม้งจะใช้แคน (เฆ่ง) ในพิธีงานศพเป็นหลัก โดยเป็นเครื่องนำทางดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่ปรโลก หรือแดนของบรรพบุรุษ ฉะนั้นในธรรมเนียมม้งจึงห้ามมิให้ฝึกเป่าแคนภายในบ้าน ส่วนใหญ่จะฝึกในที่ๆ ห่างไกลจากหมู่บ้านซึ่งมักจะเป็นที่พักพิงตามไร่สวน

ขลุ่ย: ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีอีกประเภทหนึ่งของม้งที่ใช้เป่าเรียกหาคู่ และสร้างความจรรโลงใจ ซึ่งขลุ่ยม้งจะทำมาจากกระบอกไม้ไผ่และท่อพีวีซี จะใช้เป่าแทนความรู้สึก ของสภาพจิตใจของผู้นั้นจะเป่าในวันสำคัญ เช่น งานปีใหม่และงานสำคัญอื่นๆ

เครื่องดนตรีประเภทตี

กลอง หรือ จั๊ว: เป็นเครื่องดนตรีของม้งที่มีลักษณะเป็นกลองสองหน้าหรือหนึ่งหน้าก็ได้ รูปร่างกลมแบน โดยใช้แผ่นผนังสัตว์สองแผ่นมาประกอบเข้ากับโครงกลอง หลอมตัวกลองทั้งสองด้าน ริมขอบของแผ่นผนังทั้งสองแผ่นจะเจาะรูเป็นคู่ๆ สำหรับเสียบสลักไม้เล็กๆ เพื่อใช้เชือกร้อยสลักไม้ของแผ่นผนังทั้งสองด้านดึงเข้าหากัน ซึ่งจะทำให้แผ่นผนังกลองตึงตัวเต็มที่ เมื่อตีจะมีเสียงดังกังวานและมีไม้ตีกลองหนึ่งคู่ หรือสองอันทำจากไม้ด้านหนึ่ง จะเอาผ้าพันไว้สำหรับตีกลอง ส่วนด้านที่ไม่มีผ้าห่อใช้สำหรับจับกลองม้งนี้จะใช้เมื่อประกอบพิธีงานศพ การปล่อยผีหรือปลดปล่อยวิญญาณ เท่านั้น

 

ความต้องการที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต

  1. อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สวนสาธารณะบริเวณสนามหน้าศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา
  2. พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ภายในศูนย์ราชการอำเภอกัลยาณิวัฒนา

    ภาคผนวก

     

    รายชื่อผู้ทูลเกล้าถวายเงิน กองทุนพระราชทาน

    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

    1.

    2.

    3.

    4.

    ฯลฯ

    –     ประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

    –     คณะผู้จัดทำหนังสือที่ระลึก

     

    ฯลฯ

 

ำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน