วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

แพทย์ มช. เตือนอาการปวดรุนแรงเสี่ยงโรคเก๊าท์

Spread the love

 แพทย์ มช. เตือนอาการปวดรุนแรงเสี่ยงโรคเก๊าท์ 

 

ข้อมูลโดย นพ.สิทธิ์ หงษ์ทรงเกียรติ
อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม คณะแพทยศาสตร์ มช.

 

ผู้อ่านหลายท่านคงได้ยินมาบ้างแล้วว่ากินไก่มากเสี่ยงเก๊าท์นะ! ซึ่งสาเหตุหลักของโรคเก๊าท์มิใช่กินไก่เพียงอย่างเดียว


นพ.สิทธิ์  หงษ์ทรงเกียรติ อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่ม คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า
  “โรคเก๊าท์คือโรคที่เกิดจากการสะสมของกรดยูริคในร่างกายเป็นระยะเวลานาน จนเกิดการตกผลึกของเกลือยูเรตในข้อกระดูก  และเกิดข้ออักเสบตามมาในที่สุด ในคำกล่าวทั่ว ๆ ไป  คำว่า “โรคเก๊าท์” มักหมายถึงโรคข้ออักเสบ  แต่ความจริงแล้วผลึกของเกลือยูเรตยังอาจสะสมในอวัยวะอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อได้ด้วย เช่น สะสมที่ผิวหนังเรียกว่าปุ่มก้อนโทฟัสหากสะสมที่ไตจะทำให้เกิดนิ่วในไตหรือไตวายเรื้อรังได้    สำหรับอาการของโรคเก๊าท์  มักจะเป็นที่ข้อในบริเวณส่วนล่างของร่างกาย  คือเข่า ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า โดยข้อกระดูกแรกสุดที่มักจะเป็น คือ ข้อเท้าหรือข้อโคนหัวแม่เท้าข้อที่เป็นมักจะอักเสบอย่างรุนแรงคือ ปวด บวม แดง และร้อน อาการปวดจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดสูงสุดภายใน 24-48 ชม. หากอักเสบมากอาจมีไข้ร่วมด้วย หลังจากนั้นอาจจะทุเลาลงเองได้แต่หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง  หากเกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่องอาจลามไปถึงข้อในบริเวณส่วนบนของร่างกายได้ เช่น ข้อศอก ข้อมือ ข้อนิ้วมือ การอักเสบแต่ละครั้งจะนานขึ้น รุนแรงขึ้นส่งผลให้การรักษายากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดอาจกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรังที่ไม่หายสนิทหรือเกิดการทำลายของข้อทำให้เกิดความพิการตามมาได้

โดยการวินิจฉัยโรคเก๊าท์มีวิธีการวินิจฉัยที่แน่นอนที่สุดสำหรับโรคนี้ คือการตรวจพบผลึกของเกลือยูเรตจากน้ำไขข้อซึ่งได้มาจากการเจาะตรวจน้ำไขข้อขณะที่มีการอักเสบ  หรือจากปุ่มก้อนโทฟัสซึ่งได้มาจากการใช้ปลายเข็มสะกิดมาตรวจ แต่ในกรณีที่ไม่มีโอกาสได้ตรวจด้วยวิธีการข้างต้น แพทย์จะพิจารณาจากประวัติของผู้ป่วยการตรวจร่างกาย และผลเลือดมาประกอบกันในการวินิจฉัยโรค ซึ่งการวินิจฉัยจากการตรวจเลือดนั้นมีความเข้าใจผิดกันมากว่าการตรวจเลือดเพื่อหาระดับกรดยูริคเป็นการวินิจฉัยโรคเก๊าท์  แท้ที่จริงแล้วการตรวจเลือดเพื่อหาระดับกรดยูริคนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเท่านั้น  โดยต้องใช้ประกอบกับการซักประวัติ  และการตรวจร่างกายโดยแพทย์ ซึ่งการตรวจพบระดับกรดยูริคในเลือดสูงเพียงอย่างเดียวมิได้หมายความว่าผู้ป่วยจะเป็นโรคเก๊าท์เสมอไป    เพราะมีสาเหตุอื่น ๆ มากมายที่ทำให้ตรวจพบระดับกรดยูริคในเลือดสูงโดยที่ผู้ป่วยมิได้เป็นโรคเก๊าท์เลย  โดยวิธีการรักษาโรคเก๊าท์ อันดับแรกสำหรับผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรัง คือ ต้องเลิกสุราให้ได้เสียก่อน เพราะสุราทำให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูง และการรักษาโรคเก๊าท์ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยอย่างมาก หากยังคงติดสุราเรื้อรังก็ยากที่จะรักษาโรคนี้ให้ได้ผลดี สำหรับอาหารบางชนิด เช่น เนื้อแดง สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์และอาหารทะเล อาจทำให้กรดยูริคในเลือดสูงได้ ไม่ควรรับประทานมากเกินไป ส่วนพืชจำพวกยอดและหน่อ เช่น หน่อไม้ ผักบุ้ง ผักกระเฉด ไม่มีผลต่อโรคเก๊าท์ ผู้ป่วยสามารถรับประทานได้ตามปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยควรดื่มน้ำมาก ๆ ดื่มนมไขมันต่ำเป็นประจำ และควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม  นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมด้วยในผู้ป่วยโรคเก๊าท์ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคนิ่วในไตและโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังและตรวจติดตามไปพร้อมกัน

หลายคนอาจสังสัยว่าโรคเก๊าท์รักษาให้หายขาดได้จริงไหม สรุปคือโรคเก๊าท์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คือไม่มีการอักเสบของข้อซ้ำอีก เพียงแต่ผู้ป่วยจะต้องหยุดสุราให้ได้ รับประทานยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง และมาตรวจตามแพทย์นัดสม่ำเสมอ ในการมาตรวจแต่ละครั้งแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อติดตามระดับกรดยูริคในเลือดเพื่อช่วยในการปรับยาลดกรดยูริค รวมทั้งเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาและโรคร่วมอื่น ๆ ด้วย และหากรักษาโรคเก๊าท์ไม่ถูกต้องจะมีการกำเริบของโรคบ่อยขึ้น ทำให้มีโอกาสที่ต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยขึ้น ซึ่งยาในกลุ่มนี้หากใช้อย่างไม่ถูกต้องอาจมีผลเสียต่อไตและตับได้ หรือบางรายเกิดแผลในกระเพาะทะลุ อาเจียนเป็นเลือดต้องมานอนโรงพยาบาล นอกจากนี้โรคเก๊าท์อาจเป็นรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดความพิการทางข้อ ส่งผลกระทบต่อภาวะทางเศรษฐกิจ
และสังคมของผู้ป่วย ดังนั้นหากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติหรือสงสัยเกี่ยวกับโรคเก๊าท์ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาโดยด่วน

 

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน