วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

โครงการตามพระราชดำริ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

Spread the love

                  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงาน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดเชียงใหม่

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงาน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่อำเภอแม่แตง และอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

วันนี้ เวลา 08.50 น.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ฝึกอาชีพนักเรียนเก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กองบังคับการ ตชด. ภาค 3 บ้านหนองผึ้ง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ และความก้าวหน้าโครงการตามพระราชดำริ ที่น้อมนำมาปฏิบัติตั้งแต่เปิดศูนย์ฯ เมื่อปี 2536 ศูนย์แห่งนี้ฯ ตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริ ในการส่งเสริมอาชีพให้นักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่สำเร็จการศึกษาแล้วไม่ได้เรียนต่อ และยังไม่มีงานทำ ได้ฝึกอาชีพที่เหมาะสมต่อการทำมาหากินในท้องถิ่นของตน เพื่อให้เกิดความรัก หวงแหน และร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนต่อไป โดยเปิดฝึกอบรมต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นทดลองถึงรุ่นปัจจุบัน คือ รุ่นที่ 21 มีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้วกว่า 700 คน การดำเนินงานที่ผ่านมาได้ประสานกับส่วนราชการและภาคเอกชน เพื่อขอความร่วมมือจัดกิจกรรมและส่งวิทยากรมาให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎี และฝึกปฏิบัติในวิชาชีพต่างๆ เช่น ช่างเสริมสวย ช่างตัดผม ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็ก

จากนั้น ทอดพระเนตรโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีพื้นที่ดำเนินงาน 109 ไร่ เป็นป่าดั้งเดิม 106 ไร่ ปลูกเพิ่มเติม 3 ไร่เป็นป่าเต็งรัง กลุ่มไม้ผลัดใบ มีพรรณไม้หลากหลายชนิด เช่น ไม้ตระกูลยาง รัก พลวงตับเต่า และมะขามป้อม ในการนี้ ทรงส่งเสริมให้ปลูกไม้เศรษฐกิจ สลับกับไม้ที่มีรากยึดแน่น ส่วนไม้ชั้นล่างให้ปลูกพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น พริกไทย กาแฟ และชา โอกาสนี้ทอดพระเนตรการอนุรักษ์พันธุ์นกน้ำ ที่อพยพหนีอากาศหนาวจากประเทศจีนมาอาศัยอยู่ที่อ่างเก็บน้ำห้วยบง ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนเมษายน มีมากกว่า 5 พันตัว ส่วนใหญ่เป็นนกเป็ดแดง และนกอีล้ำ นอกจากนี้ยังพบนกเป็ดดำหัวดำ ซึ่งหายากใกล้สูญพันธุ์ มาอาศัยอยู่ด้วย

ที่โครงการแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้ทอดพระเนตรแปลงผักสวนครัว แปลงนาสาธิต การผลิตปุ๋ยชีวภาพ การเพาะเห็ด เลี้ยงปลาในบ่อธรรมชาติและปศุสัตว์ แปลงสาธิตฯ นี้มีพื้นที่ดำเนินงาน 12 ไร่ มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยฝึกอบรมให้ความรู้ตามหลักสูตรความสำเร็จที่โดดเด่นของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ในการนี้ มีพระราชดำริให้ปลูกผักเพิ่มเติมแบบวนเกษตร ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญคือผู้เรียนจะต้องฝึกปฏิบัติด้วยตนเองและนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง ส่วนที่ห้องสมุด ได้ทอดพระเนตรกิจกรรมที่จัดเพื่อส่งเสริมให้นักเรียน และประชาชน รักการอ่าน รู้จักค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง

เวลา 11.18 น.เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ซึ่งกองบินตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดถวาย ไปยังโรงเรียนรัปปาปอร์ตบ้านสันป่าเกี๊ยะใน อำเภอสะเมิง ทรงติดตามผลการดำเนินโครงการตามพระราชดำริ โรงเรียนแห่งนี้ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2513 เดิมชื่อ “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ 92” ในความรับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 5 เดิม ก่อนโอนไปสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ เขต 2 เมื่อปีที่ผ่านมาและเปลี่ยนชื่อโรงเรียน ตามชื่อของมิสเตอร์รัปปาปอร์ต ที่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อนำไปก่อสร้างอาคารเรียน เมื่อปี 2518 มีหมู่บ้านในเขตบริการ คือ บ้านสันป่าเกี๊ยะใน และบ้านสันป่าเกี๊ยะนอก เปิดสอนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 132 คน โดยได้ดำเนินโครงการตามพระราชดำริในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารระยะที่ 4 ในด้านต่างๆ โดยนักเรียนจาก 2 หมู่บ้านเข้าถึงบริการทางการศึกษาในระดับอนุบาล ประถมศึกษา ครบทุกคน เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้เข้าศึกษาต่อทุกคนสำหรับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านวิชาการ เอ็นที และโอเน็ต ระดับประถมศึกษาปีที่ 3 และ 6 รวมถึงผลการสอบโอเน็ตระดับประถมศึกษาปีที่ 6 เฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์จึงมีการสอนเพิ่มเติม นอกจากนี้ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยสอนให้รู้จักวิถีการทอผ้าของชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง และการเขียนผ้าลายขี้ผึ้งของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ด้านการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ไม่พบภาวะคอพอกและพยาธิ แต่นักเรียนมีความสูงเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐาน 41 คน จึงจัดให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีประโยชน์ ที่ใช้วัตถุดิบจากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เนื่องจากสามารถผลิตผักและเนื้อในปริมาณที่เพียงพอและเหลือจำหน่ายในชุมชน

เวลา 14.20 น.เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปทรงติดตามผลการดำเนินโครงการตามพระราชดำริ ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไลออนส์มหาจักร 9 บ้านป่าข้าวหลาม อำเภอแม่แตง ซึ่งรับนักเรียนใน 4 หมู่บ้าน โดยหมู่บ้านที่อยู่ไกลสุด อยู่ห่างไป 6 กิโลเมตร ต้องเดินเท้ามาเรียนใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง นอกจากนี้ยังมีเผ่าลาหู่ และมูเซอ ปัจจุบันมีนักเรียน 103 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยได้ดำเนินโครงการตามพระราชดำริฯ ทั้ง 8 โครงการ ประสบผลเป็นที่น่าพอใจมีวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่สนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์ และฝึกตัดผมให้นักเรียนชาย ส่วนนักเรียนหญิง มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย สนับสนุนอุปกรณ์ งบประมาณทอผ้ากะเหรี่ยงมีชาวบ้านและผู้ปกครองมาสอนทุกวันพุธ ผลิตภัณฑ์มีทั้งย่าม, ผ้าพันคอ และเสื้อประจำชนเผ่า จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่มาล่องแพในแม่น้ำแตง

นอกจากนี้ ยังจัดการเรียนการสอนแก่เด็กเรียนรู้ช้าที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ สมาธิสั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถึง 6 รวม 27 คน โดยจัดครูสอนเสริมทุกบ่ายวันศุกร์ ส่งผลให้มีสมาธิ และมีความสนใจในการเรียนมากขึ้น ส่วนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทุกระดับชั้นพัฒนาขึ้นกว่าเดิม แต่ยังมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ส่วนใหญ่ยังออกเสียงภาษาไทยไม่ชัดเจน เนื่องจากยังใช้ภาษาท้องถิ่น และภาษากะเหรี่ยงจึงเพิ่มฝึกการอ่านภาษาไทย พร้อมกันนี้ทรงเยี่ยมศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านป่าข้าวหลาม ซึ่งรับดูแลเด็กอายุ 3 ถึง 6 ขวบ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ปัจจุบันมีเด็กในความดูแล 16 คน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนโครงการอาหารเช้าเพื่อน้อง-ท้องอิ่ม จากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และอาหารกลางวันจากองค์การบริหารส่วนตำบลกื้ดช้าง

ในการนี้ ทอดพระเนตรโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งอบต.กื้ดช้าง สนองพระราชดำริ ในการอนุรักษ์พันธุกรรมเด่นในท้องถิ่น อาทิ ผักเสี้ยว, ไผ่จืด, ดอกดิน เพื่อบริโภคและใช้ประโยชน์ ตลอดจนขยายสู่ชุมชน โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมหน่วยแพทย์พระราชทานที่มาให้บริการตรวจรักษาพยาบาลแก่ราษฎรที่เจ็บป่วย พร้อมทั้งทรงรับผู้ป่วย อาทิ พิการที่นิ้วมือแต่กำเนิด, แขนขาอ่อนแรง, ลิ้นหัวใจรั่ว ไว้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ และทรงเยี่ยมราษฎรซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างมีรายได้ 20,000 – 30,000 บาทต่อครอบครัวต่อปี ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามที่สูง ในเขตอุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง

จากนั้น ทอดพระเนตรโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ที่ส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ มีการปลูกพืชผักสวนครัว เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงไก่ไข่ ไก่เนื้อ และปลา นำผลผลิตจำหน่ายผ่านระบบสหกรณ์เพื่อไปประกอบเป็นอาหารกลางวันแก่นักเรียน และอาหารทั้ง 3 มื้อแก่นักเรียนบ้านไกล ที่มีอยู่ 68 คน

 

 

สำนักข่าว