วันเสาร์, 18 พฤษภาคม 2567

ทีวีดิจิตัล สงครามแย่งชิงคนดู!

Spread the love

อุตสาหกรรมโทรทัศน์ยุคดิจิตอล  สงครามแย่งชิงคนดู!

 

อุตสาหกรรมโทรทัศน์ยุคดิจิตอลจะเป็นทั้งวิกฤต และโอกาสของคน ทำสื่อ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ในปลายปีนี้จะมีโทรทัศน์เกิดขึ้นอีกอย่างน้อย 48 ช่อง ที่จะก้าวเข้ามา “แย่งฐานผู้ชมคนดูกว่า 64 ล้านคน” ในประเทศไทยสงครามแย่งชิงคนดูกำลังจะเกิดขึ้น และมี 3 ประเด็นหลัก ที่ชี้วัดศึกนี้

(1) เนื้อหา : ความน่าสนใจและการดูแบบเมื่อไรก็ได้

จะกลายเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า “เนื้อหาเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด” (Content is the king!) นั่นเป็นเพราะว่า ต้นทุนของการผลิตโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล จะลดลงถึงจุดที่ต่ำในระดับที่ผู้ ประกอบการระดับกลาง (ทุนการผลิต 1-5 ล้านบาท) สามารถผลิตรายการดีๆ ได้ โดยใช้อุปกรณ์ไม่มาก ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตเนื้อหาในระบบยูทิวบ์ ที่สามารถถ่ายทำคลิปวิดีโอง่ายๆ ด้วยโทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายภาพได้ในระดับความคมชัดสูง และนำมันไปตัดต่อเรียบเรียงเป็นรายการในเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และนำไปอัปโหลดเพื่อออกอากาศใน ระบบยูทิวบ์สตรีมมิ่ง หรือจะเป็น On-demand (สะดวกดูเมื่อไหร่ก็ได้ ตามใจคุณ) ในระบบโทรทัศน์ดิจิตอล ที่เน้น “คลังรายการ มากกว่าผังรายการ”

อีกเหตุผลหนึ่งคือ “ดารา/ตัวแสดง/คนดัง” จะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการกำหนดความน่าสนใจหรือความสำเร็จเสมอไป เพราะแนวคิดโทรทัศน์ดิจิตอลนี้กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับแนวคิด โทรทัศน์สื่อสังคม (Soci al TV) ที่คนธรรมดาก็กลายเป็นดารา คนดังได้เช่นเดียวกัน

และโทรทัศน์ก็ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะค่ายใหญ่ ช่องใหญ่เช่นเดิมอีกต่อไป แต่เกิดบริษัทลูกย่อยๆ อีกมากมาย ที่จะเป็นช่องทางที่หลากหลายเพื่อระบายสินค้า ดารา คนดัง คนธรรมดาที่น่าสนใจ ก็จะกลายเป็น “ตัวนำพาเนื้อหา” นั้นๆ ไปยังผู้ชมได้ไม่ยาก

จะไม่มีค่ายใหญ่ แต่จะมีค่ายกลางๆ และเล็กๆ (ซึ่งค่ายเล็กๆ เหล่านี้จะอยู่ภายใต้ค่ายใหญ่ๆ อีกที)

เพราะต้นทุนการผลิตสื่อโทรทัศน์ที่ต่ำลง ช่องทางเลือกที่หลากหลาย ราคาที่ใช้จ่ายเพื่อการเข้าถึงจะถูกและต่ำลงเสมือนดูฟรีและค่ายเล็ก ความน่าสนใจ และคุณภาพรายการ จะถูกตัดสินกันที่เนื้อหาเพียงอย่างเดียว!

(2) คนดู : เป้าหมายเฉพาะกลุ่ม-ลงลึกมากกว่าเดิม

การกำหนดเป้าหมายคนดูโทรทัศน์ในวันหน้า จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบจำเพาะเจาะจงมากขึ้น เป็นกลุ่มตลาดแบบเล็กมากขึ้น (Niche) ยังลงลึกถึง “ค่านิยม วิถีชีวิต ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ชุดประสบการณ์ ความสนใจเฉพาะทาง ลักษณะทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นการตอบสนองและแม่นยำในการกำหนดฐานผู้ดู ผู้ชม ที่หวังผลแม่นยำ และนำไปสู่การวางแผนการเผยแพร่ตามช่องทางสื่อที่เหมาะสมได้มากกว่าเดิม

โทรทัศน์ดิจิตอลจะเข้ามาสร้างความแตกต่างในมิติฐานคนดูได้อย่างไร? เป็นคำถามที่น่าตอบมากที่สุด!

ตัวเลขจากบริษัทเอซีนีลเส็น ประเทศไทยมีฐานผู้ชม ปี 2556 ที่อายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป มีอยู่จำนวน 64,610,000 หรือ หกสิบสี่ล้านคน พบว่า ช่อง 3 กับ 7 สามารถกวาดฐานผู้ชมไปได้มากกว่า 70-80% เฉพาะฟรีทีวีด้วยกันทั่วประเทศ, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มีส่วนแบ่งคนดูเพียง 4.9% เท่านั้น, เมื่อเทียบกับช่อง 5 ซึ่งมี 6.9%, ช่อง 9 มี 8.6%, ช่อง 3 มีส่วนแบ่งมากที่สุด คือ 40.8%, ช่อง 7 รองลงมา มี 37.6% และน้อยที่สุด คือ ช่อง NBT มี 1.2%

ปัจจุบันฐานผู้ชมโทรทัศน์ดาวเทียมนั้น ทะลุกว่า 60-62% ของประชากรประเทศเข้าไปแล้ว, โทรทัศน์ฟรีทีวีอยู่ที่ 95%+ ขึ้นไป และพฤติกรรมคนดูปัจจุบัน ก็เริ่มย้ายฐานการรับชมจากฟรีทีวีไปที่ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีมากขึ้น ด้วย 3 เหตุผลหลักคือ (1) เนื้อหารายการเฉพาะกลุ่ม/ทางเลือกในช่องฟรีทีวีที่ไม่มี (2) ต้นทุนราคาที่ต่ำลง เพราะบางค่าย มีเพียงแค่ค่าติดตั้ง และไม่มีค่าบริการรายเดือน หรือมี ก็อยู่ในระดับราคาที่จ่ายได้ และ (3) การรับชมมีความยืดหยุ่นกว่า มีทางเลือกมากกว่าฟรีทีวี

และเหตุผลสำคัญคือ คุณภาพรายการโทรทัศน์ที่เริ่มจะไม่สร้างความแตกต่างกันแล้ว ทั้งในฟรีทีวีและทีวีดาวเทียมเจ้าใหญ่ๆ

(3) แพลตฟอร์ม : อิสระ ข้ามข้อจำกัด

หากยักษ์ในฟรีทีวี คือ ช่อง 3 กับ 7 แล้ว เช่นนั้นยักษ์ในช่องทีวีดาวเทียม ก็คือ ทรู และซีทีเอช ส่วนช่องอาร์เอส และแกรมมี่ ก็เป็นดาวรุ่งที่ควรจับตามอง เพราะด้วยต้นทุนสื่อที่มีอยู่แต่เดิมของตนเอง

ด้านสื่อยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ ก็ยิ่งควรจับตามอง เมื่อประกาศ ศึกชัดเจนกับพี่เบิ้มรายการข่าวจากช่อง 3 ในระบบฟรีทีวี ดาวรุ่งจึงกลายเป็นผู้มาใหม่ และดาวโรยก็คือช่องเก่าที่มีอยู่แล้ว

ข้อมูลจากเอซีนีลเส็น ที่ชี้ว่า ช่วงวันจันทร์-ศุกร์ คนจะดูฟรีทีวีมากในช่วงเวลา ตี 4-9 โมงเช้า และจะย้ายมาดูเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ตั้งแต่ 9 โมงเช้าเรื่อยไปตลอดทั้งวัน จนกระทั่ง 5 โมงเย็น ก็จะกลับมาชมฟรีทีวีอีกครั้งในช่วงไพรม์ไทม์ จนกระทั่งถึงเวลาหลังห้าทุ่ม เที่ยงคืน จึงอาจจะกลับไปดูช่องทีวีดาวเทียมอีกครั้งหนึ่ง

ข้อมูลนี้บอกว่าผู้คนไม่ยี่หระที่จะดูทีวีในสองระบบพร้อมๆ กัน จุดนี้แสดงให้เห็นว่าไพรม์ไทม์ของฟรีทีวี (04.00-09.00 น. และ 17.00- 23.00 น.) ยังเป็นจุดแข็งที่ทีวีดาวเทียมเจาะไม่เข้า และช่วงเวลาทำเงินของทีวีดาวเทียม ในการสะสมฐานคนดู ยังมีโอกาส เพราะช่วงกลางวันนั้น พฤติกรรมคนดูโทรทัศน์จะยาวนานกว่า แต่ระดับความตั้งใจของการดู โทรทัศน์นั้น “ต่ำกว่ามาก” เพราะเป็นการเปิดดูเป็นเพื่อน ไม่ได้ตั้งใจดู มาก หรือพฤติกรรมแบบ “Passive Audience” คือทำกิจวัตรอื่นๆ ไปด้วยระหว่างการดู เช่น อยู่ที่บ้าน ทำงาน ค้าขาย หรืออยู่ที่บ้านเฉยๆ ด้วยกิจวัตรพักผ่อน

แต่สำหรับพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ในช่วงเช้าก่อนออกไปทำงานและช่วงเย็น หลังเลิกงาน หรือกลับมาที่บ้าน การดูรายการโทรทัศน์จะเป็นไปในลักษณะเชิงรุกมากกว่า (Active Au dience) คือ ผู้ชมดูเพราะต้องการ มาดู อยากมาดู เพื่อการพักผ่อน ต้องการเติมข้อมูลและความบันเทิงเข้าสมองและจิตใจ!

มูลค่าตลาดเม็ดเงินโฆษณาจึงสูงกว่ามาก เพราะเป็นทั้งช่วงที่คนดูโทรทัศน์มากที่สุด และเป็นช่วงที่คนเปิดใจรับชมโทรทัศน์อย่างตั้งใจกว่า!

ถ้าเรารู้ว่า จำนวนครัวเรือนไทยมี 22 ล้านครัวเรือน จากจำนวนประชากร 64.6 ล้านคน โดยสื่อโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอนาล็อก ถือเป็นสื่อหลักที่ผู้ชมไทยเข้า ถึงและรับชม แบ่งเป็นกรุงเทพฯ จำนวน 9.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 15% ของจำนวนประชากร และพื้นที่ในเขตเมือง จำนวน 14.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 22.1% ของจำนวนประชากร และพื้นที่ชนบท จำนวน 40.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 62.9% ของจำนวนประชากร

ตลาดเดิมที่ถูกจับจอง ก็ต้องปลดล็อกด้วย “การสร้างฐานผู้ชมใหม่ขึ้นเอง” กลยุทธ์ของแกรมมี่ในการสร้างกล่องจีเอ็มเอ็ม กับของซันสตาร์ของค่ายอาร์เอส จึงเป็นวิธีการสู้ศึกแย่งชิงคนดู ด้วยการล่อผู้ชมมาที่ตลาดเนื้อหาแบบ “ฟรีทูแอร์” ด้วยการบอกว่าดูฟรีไม่มีรายเดือน เสียแต่ค่ากล่องแรกเข้าเท่านั้น แต่ในระยะนี้และถัดไป คือ การกำหนดเนื้อหาที่ต้อง “จ่ายเพื่อดู” (เพย์ทีวี) หรือใช้กลยุทธ์การเติมเงินเพื่อดูรายการ

และกล่องใครก็กล่องมัน ฐานลูกค้าคนละกลุ่ม คนละแพลตฟอร์มถือเป็นโชคดีของผู้ชมในระบบเสรีสื่อที่ทำให้มีช่องทางเลือกมากมายหลากหลายขึ้น แต่ความน่ากลัวอยู่ที่สภาวะความล้มเหลวของตลาด (Market Failure) ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการรายเล็กที่สาย
ป่านเงินทุนไม่ยาวนัก อาจอยู่ไม่รอดในตลาดที่จะแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น วิธีอยู่รอดคือการแอบอิงกลุ่มทุนใหญ่ ส่วนตลาดระดับกลาง ยิ่งยากที่จะอยู่ เพราะยักษ์ใหญ่จะเล่นกลยุทธ์แพรวพราวและทุ่มมากขึ้นเพื่อรักษาฐานผู้ชมเดิมเอาไว้

อย่าลืมว่า เราไม่ได้แข่งกันเฉพาะที่เนื้อหาเท่านั้น ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ ยินดีลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มช่องทางของตนเองในราคาถูก ด้วยการสร้างกล่องรับชมรายการโทรทัศน์ เพื่อกวาดผู้ชมเข้าถ้ำและต่อยอดพ่วงเข้ากับโปรแกรมรายการดีๆ อีกร้อยๆ ช่อง สำหรับสื่อโทรทัศน์ที่มีเพียงหนึ่งช่อง ช่องเดียวแล้ว เป็นเกมการต่อสู้ที่โดดเดี่ยวยิ่งนัก!

Content is the king, and the queen is platform!.

สงครามชิงคนดูเริ่มแล้วและเริ่มเร็ว ขึ้นอยู่กับความพร้อม และกำลังของแต่ละช่องว่าจะยืนหยัดต่อสู้ในเกมที่ไม่มีที่ยืนให้กับผู้แพ้อีกต่อไปได้อย่างไร?

 

 

ขอบคุณที่มา //www.facebook.com/photo.php?fbid

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ