วันอาทิตย์, 28 เมษายน 2567

คนอเมริกันติดใจ แมลงอร่อยชวนเกษตรกรไทยลุยส่งออก

Spread the love

scoop213

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS 

คนอเมริกันติดใจ แมลงอร่อยชวนเกษตรกรไทยลุยส่งออก

       ท่านผู้อ่านครับ ทราบกันดีแล้วว่า แมลงเป็นอาหารที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็นตั๊กแตนทอด จิ้งหรีด แมงกระชอน แมงมัน แมงกินูน กุดจี่ หนอนไม้ไผ่ ฯลฯ คนไทยบริโภคกันมานาน แต่นับจากนี้แมลงจะกลายเป็นสินค้าส่งออกดาวรุ่ง ป้อนผู้บริโภคอเมริกาซึ่งพวกเขาบอกมว่าแมลงเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง

เรื่องนี้ คุณมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ ว่า เดิมที ตลาดสินค้าแมลงเพื่อการบริโภคเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ในตลาดต่างประเทศ แต่เป็นตลาดเฉพาะขนาดเล็กและอยู่ในระยะเริ่มต้น มีการส่งออกไปหลายประเทศ โดยในปี 2558 มูลค่าตลาดประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าการบริโภคแมลงเป็นอาหาร มีโอกาสเติบโตสูงมากโดยเฉพาะตลาดในสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมอาหารที่ทำจากแมลง สามารถขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ทำจากแมลง เนื่องจากไทยมีแมลงที่สามารถรับประทานได้มากกว่า 300 สายพันธุ์ และกว่าร้อยละ 80 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการบริโภคแมลงเป็นอาหาร การเกษตรและการค้าแมลงเพื่อการบริโภคจึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักธุรกิจรายย่อยในประเทศไทย ที่มีเงินทุนไม่มากและต้องการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ส่งออกทั้งของไทยและประเทศอื่นได้เริ่มมีการติดต่อการค้ากันแล้ว

กลยุทธ์หนึ่งของการตลาดสินค้าแมลงในสหรัฐฯ คือ เน้นการนำเสนอแมลงในฐานะอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีรสชาติอร่อย ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความเต็มใจบริโภคมากยิ่งขึ้น อาหารจากแมลงที่ปัจจุบันมีการเสนอให้ลูกค้าในสหรัฐฯ มีหลากหลายและแปลกใหม่ เช่น ทาโก้ทำจากตั๊กแตน ดักแด้ตัวหนอนไหมทอด โปรตีนบาร์ที่ทำจากแมลง แป้งจิ้งหรีด คุกกี้ที่ทำจากแป้งจิ้งหรีด จิ้งหรีดเคลือบช็อกโกแลต นอกจากนี้ยังนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม เช่น ตากีล่า เป็นต้น

การนำแมลงมาปรุงแต่งจนผู้บริโภคไม่เห็นรูปลักษณ์ของตัวแมลง ด้วยการป่นเป็นแป้ง เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นเมนูอาหารใหม่ๆ ที่มีคุณค่าทางอาหาร มีรสชาติดี และจำหน่ายได้ในราคาดี โดยแป้งจิ้งหรีดสำหรับการบริโภคมีราคาขายส่งในตลาดสหรัฐฯ ราว 30-40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปอนด์ และเมื่อผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับการบริโภคแล้ว จึงค่อยๆ ปรับสูตรอาหารโดยนำแมลงทั้งตัวมาปรุง และใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามดึงดูดใจ

                             ทั้งนี้ ผู้บุกเบิกฟาร์มเลี้ยงและการบริโภคแมลงเป็นอาหารในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ได้ศึกษาหาข้อมูลจากประเทศไทยก่อน และนำไปสร้างธุรกิจในสหรัฐฯ เช่น ผู้ก่อตั้งบริษัท บิ๊ก คริกเก็ตท์ ฟาร์ม เริ่มทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดภายหลังจากได้ทดลองรับประทานแมลงในประเทศไทย

                    แต่ การนำแมลงมาใช้ผลิตเป็นอาหารในสหรัฐฯ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุข้อกำหนด หรือกฎ กติกา ว่า แมลงที่นำมาใช้เพื่อการบริโภคเป็นอาหารจะต้องเป็นแมลงที่ถูกเลี้ยงมาเพื่อเป้าหมายเป็นอาหารสำหรับมนุษย์เท่านั้น และต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของการนำเข้าทุกประการ

                และขอย้ำว่าแมลงที่ถูกเลี้ยงเพื่อการบริโภคของสัตว์หรือที่จับจากธรรมชาติไม่สามารถนำมาใช้ในการผลิตอาหารมนุษย์ได้นะครับ

                นำเสนอข่าวนี้เพื่อให้ท่านผู้สนใจ นำไปศึกษาหาลู่ทางในการเพาะเลี้ยงแมลงต่างๆ เพื่อการส่งออก ซึ่งปัจจุบันพบว่าไทยเรามีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในรูปแบบฟาร์ม เพื่อการบริโภคในประเทศ หากว่าส่งออกได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆฝ่าย ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยง ผู้ดำเนินธุรกิจส่งออก ครับผม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก The Quote Online..

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ