วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

“รับจ้างติดคุก” อาชีพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ

Spread the love

“รับจ้างติดคุก” อาชีพสะท้อนความเหลื่อมล้ำ กับช่องโหว่ของ กบก.ยุติธรรม

(ภาพประกอบจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

“ผมเคยรับจ้างติดคุก คนจ้างบอกว่าจะไปประกันตัว คดีก็จบ ผมไม่รู้กฎหมายหรอก รู้แค่ว่ามันเสี่ยง แต่บางคนเลือกงานไม่ได้ ถ้าไม่ทำก็ตายต้องดิ้นรนช่วยตัวเอง เอาเงินมาไว้กินไว้ใช้ ผมไม่สนใจหรอกว่าผิดแค่ไหน เพราะชีวิตไม่มีอะไรจะเสีย”

คือถ้อยคำของ “นายดำ” (นามสมมุติ) บุคคลใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือ “คนเร่ร่อน” บริเวณเสาชิงช้า ที่เคยประกอบอาชีพแปลกๆ แต่มีอยู่จริงในสังคมไทย นั่นคือการ “รับจ้างติดคุก” แทนผู้กระทำความผิดตัวจริง ในข้อหาจำหน่ายซีดีลามกอนาจาร โดยสนนราคาการแลกอิสรภาพกับค่าจ้าง อยู่ที่ครั้งละ 500 บาท

นาย ดำได้เล่าถึงขั้นตอนการ “รับจ้างติดคุก” ว่า ทุกครั้งที่มีคนขี่รถจักรยานยนตร์มาตะโกนว่า “ซีดีๆ ไปไหม” คนที่รู้กันจะเข้าใจว่านั้นคือการจ้างให้ไปติดคุกในข้อหาขายซีดีลามกอนาจาร เมื่อไปถึงร้านซีดีคนจ้างจะให้ถือถุงซีดีวิ่งบ้าง หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็จัดหลักฐานซีดีไว้แล้ว หลังจากนั้นก็ไปที่สถานีตำรวจและทำเรื่องสอบพยานหลักฐานตามปกติ

“พอ ไปถึงโรงพัก ผมก็รับสารภาพ ตำรวจก็จะบันทึกข้อมูลทุกอย่าง โดยใช้ชื่อ-นามสกุลจริงตามบัตรประชาชน และจะติดคุก 1 คืน เพื่อรอส่งตัวไปที่ศาล พอขึ้นชั้นศาล จะมีคนมาประกันตัว จากนั้นเขาให้ค่าจ้าง บางครั้งที่หน้าศาล บางครั้งก็ไปเอาที่ร้าน” นายดำเล่าวิธีประกอบ “อาชีพ” นี้อย่างละเอียด

“นายแดง” (นามสมมุติ) คนเร่ร่อนบริเวณริมคลองหลอด ก็เป็นคนอีกที่เคยรับจ้างติดคุก แม้จะไม่ใช่คดีขายซีดีลามกอนาจาร แต่เป็นคดีเล่นการพนัน

เขา เล่าว่าเมื่อเดือนที่ผ่านมาได้รับจ้างไปติดคุกในคดีการพนัน โดยมีนายหน้าจากบ่อนมาเรียกตัว เมื่อไปถึงที่บ่อน อุปกรณ์ที่ใช้เล่นพนันซึ่งเป็นหลักฐานการจับกุมถูกจัดเตรียมไว้หมด มีหน้าที่ให้ร้อยเวรจดชื่อนามสกุลและไปโรงพัก โดยที่เจ้าของบ่อนให้เงินสดติดตัวไว้ เมื่อศาลตัดสินให้เสียค่าปรับก็จ่ายค่าปรับเอง ส่วนเงินที่เหลือก็ถือเป็นค่าจ้าง ครั้งนี้ได้มา 2,000 บาท

เมื่อ ถามถึงความเสี่ยงกรณีถูกจับได้ว่ารับจ้างติดคุกแทนผู้กระทำผิดตัว จริงอาจโดนโทษหนักขึ้นกว่าเดิม นายแดงกล่าวตอบสั้นๆ ว่า ไม่มีใครอยากทำเพราะมันเสี่ยง แต่ไม่ทำ ก็ไม่มีอะไรกิน

แต่ใช่ว่าการรับจ้างติดคุกทุกครั้งจะราบรื่น ดังประสบการณ์ของ “นายดิน” (นามสมมุติ) คนเร่ร่อนบริเวณริมคลองหลอด ที่ครั้งหนึ่งเคยไปรับจ้างติดคุกข้อหาขายซีดีลามกอนาจาร แต่กลับไม่มีใครมาเสียค่าปรับให้ จึงติดคุกไปประมาณ 20 วัน ถึงแม้ออกมาแล้วเจ้าของร้านจะให้ค่าจ้างมา 2,000 บาทก็ตาม

“แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมเข็ด และไม่ไปรับจ้างแบบนี้อีก” นายดินกล่าว

“ความเหลื่อมล้ำ-ต้นทุนทางสังคมต่ำ” เหตุเกิดรับจ้างติดคุก

แล้วอาชีพแปลกๆ อย่างคนเร่ร่อนรับจ้างติดคุกสะท้อนอะไรในสังคมไทย?

นายนที สรวารี เลขาธิการ มูลนิธิอิสรชน ผู้มีประสบการณ์การทำงานกับคนเร่ร่อนมายาวนาน กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลล่าสุด ปี 2555 โดยมูลนิธิอิสรชน พบว่ามีคนเร่ร่อนอยู่ในกรุงเทพอยู่ถึง 2,846 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เหตุที่มีคนเร่ร่อนในกรุงเทพส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด เพราะพวกเขาต้องการเข้ามาแสวงหาโอกาสในเมืองหลวง เนื่องจากปัญหาพื้นฐานเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ แต่สมมุติมีชาวบ้านเข้ามาสัก 100 คน จะหางานทำได้จริงๆ ก็แค่ 60-80 คน ที่เหลือตกงาน ส่วนที่ได้งาน ก็มีความเสี่ยงจะตกงาน จากหลายๆ ปัจจัย ทั้งความไม่เอาการเอางาน หรือถูกนายจ้างเอาเปรียบ

“เมื่อ คนกลุ่มนี้ตกงาน ก็จะไม่กลับบ้าน ส่วนหนึ่งเพราะมีปัญหากับทางครอบครัว อีกส่วนคือความเชื่อผิดๆ ว่าถ้าไม่ได้ดีก็จะไม่กลับไป คนเหล่านี้ก็มักจะใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ กลายเป็นคนเร่ร่อน ผู้ติดสุรา ผู้ป่วยข้างถนน ผู้ชายมักประกอบอาชีพเก็บของเก่า รับจ้างทั่วไป จนถึงรับจ้างติดคุก ส่วนผู้หญิงก็มักกลายเป็นพนักงานบริการทางเพศ” นายนทีกล่าว

เลขาธิการ มูลนิธิอิสรชนได้กล่าวถึงอาชีพ “รับจ้างติดคุก” ว่า นี่เป็นหนทางหนึ่งของคนเร่ร่อนในการหาเลี้ยงชีพให้อยู่รอด ซึ่งแบ่งได้เป็นรับจ้างเข้าไปอยู่ในคุกโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน แต่แลกกับการอยู่ในพื้นที่ที่มีอาหารมีเสื้อผ้าให้ กับได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน อย่างกรณีเจ้าของร้านขายสื่อลากมกอนาจารมาจ้างติดคุกแทน หรือกรณีจับบ่อนการพนัน

“เหตุผล ที่เลือกคนเร่ร่อนให้รับจ้าง เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าคนเหล่านี้ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากและต้นทุนทางสังคมต่ำ ไม่มีความน่าเชื่อถือในสังคม พูดอะไรไปคนไม่ค่อยเชื่อ ส่วนสำคัญคือพวกเขาขาดความรู้ ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ว่าหลังจากประกันตัว คดียังไม่จบ หรือจ่ายค่าปรับแล้วก็ยังเสียประวัติ พวกเขาจึงถูกเอาเปรียบ” นายนทีกล่าว

นาย นทีกล่าวทิ้งท้ายว่า การช่วยเหลือจากหลายๆ หน่วยงานที่ผ่านมา อาจทำให้คนเร่ร่อนกลุ่มเดิมมีชีวิตดีขึ้น แต่ไม่ได้ป้องกันการเกิดคนเร่ร่อนกลุ่มใหม่ เพราะต้นตอปัญหาคือโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่เท่าเทียม สร้างการกระจุกตัวของแรงงานในพื้นที่ที่ได้ค่าแรงมากกว่า และรัฐยังไม่สามารถป้องกันการเอาเปรียบแรงงานของนายจ้างบางกลุ่มได้

ช่องโหว่ชั้นสอบสวน “ส่งตัวผู้ต้องหาใน 48 ชั่วโมง-ระบบค้นทะเบียนราษฎร์”

อาชีพ รับจ้างติดคุกนอกจากสะท้อนให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม อีกด้านหนึ่งยังสะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ของกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น ที่ทำให้การ “สับเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา” เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย

ผู้ สื่อข่าวพยายามติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานีตำรวจนครบาล (สน.) สำราญราษฎร์ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่บริเวณเสาชิงช้าและริมคลองหลอด ที่พบมีการจ้างคนเร่ร่อนติดคุกแทนในหลายๆ กรณี ซึ่งก็มีโอกาสได้พูดคุยกับ พ.ต.ท. นพรุจ จิตมั่น สารวัตรสืบสวนสอบสวน (สว.สส.) สน.สำราญราษฎร์ แต่ พ.ต.ท. นพรุจ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่เคยทราบถึงกรณีดังกล่าว่ามีการว่าจ้างคนให้มารับผิดแทน

ร.ต.ท. นพดล บัวปรอท รองสารวัตรป้องกันและปราบปราม (สวป.) สน.สุทธิสาร กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้อาจมีการจับตัวผู้ต้องหาผิดตัว เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) มาตรา 87 กำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ควบคุมผู้ต้องหาผู้ถูกจับไว้เกินกว่า 48 ชั่วโมง อีกอย่างหากเขาเป็นผู้ที่ถูกจ้างมากจริง มาขึ้นโรงพักก็มักจะสารภาพ พอทำประวัติเขียนสำนวนเรียบร้อย ก็ต้องส่งเรื่องไปที่ศาล ตำรวจไม่มีเวลามาพิสูจน์ว่าใช่ตัวจริงหรือไม่

ร.ต.ท. นพดล ยังกล่าวว่า กรณีที่รับจ้างติดคุกโดยใช้ชื่อปลอม หลายๆ กรณีเราพบว่าผู้ถูกจับอ้างว่าไม่ได้พกบัตรประชาชน ซึ่งระบบการสืบค้นทะเบียนราษฎร์ของเราเวลานี้ ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบหน้าคนได้ ทำได้เพียงตรวจสอบประวัติเท่านั้น

“กรณี รับจ้างติดคุกหากพิสูจน์ได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ในการเปลี่ยนตัว ถือเป็นความผิดร้ายแรง โทษถึงขั้นปลดออกให้ออกไล่ออก เมื่อหลายปีก่อนเคยมีหนังสือเวียน ให้ระวังผู้ต้องหาตัวปลอมหรือจับผิดตัว เพราะช่วงนั้นจับผิดตัวบ่อย” ร.ต.ท. นพดลกล่าว

“จำเลยจำเป็น” ความเสี่ยงในอาชีพรับจ้างติดคุก

สาเหตุ หลักที่คนเร่ร่อนยอมแลกอิสรภาพตัวเองกับค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ คือการขาดความรู้ด้านกฎหมาย ทำให้คนถูกเอาเปรียบและต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการตกเป็นจำเลยใน “ข้อหาอื่น” หากพวกเขาถูกจับได้ว่า “รับจ้างถูกจับ-รับจ้างติดคุก” แทนผู้กระทำผิดตัวจริง

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา ผู้เคยประกอบอาชีพเป็นทนายความ กล่าวว่า คดีความโดยทั่วไป หากแบ่งตามวิธีการดำเนินคดี ก็มีคดีที่จบที่สถานีตำรวจ แค่จ่ายค่าปรับก็จบ ไม่ต้องขึ้นศาล กับคดีที่ต้องขึ้นศาล ซึ่งทั้ง 2 กรณี หากผู้รับจ้างติดคุกถูกจับได้ จะมีฐานความผิดที่แตกต่างกัน

นาย วันชัย กล่าวว่า กรณีคดีจบที่สถานีตำรวจ หากถูกจับได้ คนเร่ร่อนนั้นอาจจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) ในหลายๆ กรณี อาทิ มาตรา 137 ฐานแจ้งความเท็จ หรือมาตรา 167 ฐานติดสินบนเจ้าพนักงาน ส่วนผู้จ้างจะมีความผิดตามมาตรา 189 ฐานช่วยผู้อื่นกระทำผิด หรือมาตรา 267 ฐานแจ้งให้พนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ ส่วนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ยังมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 177 ฐานเบิกความเท็จ หรือมาตรา 180 ฐานให้การเท็จ

นาย วันชัย ยังกล่าวว่า กรณีรับจ้างติดคุก หากมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาทิ ตำรวจ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ก็มีอาจมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 201 ฐานรับสินบน หรือมาตรา 177 ฐานะเบิกความเท็จ

“คน เร่ร่อนส่วนมากคิดว่าประกันตัวคือคดีสิ้นสุดเพราะไม่รู้กฎหมาย ซึ่งความจริงเขาจะถูกออกหมายจับแต่ส่วนมากไม่คนลงไปจับ เพราะคนเร่ร่อนไม่อยู่เป็นที่ หรือถ้าเจ้าที่รู้เห็นก็ไม่ตามจับเพราะกลัวเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วเสี่ยง ถูกจับได้ มันแสดงให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมชั้นต้นที่เกิดจากการ ทุจริตโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย และความเหลื่อมล้ำที่คนรวยอาศัยโอกาสในความอ่อนด้อยทางสังคม ทางด้านเศรษฐกิจและความรู้ของคนที่ด้อยกว่า เพื่อผลประโยชน์แก่ตนเอง” นายวันชัยกล่าว

จ้างติดคุกละเมิดสิทธิมนุษยชนฯ ชีวิตคนต้องห้ามซื้อขาย

นอก จากแง่มุมด้านกฎหมาย ทีว่าการรับจ้างติดคุกเกิดจากช่องโหว่ของกระบวนการยุตะรรม อีกแง่มุมที่น่าพิจารณาว่า การยอมแลกอิสรภาพของตัวเองกับค่าตอบแทน ถือเป็นการละเมิด “สิทธิมนุษยชน” หรือไม่?

นพ. นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บอกว่า อาชีพนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนเร่ร่อนหรือคนไร้บ้านอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาทำด้วยความไม่รู้ถึงหลักกฎหมาย ทำไปด้วยความจำเป็น คนเร่ร่อนอาจมองว่าไม่ได้ถูกละเมิดสิทธิ เพราะได้เงิน หรือมีที่ให้อยู่ มีข้าวให้กิน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะตามหลักสิทธิมนุษยชนถือเป็นละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่มองว่าคนเป็นวัตถุที่สามารถซื้อขายได้

“อย่าง กรณีคนเร่ร่อนรับจ้างติดคุก ในแง่กฎหมายถือว่ามีความผิด แต่ในหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว รัฐควรจะแยกให้ออกระหว่างผู้ที่จงใจละเมิดและทำผิดกฎหมาย กับผู้ที่ต้องอยู่ในสภาพที่ยอมจำนน ฉะนั้นการใช้กฎหมายต้องมองในหลักสิทธิมนุษยชนด้วย รัฐต้องแก้ไขต้นตอสาเหตุที่ทำให้เขาถูกละเมิด และต้องบังคับใช้กฎหมายไปเอาผิดคนที่จงใจบิดเบือนความจริง” นพ.นิรันดร์กล่าว

จำนวน ผู้เร่ร่อนที่ไม่ได้ลดลง จนหลายคนต้องหาเลี้ยงปากท้องด้วยการไปรับจ้างติดคุก ทำให้เกิดคำถามต่อบทบาทของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ว่าที่ผ่านมาได้แก้ไขปัญหาถูกจุดหรือไม่ หรือมัวแต่แก้ที่ปลายเหตุ

นายปกรณ์ พันธุ อธิบดี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับสวัสดิการของสังคม ช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยตรง กล่าวว่า อุปสรรคในการทำงานของ พส.ที่ผ่านมาคือการขาดแคลนบุคลากร รวมถึงการประชาสัมพันธ์ที่ยังทำได้ไม่ทั่วถึง คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าหลายๆ หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพยายามทำงานเชิงรุก เข้าไปแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นตอ ด้วยการลงไปฝึกงานให้กับคนเร่ร่อนหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด รวมถึงมีการส่งอาสาสมัครไปให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและจัดส่งทุน ประกอบอาชีพให้เพื่อลดปริมาณการอพยพเข้ามาในกรุงเทพ

“หาก ต้องการพัฒนาประเทศไทย ก็ต้องพัฒนาบุคลากรภายในประเทศด้วย ต้องช่วยกันหาวิธีว่าจะทำอย่างไร ให้สังคมอยู่อย่างพอมีพอกินได้ ไม่ต้องอยู่อย่างยากแค้น ซึ่งมันไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ คน ที่จะต้องช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน มองคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่แสวงหาประโยชน์จากคนที่ด้อยกว่า ไม่เอารัดเอาเปรียบคนในสังคมเดียวกัน” นายปกรณ์กล่าว

ทุก ชีวิตเกิดมาเพื่อดิ้นรนในเส้นทางของตนเอง คนเร่ร่อนก็มีหนทางการหาเลี้ยงชีพเช่นเดียวกับคนทั่วไป เพียงแต่อาชีพนั้นไม่ได้แลกด้วยความสบาย หรือค่าจ้างที่สูงคุ้มค่ากับความเหนื่อย แต่เป็นอะไรก็ได้ที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงปากท้อง แม้กระทั่งอาชีพที่ไม่มีใครในสังคมคาดคิด

อาชีพ รับจ้างติดคุกสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ไม่ได้ รับการเอาใจใส่ การฉกฉวยโอกาสจากคนที่ด้อยกว่าทั้งทางด้านความรู้เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมที่อาจเกิดจากผู้บังคับใช้กฏหมาย เอง

ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องตอบคำถามว่าจะมีส่วนร่วมช่วยกันลดช่องโหว่ได้อย่างไร?

 

 

ขอบคุณที่มา http://www.isranews.org/

สำนักข่าว

Cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน