วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

แสวง ทัดเที่ยง ปูชนียบุคคลล้านนา ที่สังคม (อาจจะ) ลืม

14 ต.ค. 2012
1650
Spread the love

แสวง ทัดเที่ยง ปูชนียบุคคลล้านนา ที่สังคม (อาจจะ) ลืม

“คนเราจะหลุดพ้นจากความทุกข์ยากได้ เพราะความขยัน หมั่นเพียร” เรื่องราวระหว่าง ความขยัน กับ คนธรรมดา กลายเป็นคนที่มี ชื่อเสียง และหลุดพ้นจาก ความยากจน จากคนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ของคนอื่นทำมาหากิน จนมีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนนับสิบ ๆ ไร่ และจะมีสักกี่คนที่ทำคุณงามความดีจนได้รับ พระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินให้เพราะทรงเห็นถึงความขยันหมั่นเพียรและความมานะอุตสาหะ หลายคนอาจจะอยากรู้ว่าเรื่องราวของบุคคลท่านนี้เป็นอย่างไรกัน มีเหตุการณ์แบบนี้ในอดีตด้วยหรือ ผู้เขียนเป็นคนรุ่นใหม่พอสมควรไม่ค่อยรู้เรื่องราวของบุคคลที่มีชื่อเสียงในอดีต อาจเพราะไม่ได้เป็นคนในเมืองเชียงใหม่โดยกำเนิด (คนบ้านนอก) แต่พอได้เข้ามาทำงานในเส้นทางของสื่อมวลชน ก็เลยบังเอิญได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับ คุณลุงแสวง ทัดเที่ยง ถ้าคุณไม่ใช่เป็นคน อ.สันทราย และอายุไม่เกิน 40 ปี น้อยคนที่จะรู้จัก คุณลุงแสวง ท่านนี้ และที่ผู้เขียนต้องนำเรื่องของท่านมาบอกเล่าสำหรับคนรุ่นหลังก็น่าจะเป็นการดำเนินชีวิตแบบธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เผื่อคนที่ได้อ่าน จะได้นำไปประยุกต์ใช้การการดำเนินชีวิตของตัวเอง หรือบางคนที่กำลังท้อแท้กับการทำงาน กับเรื่องราวปัญหาในชีวิต อ่านแล้วอาจจะทำให้คุณ ๆ ได้มองย้อนไปว่า “กว่า” คนเราจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ “กว่า” คนเราจะถึงจุดที่สูงที่สุดในชีวิต  พวกเขาเหล่านั้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

 

และการดำเนินชีวิตก็ใช่จะมีแต่ประสบความสำเร็จอย่างเดียว เราต้องเผื่อใจไว้ให้กับคำว่า เจ๊ง!!! ด้วย เพราะบางคนหรือบางกิจการ เคย ประสบความสำเร็จหรือ เคย รวยมาแล้ว แต่ก็มีเหตุทำให้ต้องเจอกับปัญหาต่าง ๆ นานา ก็เลยหมดโอกาส รวย ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้กับโชคชะตา ก็มีสิทธิ์ที่จะกลับมายืนที่เดิมได้อีกครั้ง เหมือนคุณลุงแสวง ที่ไม่เคยกลัวความลำบาก ไม่ยอมแพ้กับคำดูถูก ถึงจะเป็นเกษตรกร ก็ถือได้ว่าเป็นแบบ มืออาชีพ เพราะ ความสำเร็จในแต่ละอาชีพนั้น ย่อมเกิดจากการปฏิบัติ อย่างจริงจัง ไม่ต้องวิชาการหรือ ปริญญาอย่างเดียว มีคนเคยเขียนถึง คุณลุงแสวงว่า “เป็นนักต่อสู้ นักอุดมคติ และเป็นคนอหังการ์” ทำไมเขาถึงเขียนแบบนี้ ? พอผู้เขียนได้ทราบประวัติ ของท่าน จึงได้เข้าใจ ใครจะไปรู้ว่า “บร๊อคโคลี่ สลัดปลี เซลเลอรี่ ฯลฯ ผักเมืองหนาวพวกนี้จะออกเป็นครั้งแรก ในประเทศไทย ณ สวนผักไทยของคุณลุงแสวงท่านนี้  ณ วันนี้ วันที่คุณลุงแสวง ทัดเที่ยง ได้จากโลกนี้ไปแล้ว แต่คุณงามความดีและผลงานในอดีตของท่าน ยังตราตรึงอยู่ในใจของคนทั่วไป คนรุ่นใหม่ ก็จะได้รับทราบถึงอดีตแต่หนหลัง จากทายาทของท่าน คุณสวัสดี ศรีเชียงใหม่ บุตรเขยได้มอบอัตชีวประวัติของคุณลุงแสวง ซึ่งได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นหลังจากท่านถึงแก่กรรมไป เพื่อให้ผู้เขียนได้ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร และได้กรุณาเล่าเสริมบางเรื่องที่ทุกคนไม่รู้ และอยากรู้

แรกเริ่มเดิมทีนั้นด้วยความที่คุณลุงเป็นคนชอบการเกษตรกรรม ชอบปลูกพืชผัก ชองทดลองเอานั่น เอานี่มาปลูก ได้เช่าที่ดินครั้งแรกที่ ตำบลสุเทพเมื่อปี พ.ศ.2489 ปลูกผักขายเลี้ยงชีพโดยมีคุณป้าชุ่มใจ ศรีภรรยา คู่ทุกข์คู่ยาก คอยช่วยกันทำมาหากิน จนเมื่อ พ.ศ. 2500 ได้มีโอกาสทูลเกล้าถวายผลไม้และพืชผักเมืองหนาวที่ปลูกด้วยตัวเอง แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในคราวเสร็จประพาสที่เชียงใหม่ และขอประทานพระบรมราชวโรกาสนำพืชผักต่าง ๆ เข้าห้องพระเครื่องต้น โดยส่งไปที่ส่วนพระเครื่องต้น สำนักพระราชวังทุก ๆ วันศุกร์มิได้ขาด ตั้งแต่บัดนั้นมาตลอดระยะเวลา 28 ปี สวนผักของคุณลุงจากอดีตจนปัจจุบันคุณลุงได้ตั้งชื่อว่า “สวนผักไทย” ก็เพราะว่าส่วนใหญ่นั้น สวนผักแต่เดิมเป็นอาชีพหลักของคนจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย แต่คุณลุงแสวงเป็นคนไทย มีมือสิบนิ้วเหมือนคนจีน และยังได้ยินคำสบประมาทว่า “ฮวนนั้ง ฉ่ายเจาะฮึ้ง” หมายความว่า “คนไทยหรือจะปลูกผัก” นี่คือคำดูถูกที่ทำให้คุณลุงมุมานะ ที่จะทำสวนและหาที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์เป็นของตัวเองให้ได้ แต่แล้วก็มีเหตุเมื่อปลายปี พ.ศ. 2505 เจ้าของที่ดินที่คุณลุงเช่าอยู่จะขอคืนที่ดิน คุณลุงจึงได้ตัดสินใจติดต่อทางวังขอนำความเข้ากราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ให้ทรงทราบถึงเรื่องนี้ ทั้งสองพระองค์ทรงเห็นถึงความตั้งใจจริงของคุณลุงที่จะบุกเบิกตั้งสวนผักไทยให้ได้ จึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ แบบให้ยืมก่อนเพื่อซื้อที่ดินทั้ง 10 ไร่จากนายถาวร โสภณ ซึ่งเป็นเจ้าของโดยคุณลุงก็ได้ผ่อนชำระ พระองค์ท่านเป็นงวด ๆ จนหมด และได้รับโอนโฉนดเป็นของตนเองเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2515

 

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หลังจากนั้นคุณลุงก็พยายามขยับขยายที่ดินเพื่อทำแปลงสาธิตต่าง ๆ เป็นการช่วยเหลือหน่วยงานของราชการบ้าง เอกชนบ้าง จนกระทั่งที่ดินเพิ่มเป็น 21 ไร่ และยังได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกาให้ไปศึกษาดูงานการเกษตรในประเทศสหรัฐอเมริกาใน 4 มลรัฐ คือ รัฐโอเรกอน ฟลอริด้า เวอร์มอนต์ และแคลิฟอร์เนีย แล้วนำความรู้ที่ได้ไปศึกษาดูงานมาพัฒนาสวนผักไทย เกียรติคุณต่าง ๆ ถ้าจะให้เอ่ยถึง ก็คงไม่หมดเพราะท่านได้ทำผลงานให้ทางราชการไว้มากมายเหลือเกิน จึงได้รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎไทยชั้นที่ 3 ชื่อ “ตริตราภรณ์” ให้เป็นเกียรติแด่วงศ์กระกูลอย่างหาสิ่งใดเปรียบมิได้ และที่น่าภูมิใจที่สุดในความรู้สึกของผู้เขียนก็คือ ผืนแผ่นดินที่คุณลุงได้ตั้งชื่อว่า “สวนผักไทย” นั้นได้มีรอยพระบาทของ สมเด็จย่า พระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมกิจการสวนผักไทย และเจ้าใหญ่นายโตสมัยนั้น อีกหลายท่านเช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พลเรือเอกสงัดและคุณหญิงสุคนธ์ ชะลออยู่ รมต.สมัคร สุนทรเวช (สมัยนั้น)และยังมีอีกหลายท่านที่มาเยี่ยมชม

 

และที่สุดของมนุษย์ คือ ความตาย คุณลุงแสวงถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2528 ครอบครัว “ทัดเที่ยง” ได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงโปรดเกล้าพระราชทานพวงมาลา ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จย่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ พร้อมด้วยทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม อย่างหาที่สุดมิได้แด่วงศ์กระกูล “ทัดเที่ยง” ถึงปัจจุบันนี้ก็ร่วม ๆ 30 ปีแล้ว คุณงามความดี ความขยัน ความอดทน ความอหังการ์ ของท่านยังปรากฏให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ว่า “กว่า” จะเป็น นายแสวง ทัดเที่ยง ต้องผ่านอะไรมาบ้าง? ขอสดุดีแด่ท่าน เกษตรกร ผู้บุกเบิกพืชผักเมืองหนาวของประเทศไทย

 

รพิรัตน์ สุขแยง เรียบเรียง

 สำนักข่าว
Cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน