วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ได้เวลาทดสอบฝีมือแรงงาน

Spread the love

ได้เวลาทดสอบฝีมือแรงงาน

ผ่านแล้ว เสนอนายจ้างขอปรับค่าแรงได้เลย

scoop21

                 ท่านผู้อ่านครับ สัปดาห์ก่อน มีรายงานว่า ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยเน้นว่าแรงงานไทยต้องมีการพัฒนาฝีมือมากขึ้น เพื่อให้ได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งผู้ใช้แรงงานเองก็ต้องปรับตัวเรียนรู้ทักษะฝีมือเพิ่มเติมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และเศรษฐกิจโลกที่จะเข้าสู่โลกยุคใหม่ มีการนำคอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์มาใช้ในการทำงานมากขึ้น และการใช้แรงงานไร้ฝีมือจะลดลง การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เป็นกลยุทธ์ที่ส่งเสริมให้แรงงานไทย สนใจที่จะพัฒนาทักษะฝีมือทางอ้อม เพราะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ นับเป็นเส้นทางความก้าวหน้าในสาขาอาชีพ (Career Path) ของลูกจ้างตั้งแต่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ (Unskilled labour) จนกระทั่งเป็นช่างฝีมือ (Skilled labour)

ท่านปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จะทำให้ลูกจ้างมีขวัญ กำลังใจในการทำงาน ส่งผลต่อการผลิตสินค้าและการให้บริการที่มีคุณภาพ ลูกจ้างและนายจ้างจะได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ส่วนผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รับประโยชน์จากการซื้อสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะดีขึ้น โดยในวันที่ 10 ส.ค.นี้ จะมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือบังคับใช้ 20 สาขาอาชีพ ในกลุ่มอุตสาหกรรม ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณี และกลุ่มโลจิสติกส์

           ม.ล.ปุณฑริก กล่าวอีกว่า ข้อดีของการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ คือ ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาที่กำหนด ทั้งระดับ 1 และระดับ 2 จะได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ ผู้ประกอบการสามารถคัดเลือกแรงงานที่มีฝีมือเข้าทำงานทำให้สินค้า บริการมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิตเพราะไม่เกิดการผิดพลาดระหว่างการผลิตและสามารถรักษาบุคลากรที่มีฝีมือไว้ได้ และช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน ทั้งยังรองรับการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

           ทั้งนี้ ลูกจ้างที่อยากจะรู้ว่าตนเองมีมาตรฐานฝีมืออยู่ในระดับไหน สามารถที่จะเข้ามาทดสอบเพื่อวัดมาตรฐานฝีมือตนเองได้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยจะมีการทดสอบวัดฝีมือทั้งระดับ 1 และ ระดับ 2 เมื่อทดสอบผ่านจะได้หนังสือรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ให้นำใบนี้ไปยื่นกับนายจ้างเพื่อรับการปรับค่าจ้าง

            แต่ถ้านายจ้างไม่ให้ค่าจ้างตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด นายจ้างจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.144 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำและปรับ

            ขอเชิญ แรงงานมีฝีมือรักษาสิทธิของท่านครับ

 

ขอขอบคุณ ที่มา แมนเนเจอร์ นิวส์ ออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

 

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ