วันเสาร์, 4 พฤษภาคม 2567

การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่

Spread the love

การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ ปีงบประมาณ พ.ศ.2556

 

คณะกรรมการ ศพส.จ.เชียงใหม่เห็นชอบแผนปฏิบัติการ ฯ ของจังหวัด ให้สามารถควบคุมหรือลดปัญหาภายในพื้นที่ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเจตนารมณ์ของปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ปี 2556

นายธานินทร์  สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงใหม่ ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 รองรับปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืน ปี 2556 ตามคำสั่ง ศพส. ที่ 23/2555 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ที่กำหนดให้ทุกจังหวัด/อำเภอ ดำเนินการ โดยให้กำหนดเป้าหมายในแต่ละแผนงาน ทั้งเป้าหมายเชิงปริมาณและเป้าหมายเชิงคุณภาพเน้นที่ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบโดยยึดกับหลักสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของจังหวัดเป็นโจทย์ เน้นกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ที่มุ่งลดและควบคุมปัญหายาเสพติดในพื้นที่โดยบูรณาการงบประมาณจากทุกแหล่งในจังหวัด ทั้งงบประมาณจาก ป.ป.ส. งบประมาณส่วนราชการ งบประมาณส่วนท้องถิ่นและงบประมาณจังหวัด เพื่อใช้เป็นงบประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงบูรณาการ ปีงบประมาณ 2556 รวมทั้งสิ้น 11,288,195,300 บาท แยกเป็นงานป้องกันยาเสพติด 4,508,030,300 บาท งานปราบปรามยาเสพติด 3,693,350,400 บาท และงานบำบัดรักษาและฟื้นฟู 3,086,814,600 บาท เปรียบเทียบสัดส่วนงบบูรณาการประจำปี พ.ศ.2556 กับงบประมาณของสำนักงาน ป.ป.ส. โดยเป็นงบท้องถิ่น 2,660,429,000 บาท คิดเป็น 24% งบ ป.ป.ส. 2,464,009,400 บาท คิดเป็น 22%  และงบประมาณจากหน่วยงานอื่น ๆ 6,163,756,900 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 54%

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เพื่อให้การจัดทำแผนปฏิบัติการ ฯ ของจังหวัดสามารถควบคุมหรือลดปัญหาภายในพื้นที่ได้ภายใน 1 ปี ที่ประชุมคณะกรรมการ ศพส.จ.เชียงใหม่ได้กำหนดให้ ศพส.จ. , ศพส.อ. และ        ในแต่ละแผนงานมีการทบทวนสถานการณ์ปัญหา ผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค วิเคราะห์ข้อมูลทั้งด้านสถานการณ์การผลิต การค้า แพร่ระบาด นำเข้า ส่งออก มีการตรวจสอบข้อมูลผู้เสพ/ผู้ค้า ที่ดำเนินการแล้วในปี 2555 ข้อมูลจำนวนผู้มีพฤติการณ์กระทำผิดซ้ำหรือบำบัดรักษาซ้ำ ข้อมูลนักเรียน ป.5-ป.6, โรงงาน/สถานประกอบการ, โรงเรียน/สถานศึกษาที่มีความเสี่ยงต่อปัญหายาเสพติด และพื้นที่เสี่ยงทั้งที่เป็นสถานบริการ สถานบันเทิง หอพัก ร้านเกมส์/อินเตอร์เน็ต และแหล่งมั่วสุม การจำแนกประเภทของหมู่บ้าน/ชุมชนทั้งหมด เป็น 5 ประเภท ได้แก่ หมู่บ้านที่ไม่มีปัญหายาเสพติด  หมู่บ้าน/ชุมชนชายแดน หมู่บ้าน/ชุมชนกองทุนแม่ฯ หมู่บ้าน/ชุมชนที่ผ่านครบ 7 ขั้นตอน และหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหาระดับรุนแรง นอกจากนั้นยังกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานในแต่ละแผนงาน และสภาพปัญหาในพื้นที่ มีเป้าหมายให้สามารถควบคุมและลดปัญหายาเสพติดของจังหวัดโดยสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนด โดยกำหนดห้วงระยะเวลาการปฏิบัติเป็น 4 ไตรมาส ได้แก่ ไตรมาสที่ 1 เน้นให้เป็นระยะการพัฒนาและเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนปฏิบัติการ (Input) เช่น ผู้ประสานงานชุมชน วิทยากรป้องกันกลุ่มเสี่ยง ตำรวจประสานงานโรงเรียนและชุมชน และการปรับปรุงกลไกอำนวยการ ศพส.จ./อ. เป็นต้น โดย      บูรณาการงบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2556 ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานและทุกส่วนจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน และนำไปขับเคลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 90 วันตามที่ นางสาว         ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับโดยเน้นในเรื่องชุมชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้มีการเปิดยุทธการชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืนที่โรงเรียนบ้านโป่งน้อย เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2555       ที่ผ่านมา โดยกำชับให้นำแนวทางดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด  มีการจัดตั้งศูนย์ ฯ และมอบหมายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 90 วัน นำผู้เสพ ผู้เสี่ยงและผู้กลับใจออกมาจากชุมชนโดยเปิดเผยตัวมาเข้ากระบวนการซึ่งจะทำให้ชุมชนเกิดความอบอุ่นใจที่ได้ลูกหลานกลับคืน โดยให้ผู้รับผิดชอบในแต่ละแผนงานจัดทำแผนปฏิบัติการที่จะนำไปสู่กระบวนการสีขาวภายในปี 2556 ได้อย่างไรและมีเป้าหมายอย่างไรบ้าง โดยให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน พฤศจิกายน 2555 นี้

ขอบคุณข่าว จาก ราตรี  จักร์แก้ว  สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

สำนักข่าว

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน