วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

ผวจ.เชียงใหม่จัดประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันปัญหาอุทกภัย

Spread the love

ผวจ.เชียงใหม่จัดประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ พร้อมรับฟังความก้าวหน้าการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าวังตาล

 

ผวจ.เชียงใหม่จัดประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ พร้อมรับฟังความก้าวหน้าการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าวังตาล ซึ่งมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่า 55% โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 เมษายน 2556 ตามสัญญาจ้าง

วันนี้ (17 ก.ย.55) เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง (ฝายท่าวังตาล) อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมรับฟังรายงานความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง (ท่าวังตาล) ซึ่งการก่อสร้างโดยรวมดำเนินการแล้ว 55.51% มากกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ 1%

นายไพบูลย์  จีรเวศน์วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง 2 กรมชลประทาน รายงานว่า โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในแม่น้ำปิงซึ่งดำเนินการก่อสร้างบริเวณฝายท่าวังตาล เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2553 โดยมี บริษัทอิตาเลียนไทย ดีวีลอปเมนท์ จำกัด มหาชน เป็นผู้ก่อสร้างด้วยงบประมาณ 464 ล้านบาทเศษ โดยมีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำชนิดบานเหล็กโค้ง ขนาดบานะบายน้ำกว้าง 12.50 เมตร สูง 6.50 เมตร จำนวน 6 บาน พร้อมระบบควบคุมระดับน้ำอัตโนมัติ มีการก่อสร้างบันไดโจนขนาดกว้าง 3 เมตร ยาวประมาณ 155 เมตร รวมทั้งก่อสร้างอาคารท่อส่งน้ำปากคลอง ขนาด 2 x 2 เมตร จำนวน 3 แห่ง ส่งน้ำให้กับพื้นที่ฝายท่าศาลา ฝายหนองผึ้ง ละ ฝายท่าวังตาล หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาการเกิดอุทกภัยในเขตเมืองเชียงใหม่ ส่งน้ำเข้าระบบลำน้ำเดิม 3 ฝาย คือ ฝายท่าวังตาล ฝายท่าศาลา(พญาคำ) และฝายหนองผึ้ง รวม 23,300 ไร่ รวมทั้งสามารถป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ในกรณีที่เกิดน้ำหลากสามารถระบายได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผลการดำเนินงานจนถึงปัจจุบันมีการขุดดิน 350,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างระบบป้องกันดินพัง ก่อสร้างอาคารประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก 6 ช่องบานประตู และก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง

ด้านผู้แทนสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ รายงานปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำ 150.62 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือร้อยละ 56.84 ของความจุอ่าง ในขณะที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณ 111.48 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 42.39 ของความจุอ่าง ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 12 อ่างมีปริมาณน้ำเกินกว่าร้อยละ 50 ของความจุอ่าง ยกเว้นอ่างเก็บน้ำแม่ตูบ  อ.ดอยเต่า  และ อ่างเก็บน้ำแม่ทะลบหลวง อำเภอไชยปราการ ที่มีปริมาณน้ำในอ่างประมาณต่ำกว่าร้อยละ 50 ของความจุอ่าง ในขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือระบุว่าในปีนี้ตั้งแต่เข้าสู่ช่วงฤดูฝนจนถึงปัจจุบันมีการเกิดพายุเกิดขึ้นเพียง 16 ลูกเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งมีพายุเกิดขึ้นถึง 30 ลูก โดยคาดว่าปีนี้ภาคเหนือจะไม่เกิดพายุขนาดใหญ่พัดเข้า คงมีเพียงฝนตกหนักจากหย่อมความกดอากาศที่พาดผ่านเท่านั้น

รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีของปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศในขณะนี้สร้างความเสียหายและเกิดความไม่เข้าใจของประชาชนในพื้นที่เนื่องจากภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงของสถานการณ์น้ำที่สามารถป้องกันได้ของภาครัฐ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรมีการแจ้งสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจ้งถึงความสามารถในการป้องกันน้ำได้ของจังหวัด เพื่อให้ประชาชนได้วางแผนการอพยพทรัพย์สินได้ทัน ซึ่งจะทำให้ลดความเสียหายลงได้เป็นอย่างมาก และคาดว่าประชาชนจะเข้าใจสถานการณ์มากกว่าการปิดบังข้อเท็จจริงซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมาก็จะทำให้ไม่สามารถจะช่วยเหลือตนเองได้ ส่วนผลการศึกษาวิจัยโครงการจัดทำระบบเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือภัยน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนเมืองจังหวัดเชียงใหม่ตามโครงการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเพื่อรับมือน้ำท่วม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลแผนที่ทั้งแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ สำหรับเตรียมความพร้อมในการดำเนินการพัฒนาระบบประเมินความรุนแรงของเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนเมืองเชียงใหม่ สำหรับการวางแผนการอพยพ การรายงานสรุปความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ด้วยระบบฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศออนไลน์ เพื่อตอบสนองการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับผู้บริหาร หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน โดยการดำเนินการนั้นได้มีการจัดทำระบบพยากรณ์ระดับน้ำท่วมของแม่น้ำปิงล่วงหน้าในพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่ จัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนเมืองเชียงใหม่ สำหรับการวางแผนรับมือน้ำท่วม จัดทำหลักเตือนระดับน้ำท่วมเพื่อการเตือนภัยสำหรับชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มเติมอีก 200 หลัก จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 130 หลักในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่นำมาใช้ในการป้องกันน้ำท่วม ลักษณะเป็นเสาคอนกรีตสูง 1.40 เมตร ที่แสดงค่าระดับน้ำที่จะท่วมแต่ละพื้นที่ โดยให้ประชาชนรับฟังข่าวและผลการพยากรณ์ระดับน้ำปิงล่วงหน้าที่สถานีวัดน้ำ P.1 สะพานนวรัฐ จากหน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติและ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะรายงานให้ทราบตลอดในช่วงการเกิดภาวะน้ำท่วม เมื่อทราบค่าระดับน้ำที่จะเกิดที่สถานีวัดน้ำดังกล่าวแล้วให้นำตัวเลขค่าระดับน้ำของแม่น้ำปิงนั้นมาเทียบกับตัวเลขที่อยู่ที่เสาแสดงระดับน้ำ ก็จะทราบความสูงของระดับน้ำที่จะท่วมบริเวณที่มีหลักวางอยู่ ทำให้ประชาชนสามารถวางแผนป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนได้ทัน นอกจากนั้นยังจัดทำระบบประเมินสภาพความเสียหายและความรุนแรงของเหตุการณ์น้ำท่วม  จัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อเตรียมการรับมือน้ำท่วมเชื่อมโยงใช้งานผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (GIS Server) ของจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำชุดเตือนภัยน้ำท่วม 4 แห่งในเขตเมืองเชียงใหม่ ติดตั้งกล้องวงจรปิด 7 จุดเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ จัดทำระบบโทรมาตรขนาดเล็ก 26 แห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน รวมทั้งจัดทำคู่มือเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมให้ทางเทศบาล  นครเชียงใหม่นำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อศึกษาด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มีความเห็นสอดคล้องกับ รศ.ชูโชค ฯ ในประเด็นของการประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบถึงสถานการณ์น้ำ และศักยภาพของแนวป้องกันน้ำที่สามารถรับได้เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมในการวางแผนอพยพกรณีเกิดวิกฤตน้ำที่มีปริมาณมากเกินกว่าที่จะสามารถป้องกันได้ โดยขอความร่วมมือสื่อมวลชนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากข้อมูลหลักเตือนระดับน้ำที่ติดตั้งในพื้นที่ เพื่อวางแผนอพยพต่อไป

 

สำนักข่าว

Cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน