วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

“สายใยรักสองแผ่นดิน” นิทรรศการ ”วันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี”

Spread the love

“สายใยรักสองแผ่นดิน” นิทรรศการ ”วันพระราชชายาเจ้าดารารัศมี”

 

พระประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประสูติ ณ อังคาร เดือน 10 เหนือ (เดือน 8 ใต้) ขึ้น 4 ค่ำ ปีระกา เวลา 03.00น.เศษ ตรงกับวันที่ 26 สิงหาคม พระพุทธศักราช 2416 ที่คุ้มหลวงกลางเมืองนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนยุพราชในปัจจุบัน พระองค์ท่านอุบัติในสกุล ณ เชียงใหม่ เป็นหน่อเนื้อเชื้อพระเจ้าผู้ครองนครทั้งสองฝ่ายตามสายปฐมวงศ์ พระยาสุรวฤาไชยสงคราม (จักรทิพย์)-แม่เจ้าพิมลา  เจ้าฟ้าชายแก้ว-แม่เจ้าจันตา  พระเจ้ากาวิละฯครองนครเชียงใหม่-แม่เจ้าโนจา  เจ้าหลวงเศรษฐี (คำฝั่น)ครองนครเชียงใหม่-แม่เจ้าตาเวย  พระเจ้ากาวิโลรสฯ ครองนครเชียงใหม่-แม่เจ้าอุสาห์ฯ  เจ้าราชวงศ์ (คำคง)นครเชียงใหม่-แม่เจ้าคำหล้า  แม่เจ้าทิพย์เกสร-พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ครองนครเชียงใหม่ มีธิดา คือ พระราชชยาเจ้าดารารัศมี

พระองค์ทรงมีเชษฐ แลเชษฐภคินี ร่วมอุทรเดียวกัน ดังนี้ เจ้าน้อยโตน  เจ้าราชวงศ์(น้อยขัติยะ)  เจ้าคำค่าย  เจ้าแก้วผาบเมือง  เจ้าอินทวโรรสสุริยวงค์(น้อยสุริยะ) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่ 8  เจ้าแก้วนวรัฐ (เจ้าแก้ว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่ 9  เจ้าจอมจันทร์  เจ้านางคำห้าง  และเจ้านางจันทรโสภา

เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาอักษรไทยเหนือไทยใต้ และทรงเข้าพระทัยในขนบธรรมเนียมขัติยประเพณีเป็นอย่างดี เมื่อ พ.ศ.2426 พระชนมายุอย่างเข้า 11 พรรษาเศษ พระบิดาโปรดให้มีพิธีโสกันต์และมีมหกรรมอย่างคึกครื้น คราวนั้นพระยาราชสัมภารากร เป็นข้าหลวงประจำเชียงใหม่ได้ช่วยเป็นธุระในงานโสกันต์ตลอด ภายหลังเมื่อทรงกรุณาโปรดกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรขึ้นมาทรงจัดตั้งตำแหน่งเสนาทั้งหก ก็โปรดเกล้าฯ ตั้งให้นางเต็มเป็น แม่นางกัลป์ยารักษ์ ให้นายน้อยบุญทาเป็น พญาพิทักษ์เทวี ตำแหน่งพี่เลี้ยงทั้งสองคนตั้งแต่ครั้งนั้น

ครั้ง ณ วันจันทร์ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เหนือ ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2428 ปีจอ ได้ตามพระบิดาลงไปเฝ้าทูลละอองธุรลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ แล้วเลยอยู่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ได้โปรดเกล้าฯให้มีการสมโภชเป็นการรองรับด้วย เมื่อประสูติราชธิดาแล้วโปรดเกล้าฯให้เลื่อนถานาศักดิ์เป็นพระสนมเอก ปลาย พ.ศ.2451 คราวเสด็จกลับมาเยี่ยมนครเชียงใหม่ครั้งแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถาปนาพระอิสสริยยศเป็นพระราชชายาฯ พระองค์มีความจงรักษ์ภักดีในพระบาทสมเด๗พระเจ้าอยู่หัว และเจ้านายในราชจักรีวงศ์ และได้ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นยังทรงปฏิบัติให้เป็นที่ทรงเมตตาของเจ้านายในราชจักรีวงศ์ และเป็นที่รักใคร่นับถือของเจ้าจอมอื่นๆ ตลอดจนข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั่วไปอีกด้วย เหตุทั้งนี้จึงทำให้เจ้านายฝ่ายเหนือมีโอกาสได้สนิทสนมกับเจ้านายในราชจักรีวงศ์ และข้าราชการทั่วไปชั้นหนึ่ง

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2476 ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่ตำหนักสวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้เริ่มประชวนพระปับผาสะพิการกระเสาะกระแสะเรื่อยมา นายแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศในเชียงใหม่เป็นหลายนายกับหลวงสุริยพงศ์ฯ แพทย์กรมรถไฟได้ร่วมมือกันรักษาพยาบาลอย่างสุดฝีมือ พระอาการก็ไม่ดีขึ้น เจ้าแก้วนวรัฐฯจึงได้สั่งซื้อเครื่องเอ็กซเรย์ชนิดย้ายที่ได้จากชะวาส่งมาทางเครื่องบิน รวมทั้งสิ้น 4,200 บาทเศษ มาฉายดูพระปับผาสะ เพื่อเป็นการช่วยเหลือแพทย์ตามแผนปัจจุบัน แม้แต่พระอาการก็มีแต่ทรงกับทรุด

ครั้งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2476 เวลา 15 นาฬิกา 14 นาที ณ ที่คุ้มรินแก้ว ในท่ามกลางพระประยูรญาติ มีเจ้าผู้ครองนครเป็นประธาน ฝ่ายข้าราชการก็มีพระยากัลยาณวัฒนวิศิษฎ์ พร้อมด้วยนายแพทย์ทั้งไทยและต่างประเทศอันห้อมล้อมอยู่ด้วยความเอาใจในพระอาการโดยยังหวังจะให้พระองค์ทรงบรรเทาทุกขเวทนานั้น พระองค์ถึงซึ่งวาระสุดท้ายสิ้นพระชนม์ชีพดับขันธ์ลงทันที ทิ้งความวิปโยคโศกศัลย์อันสุดซึ้งไว้แก่ผู้ที่เคารพรักใคร่ทั้งหลายทั้งสิ้น รวมเวลาประชวร 5 เดือน 9 วัน ศิริพระชนมายุได้ 60 พรรษา 3 เดือน 13 วัน ประทับอยู่ในนครเชียงใหม่ครั้งสุดท้ายรวม 18 ปี 11 เดือนเศษ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ทรงมีพระราชโทรเลขมาแสดงความเศร้าสลดพระราชหฤทัย ตลอดถึงพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าจอมหม่อมห้าม และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ตลอดจนพ่อค้าคฤหบดีชาวต่างประเทศ ประชาชนชาวเชียงใหม่ในครานั้น

ทั้งนี้ในวันที่ 8 และ 9 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ ในการที่ทรงมีส่วนประสานอาณาจักรทั้งสองเป็นทองแผ่นเดียวกัน เพราะหากไม่มีพระองค์ท่านแล้วสยามประเทศและอาณาจักรล้านนาคงไม่ปรากฏเป็นแผ่นดินเดียวกันอย่างมั่นคงตราบเท่าทุกวันนี้ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี จึงได้มีพิธีบวงสรวงสักการะ ณ พระอนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี และพิธีเปิดนิทรรศการ “สวนเจ้าสบาย ในพระตำหนักดาราภิรมย์” ณ อาคารรัศมีทัศนา พิพิธภัณฑ์ตำหนักการาภิรมย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนงานนิทรรศการจะมีไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2556

สำนักข่าว

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน