วันอาทิตย์, 5 พฤษภาคม 2567

ผลสำรวจความพึงพอใจชาวเชียงใหม่พบว่ามีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติดมากขึ้น

Spread the love

ผลสำรวจความพึงพอใจชาวเชียงใหม่พบว่ามีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติดมากขึ้น

ผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนชาวเชียงใหม่ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดพบว่ามีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหายาเสพติดมากขึ้นกว่าปี 2554

นายธานินทร์  สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากนโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเพสติดเป็นประเด็นด้านความมั่นคงของชาติที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญตลอดมา ซึ่งมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประเทศชัดเจน โดยมีจังหวัดเป็นกลไกสำคัญที่จะร่วมผลักดันการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกพื้นที่ของประเทศ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลที่กำหนดได้ คือ ปัญหายาเสพติดหมดไปจากประเทศไทย หรือมีอยู่ในระดับเบาบาง หรือในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและการดำเนินชีวิต ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องและอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งให้มีการติดตามประเมินสถานการณ์ปัญหายาเสพติดและผลการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมอบหมายให้สำนักงานสถิติจังหวัดเชียงใหม่สำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำผลการติดตามประเมินสถานการณ์ปัญหายาเสพติดดังกล่าวเป็นข้อเสนอแนะให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ และนำไปใช้ในการวางแผนการดำเนินงานและกำหนดยุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันต่อไป

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนโดยสำนักงานสถิติจังหวัดเชียงใหม่นั้น ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ โดยออกสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 20 กันยายน 2555 โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสัมภาษณ์ประชาชน จำนวน 500 ตัวอย่าง ซึ่งกระจายข้อมูลตามเพศ อายุและสถานภาพการทำงาน โดยมีผลการสำรวจ ดังนี้

1. การเคยพบเห็นหรือรับรู้สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 57.0 ตอบว่าเคยพบเห็น/รับรู้ ผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ร้อยละ 43.0 ตอบว่าไม่เคยพบเห็น/เคยรับรู้

ด้านผู้ค้า/ผู้ผลิตยาเสพติด พบว่าร้อยละ 27.8 เคยพบเห็น/เคยรับรู้ ผู้ค้า/ผู้ผลิตยาเสพติด ในขณะที่ร้อยละ 72.2 ตอบว่า ไม่เคยพบเห็น/ไม่เคยรับรู้

ด้านแหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติด พบว่าร้อยละ 36.6 เคยพบเห็น/เคยรับรู้ แหล่งมั่วสุมเสพยาเสพติด ส่วนร้อยละ 63.4 ตอบว่า ไม่เคยพบเห็น/ไม่เคยรับรู้

ด้านแหล่งมั่วสุมค้ายาเสพติด พบว่าร้อยละ 17 เคยพบเห็น/เคยรับรู้ ส่วนร้อยละ 83.0 ตอบว่าไม่เคยพบเห็น/ไม่เคยรับรู้

ด้านเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พบว่าร้อยละ 6.4 เคยพบเห็น/เคยรับรู้ ในขณะที่ร้อยละ 93.6 ตอบว่าไม่เคยพบเห็น/ไม่เคยรับรู้

2.การเคยพบเห็นหรือรับรู้ถึงแหล่งมั่วสุมยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 34.2   ประชาชนรับรู้ว่าในบริเวณบ้านพักอาศัยมีแหล่งมั่วสุมยาเสพติด ร้อยละ 32.2 ตอบว่าไม่มี ร้อยละ 33.6 ตอบว่า ไม่ทราบ

การพบเห็นหรือรับรู้ถึงแหล่งมั่วสุมยาเสพติดในศาลาประจำหมู่บ้าน/สวนสาธารณะ ร้อยละ 25.8 ตอบว่าเคยพบเห็น/รับรู้ ร้อยละ 42.2 ไม่มี และร้อยละ 32.0 ตอบว่าไม่ทราบ

การพบเห็นหรือรับรู้ถึงแหล่งมั่วสุมยาเสพติดในกระท่อม/เพิงพักมีแหล่งมั่วสุมยาเสพติด โดยร้อยละ 21.2 ตอบว่าเคยพบเห็น ในขณะที่ร้อยละ 46.6 ตอบว่าไม่มี และอีกร้อยละ 32.2 ตอบว่าไม่ทราบ

3.การเคยพบเห็นหรือรับรู้ว่ามีหน่วยงาน/กลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนที่พักอาศัย ผลสำรวจพบว่าประชาชนร้อยละ 90.4 รับรู้ว่าแกนนำชุมชน/กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน/คณะกรรมการหมู่บ้าน/คณะกรรมการชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน ร้อยละ 4.6 ตอบว่าไม่มีและร้อยละ 5.0 ตอบว่าไม่ทราบ

สำหรับคำถามที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนที่พักอาศัยหรือไม่ ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 81.2 ตอบว่ามี ส่วนร้อยละ 12.6 ตอบว่า ไม่มี และร้อยละ 6.2 ตอบว่าไม่ทราบ

ด้านการมีส่วนร่วมของทหารในการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนที่พักอาศัย พบว่าประชาชนร้อยละ 83.0 ตอบว่ามี ร้อยละ 8.4 ตอบว่าไม่มี และอีกร้อยละ 8.6 ตอบว่าไม่ทราบ

 

ผลสำรวจความรุนแรงด้านผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้าน พบว่าประชาชนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.2 ตอบว่ามีระดับความรุนแรงมากที่สุด ร้อยละ 3.2 ตอบว่ารุนแรง ร้อยละ 14.8 ตอบว่าค่อนข้างรุนแรง    ร้อยละ 18 ไม่เคยรุนแรง 12.2 ไม่รุนแรงร้อยละ 26.2 ไม่มีปัญหาร้อยละ 15.8 และไม่ทราบ/ไม่ตอบร้อยละ 9.8

ด้านความพึงพอใจในการทำงานของหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่ (ภาครัฐ) เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน พบว่าประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความพึงพอใจปานกลางหรือคิดเป็นร้อยละ 52.8 ในขณะที่ร้อยละ 41.8 มีความพึงพอใจในระดับค่อนข้างมากต่อการดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้านการปราบปราม และร้อยละ 38.8 อยู่ในระดับค่อนข้างมากสำรับการดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้านการป้องกัน ร้อยละ 36.4 มีความพึงพอใจในระดับค่อนข้างมากต่อการดำเนินการด้านการบำบัดฟื้นฟู

สำหรับผลการสำรวจความพึงพอใจต่อการดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยภาพรวม พบว่าประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ร้อยละ 41.0 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมาก รองลงมาอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 22.2 ระดับมากร้อยละ 14.4 ระดับค่อนข้างน้อยร้อยละ 14.8 ระดับพอใจมากที่สุดร้อยละ 3.8 ระดับน้อยร้อยละ 1.2 และระดับไม่พอใจร้อยละ 0.8

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลสำรวจระดับความพึงพอใจของประชาชนชาวเชียงใหม่ต่อการดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยภาพรวม เปรียบเทียบระหว่างปี 2554 กับ ปี 2555 ว่า ประชาชนมีความพึงพอใจในการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในปี 2555 มากกว่าปี 2554 โดยเฉพาะความพึงพอใจในระดับค่อนข้างมากซึ่งมีจำนวนถึงร้อยละ 41.6 จากเดิมร้อยละ 31.0 ส่วนในระดับมากที่สุดในปี 2555 มีจำนวน 3.8 ในขณะที่ปี 2554 มีจำนวนร้อยละ 3.2

 

ขอบคุณข่าวจาก ราตรี  จักร์แก้ว       สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

สำนักข่าว 

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน