วันเสาร์, 18 พฤษภาคม 2567

ผู้บริหารภาคเหนือตอนบนให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการด้านคุณธรรม

Spread the love

ผู้บริหาร 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการด้านคุณธรรมในวันที่สองอย่างคับคั่ง

 

วันที่สองของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหาร 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนของสำนักงาน ก.พ. ได้นำประเด็นระบบพิทักษ์คุณธรรม รวมทั้งกลไกการรวมกลุ่มข้าราชการพลเรือนสามัญกับการคุ้มครองคุณธรรมมาให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการรักษาจรรยา วินัย และคุ้มครองระบบคุณธรรม ซึ่งดำเนินการจัดโดยสำนักงาน ก.พ. ในวันนี้ (21 ธ.ค.55) ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส  จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นวันที่สองของการจัดประชุม ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการภูมิภาค หัวหน้ากลุ่มบริหารทรัพยากรบุคคลของจังหวัดและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 300 คน จาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ให้ความสนใจเข้ารับฟังการบรรยายจากวิทยากรอย่างคับคั่ง โดยภาคเช้าเป็นการบรรยายในหัวข้อ “การพิทักษ์ระบบคุณธรรม” โดยนางสาวทัศนีย์ ธรรมสิทธิ์ กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม สำนักงาน ก.พ. ซึ่งได้พูดถึงการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ซึ่งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 279 ซึ่งกำหนดไว้ว่า การพิจารณาสรรหา กลั่นกรอง หรือบุคคลใดเข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือนและการลงโทษบุคคลนั้น จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย โดยระบบคุณธรรม (Merit System) มีหลักการสำคัญที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการบริหารบุคคลตามระบบคุณธรรม 4 หลัก คือ หลักความเสมอภาค (Equality of opportunity) หลักความสามารถ (Competence) หลักความมั่นคง (Security of tenure) และหลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political neutrality) โดยในส่วนของสำนักงาน ก.พง ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ขึ้นมาถ่วงดุลอำนาจกับ สำนักงาน ก.พ. โดยมีอำนาจหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะต่อ สำนักงาน ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ หรือคำสั่งให้ออกจากราชการ (มาตรา 114) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (มาตรา 123) พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรมในกรณีที่ ก.พ.ค. เห็นว่า กฎ ระเบียบ หรือ คำสั่งใดที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้และมุ่งหมายให้ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่สอดคล้องกับระบบคุณธรรมตามมาตรา 42 ให้ ก.พ.ค.แจ้งให้หน่วยงานหรือผู้ออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งดังกล่าวทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไข หรือยกเลิกตามควรแก่กรณี (มาตรา 126) การออกกฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ.2551 และแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ ก.พ.ค.กำหนด เพื่อเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ (มาตรา 31)

ในภาคบ่ายเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในประเด็น “กลไกการรวมกลุ่มข้าราชการพลเรือนกับการคุ้มครองคุณธรรม” โดยมีวิทยากรจากสำนักงาน ก.พ. ร่วมบรรยาย ประกอบด้วย นางนิสากร วรจันทร์  นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ นางธีรนาฏ จตุรธำรง นิติกร และนายพรชัย เมธาภรณ์พงศ์ นิติกรชำนาญการพิเศษ ซึ่งการรวมกลุ่มข้าราชการพลเรือนสามัญนั้น กำหนดจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 64 ซึ่งระบุว่า “ข้าราชการและเจ้าหน้าของรัฐย่อมมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน และความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ….” และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 43 ที่ระบุว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญมีเสรีภาพในการวมกลุ่มตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบประสิทธิภาพในการบริราชราชการแผ่นดินและความต่อเนื่องในการจัดทำบริการสาธารณะ และต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง” โดย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการรวมกลุ่มให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำร่างพระราชกฤษฎีกาการรวมกลุ่มข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ…..ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีมิมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ก็จะมีผลใช้บังคับภายใน 180 วัน

 

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

ขอบคุณ ข่าวจาก  ราตรี  จักร์แก้ว    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

สำนักข่าว

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน