วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

ประชุมคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ OTOP

Spread the love

จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ OTOP

       จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Based OTOP : KBO) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือการขับเคลื่อนกิจกรรมตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ด้านการจัดทำแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตชุมชน และ กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้ผลิตชุมชนโดยเครือข่ายองค์ความรู้ KBO

วันนี้  (14 ม.ค.57) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่  นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Based OTOP : KBO) จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือการขับเคลื่อนกิจกรรมตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ด้านการจัดทำแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ผลิตชุมชน และ กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้ผลิตชุมชนโดยเครือข่ายองค์ความรู้ KBO ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนสำคัญของรัฐบาลที่กำหนดให้มีเครือข่ายองค์ความรู้ ความรู้ (Knowledge-Based OTOP : KBO)  จังหวัด โดยการเชื่อมต่อและบูรณาการการพัฒนากับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนองค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นศูนย์รวมของแหล่งความรู้เกี่ยวกับกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการผลิต การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ทำให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน

นายสมควร  ช่อมาลี พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมกระบวนการเครือข่ายองค์ความรู้ Knowledge-Based OTOP : KBO ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า มีแนวคิดที่ใช้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และ การพัฒนาคนต้องใช้ความรู้ เพื่อสร้างการเรียนรู้ และผลการเรียนรู้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ระดับปัจเจกบุคคล กลุ่มคนและเครือข่าย โดยในปีงบประมาณ 2557 ได้กำหนดกิจกรรมฝึกอบรมผู้ผลิต / ผู้ประกอบการ OTOP ด้านการพัฒนาศักยภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถพัฒนาต่อยอดด้วยการเพิ่มคุณค่าของสินค้า และบริการ (Value Creation) โดยใช้องค์ความรู้ และนวัตกรรม ผนวกกับจุดแข็งในด้านความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และ วิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบล้านนา กำหนดกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 300 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 1,181 ราย แยกเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ 94 กลุ่ม และผู้ประกอบการ 206 ราย  โดยกำหนดกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การอบรมตามหลักสูตรพัฒนาผลิตภัณฑ์ 5 วัน โดยสองวันแรกของการอบรมจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้แก่ การผลิตสินค้าและบริการสร้างสรรค์สู่ AEC และแนวคิดทางธุรกิจสำหรับผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์สู่ AEC และด้านอัตลักษณ์ ได้แก่ ต้นตอจากวัฒนธรรม อัตลักษณ์สู่ผลิตภัณฑ์ E-Commerce และการสร้างแรงบันดาลใจ วันที่ 3 และ 4 เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาภาพลักษณ์สินค้าด้วยการออกแบบทางวัฒนธรรม และการอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ Prototype หรือการจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ของสินค้า OTOP  ส่วนวันสุดท้ายเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการและการประกวด KBO CM CONTEST เพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์ 1 ผลิตภัณฑ์เป็นตัวแทนจังหวัดส่งเข้าประกวดในระดับประเทศต่อไป ซึ่งในปี 2556 ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ได้ส่งผลิตภัณฑ์กลุ่มตุ๊กตาปั้นด้ายอำเภอพร้าว เป็นตัวแทนเข้าร่วมประกวดในระดับประเทศ ซึ่งไม่ได้รับรางวัลเนื่องจากคณะกรรมการตัดสินพิจารณาเห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าประกวดไม่ได้แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของความเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ส่วน OTOP ที่ชนะเลิศระดับประเทศ ได้แก่ผลิตภัณฑ์จากต้นกล้วยของจังหวัดอ่างทอง รองชนะเลิศ อันดับ 1 เป็นผลิตภัณฑ์จากเศษไม้ และจากดินปั้นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากจังหวัดอ่างทองเช่นกัน ส่วนรองชนะเลิศ อันดับ 2 เป็นผลิตภัณฑ์จากลำไยของจังหวัดลำพูน ทั้งนี้คณะกรรมการเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Based OTOP : KBO) จังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอแนะให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้นำหลักเกณฑ์การประกวดระดับประเทศในปี 2557 มาพิจารณาในการคัดสรรและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมประกวดด้วย

ด้านผู้แทนผู้ประกอบการ OTOP จังหวัดเชียงใหม่ ได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP จังหวัดเชียงใหม่ว่า ควรมีการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยการสร้างคัสเตอร์แบรนด์ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ เพื่อสามารถบริหารจัดการในกลุ่มเองซึ่งจะก่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ และสามารถนำออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการนำภูมิปัญญาไทยสู่สากลต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าภาครัฐมีข้อจำกัดในการที่จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ในพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งหมดซึ่งต้องอาศัยงบประมาณมาดำเนินการด้วย จึงขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาในผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผ่านการพัฒนาในปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นเห็นว่าควรมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่สวยงาม ทันสมัยและสามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจและซื้อสินค้าได้

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน