วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

เล่าเรื่องประโยชน์ของชาเขียว ที่ไม่เกี่ยวกับรถเบนซ์

Spread the love

เล่าเรื่องประโยชน์ของชาเขียว

ที่ไม่เกี่ยวกับรถเบนซ์

greentea

          เรื่องแปลกแต่จริงครับ ชาเขียวรสหวานที่ขายดิบขายดีในประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วแทบจะหาซื้อไม่ได้ในประเทศญี่ปุ่น และชาวญี่ปุ่นก็ยืนยันว่าตกใจมากเมื่อพบว่าชาเขียวมีรสหวานได้   เมื่อเร็วๆนี้  มีรายงานว่า  ชาเขียวที่จำหน่ายในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ มักถูกอ้างอิงว่าเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแบบญี่ปุ่น แต่กลับเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่ชาเขียวที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในต่างแดนกลับเป็นชารสหวาน ซึ่งแทบไม่มีวางจำหน่ายในญี่ปุ่น

              คุณเรียวสุเกะ หนุ่มชาวญี่ปุ่นและแฟนสาวชาวอเมริกันได้เผยแพร่คลิปวีดีโอชื่อว่า “ 3สิ่งยอดนิยมที่ไม่มีจริงในญี่ปุ่น”และของอย่างแรกที่ทั้งสองคนลงความเห็นว่าถูกแอบอ้างความเป็นญี่ปุ่น คือ ชาเขียวรสหวาน   คุณ เรียวสุเกะ เล่าว่า เมื่อแกไปเที่ยวที่สหรัฐฯ และได้ซื้อชาเขียวกระป๋องมาดื่ม ตกตะลึงถึงกับคายออกมาในคำแรก เมื่อพบว่าชาเขียวมีรสหวานจัด สงสัยว่า “นี่คือเครื่องดื่มอะไร?” (โคล่าก็ไม่ใช่ น้ำส้มก็ไม่เชิง!)

            เพราะ ในความเป็นจริงแล้ว ชาบรรจุขวดที่จำหน่ายในญี่ปุ่น 99.99% ไม่มีรสหวาน โดยชาวญี่ปุ่นคิดว่าชาเขียวคือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ไม่ควรมีรสของน้ำตาลหรือสิ่งอื่นๆเจือปน

              อย่างไรก็ตาม ชารสหวานที่สามารถหาซื้อได้ในญี่ปุ่น คือ ชาผสมนม หรือชารสผลไม้ รวมทั้งชาฝรั่งที่ชาวญี่ปุ่น เรียกว่า “ชายามบ่าย” ซี่งไม่ใช่ชาเขียวตามแบบแผนของญี่ปุ่น และก็ไม่ได้หวานจัดเหมือนชาที่จำหน่ายในบ้านเรา ซึ่งชาวญี่ปุ่นฟันธงว่า “แตกต่างจากชาเขียวแบบญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง”

ชาบรรจุขวดเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น โดยในร้านสะดวกซื้อจะมีชาสารพัดชนิด ทั้งชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง ชาผู่เอ๋อ ไปจนถึงชาผสมสมุนไพรมากกว่า 30 ชนิดให้เลือกสรร ตั้งแต่ราคาขวดละ 100 เยนจนถึงราคาขั้นเทพแพงถึง 400 เยน แต่แทบจะหาซื้อชารสหวานไม่ได้เลย

ทั้งนี้ผู้ผลิตชาเขียวหลายรายในญี่ปุ่นเคยทดลองจำหน่ายชาเขียวผสมน้ำตาล แต่ไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นจนต้องเลิกผลิตไป ซึ่งรสนิยมผู้บริโภคเช่นนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประเทศไทย  เพราะผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งได้ผลิตชาเขียวแบบต้นตำรับญี่ปุ่นเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย ในระยะแรกก็ผลิตชาเขียวรสธรรมชาติเป็นหลัก แต่ต่อมาก็ต้องผลิตชารสหวานและกลิ่นมะลิ โดยระบุว่า

             “จำเป็นต้องปรับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย”.

              นี่คือคำตอบของชาเขียวรสหวานในเมืองไทย

                เมืองที่มีมันฝรั่งทอดรสกะเพรากรอบ รสสาหร่ายโนริ ฯลฯ

                ทีนี้เรามารู้จักชาวเขียวต้นตำหรับกันบ้าง

ชา” เป็นเครื่องดื่มที่กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันการผลิต “ชาเขียว” ในรูปแบบของการเป็นเครื่องดื่มสำเร็จรูปก็มีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย ทำให้สะดวกต่อการบริโภค และด้วยรสชาติที่ความอร่อย ทำให้รู้สึกสดชื่น รวมไปถึงการโฆษณาของผลิตภัณฑ์ชาเขียว หรือมีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสรรพคุณของการดื่มชาเขียวที่มีต่อร่างกายมากมาย เหล่านี้จึงเป็นแรงจูงใจทำให้กระแสการบริโภคชาเขียวเพิ่มขึ้น จนอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม หรือบริโภคในปริมาณที่สูงเกินไปโดยไม่ทราบถึงผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชาเขียว ว่าจะต้องเลือกบริโภคอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์อย่างสูงสุด และไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย

ชาเขียว (Green tea) คือ ชาที่ได้มาจากต้นชา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis ซึ่งชาชนิดนี้จะไม่ผ่านขั้นตอนการหมักเลย เตรียมได้โดยการนำใบชาสดมาผ่านความร้อนเพื่อทำให้ใบชาแห้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีการก็คือเมื่อเก็บใบชามาแล้วก็นำมาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วในหม้อทองแดงโดยใช้ความร้อนไม่สูงเกินไปและใช้มือคลึงเบาๆ ก่อนแห้ง หรืออบไอน้ำในระยะเวลาสั้นๆ แล้วนำไปอบแห้งเพื่อยับยั้งการทำงานเอนไซม์ (ความร้อนจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำให้ไม่เกิดการสลายตัว) จึงได้ใบชาที่แห้งแต่ยังสดอยู่ และมีสีที่ค่อนข้างเขียว จึงเรียกกันว่า “ชาเขียว” และการที่ใบชาที่ได้นั้นไม่ผ่านขั้นตอนการหมัก จึงทำให้ใบชามีสารประกอบฟีนอล (Phenolic compound) หลงเหลืออยู่มากกว่าในอู่หลงและชาดำ (สองชนิดนี้คือชาที่ผ่านการหมัก) จึงทำให้ชาเขียวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาทั้งสอง โดยชาเขียวจะมีสาร EGCG ประมาณ 35-50% ส่วนชาอู่หลงมีประมาณ 8-20% และชาดำจะมี EGCG อยู่เพียง 10%

 

ชาเขียวที่มีคุณภาพจะได้จากใบชาคู่ที่หนึ่งและใบชาคู่ที่สองที่เก็บจากยอด (ชาวจีนเรียกว่า “บู๋อี๋”) ส่วนใบชาคู่ที่สามและสี่จากยอดจะให้ชาชั้นสอง (ชาวจีนเรียกว่า “อันเคย”) ส่วนใบชาคู่ที่ห้าและหกจากปลายยอดจะเป็นชาชั้นเลว (ชาวจีนเรียกว่า “ล่ำก๋อง”) สำหรับสี กลิ่น และรสชาติของชานั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารคาเทชินที่มีอยู่ในชา โดยฤดูการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว จะมีผลต่อระดับของสารคาเทชิน ซึ่งในใบชาฤดูใบไม้ผลิจะมีสารคาเทชินประมาณ 12-13% ในขณะที่ชาในฤดูร้อนจะมีสารคาเทชินประมาณ 13-14% (ใบชาอ่อนจะมีสารคาเทชินมากกว่าใบชาแก่)

สารสำคัญที่พบได้ในชาเขียว จะประกอยไปด้วย กรดอะมิโน วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี สารในกลุ่ม xanthine alkaloids คือ คาเฟอีน (caffeine) และธิโอฟิลลีน (theophylline) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่เรียกว่า คาเทชิน (catechins) โดยเราสามารถแยกสารคาเทชินออกได้เป็น 5 ชนิด คือ gallocatechin (GC), epicatechin (EC), epigallocatechin (EGC), epicatechin gallate (ECG), และ epigallocatechin gallate (EGCG) โดยคาเทชินที่พบได้มากและมีฤทธิ์ทรงพลังที่สุดในชาเขียว คือ สารอีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (epigallocatechin gallate – EGCG) ซึ่งมีความสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ลักษณะของสีน้ำชา ถ้าชงชาจากใบชาจะให้น้ำชาออกสีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเขียวอ่อน (ถ้าเป็นชาเขียวผง หรือชามัตชะ จะให้น้ำชาสีเขียวสด) ส่วนกลิ่นของน้ำชานั้น ถ้าเป็นชาเขียวของจีนจะให้กลิ่นเขียวสดชื่น มีกลิ่นคล้ายกลิ่นถั่วปนอยู่ แต่ถ้าเป็นชาเขียวของญี่ปุ่นจะให้กลิ่นเขียวสดค่อนข้างมาก มีกลิ่นของสาหร่าย และอาจมีกลิ่นคล้ายกับโชยุปนอยู่ด้วย

ชาเขียวถูกนำมาใช้ในการรักษาตั้งแต่โรคปวดศีรษะไปจนถึงโรคซึ่มเศร้า ซึ่งในประเทศจีนมีการใช้ชาเขียวเป็นยามามากกว่า 4,000 ปีแล้ว

ช่วยทำให้เจริญอาหาร

แก้เมาเหล้า ทำให้สร่างเมา

ช่วยแก้หวัด แก้ร้อนใน ช่วยขับเหงื่อ ขับสารพิษตกค้าง

ช่วยให้ผ่อนคลายอารมณ์ สงบประสาท ระบายความร้อนจากศีรษะและเบ้าตา ทำให้สดชื่น ตาสว่าง ไม่ง่วงนอน และช่วยทำให้หายใจสดชื่น

ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ระบายความร้อนออกจากปอด และช่วยขับเสมหะ

ช่วยแก้บิด ท้องร่วง ท้องเสีย

ช่วยเพิ่มแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ จึงสามารถช่วยล้างสารพิษและกำจัดพิษในลำไส้ได้

ช่วยป้องกันตับจากพิษและโรคอื่นๆ

ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

ชาเขียวมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ ต้านเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ต้านเชื้อ Botulinus และเชื้อ Staphylococcus

ช่วยขับปัสสาวะ ป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีและในไต

ช่วยในการห้ามเลือดหรือทำให้เลือดไหลช้าลง

ชาเขียวมีสาร EGCG สามารถช่วยกำจัดไขมันคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด จึงส่งผลช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงจากการอุดตันของไขมันในหลอดเลือดได้

ช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงช่วยในการป้องกันและชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้ เพราะสาร catechins ในชาเขียวมีประสิทธิภาพในการจำกัดการทำงานของ amylase enzyme ทำให้ไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่ร่างกายได้ ส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดไม่สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการทดสอบในหนูทดลองที่พบว่า catechins สามารถช่วยลดระดับกลูโคสและระดับอินซูลินในเลือดได้ และเมื่อทำการวิจัยกับอาสาสมัครโดยให้ catechins ในขนาด 300 มิลลิกรัม แล้วตามด้วยการบริโภคแป้งข้าว 50 กรัม พบว่าระดับของกลูโคสและระดับของอินซูลินในเลือดไม่สูงขึ้นตามที่ควรจะเป็น

การดื่มชาเขียวมีผลช่วยลดอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ได้ โดยผู้ที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำจะมีอัตราการเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อนต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม โดยมีสาร EGCG เป็นสารต้านพิษ และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อส่วนดี (แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันได้ว่าชาเขียวสามารถรักษาโรคมะเร็งได้) ซึ่งในปี 1994 วารสารของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการดื่มชาเขียวสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคมะเร็งหลอดอาหารในหมู่ชาวจีนทั้งหญิงและชายได้เกือบถึง 60% ส่วนนักวิจัยจากมหาวิทยาปูร์ดู ได้สรุปว่า สารประกอบในชาเขียวสามารถช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ส่วนนิตยสาร Herbs for Health ได้อ้างตัวอย่างรายงานจากญี่ปุ่นว่าคนที่ดื่มชาเขียว 10 แก้วต่อวัน จะปลอดโรคมะเร็งนานกว่าคนที่ดื่มชาเขียวน้อยกว่า 3 แก้วต่อวัน ถึง 3 ปี (ในชาเขียว 3 แก้ว มีโพลีฟีนอลประมาณ 240-320 มิลลิกรัม) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่สถาบันวิจัยมะเร็ง Saitama ที่สรุปว่า การเกิดโรคมะเร็งเต้านมหรือการขยายตัวของโรคนั้นจะน้อยลง หากในประวัติผู้หญิงคนนั้นมีการดื่มชาเขียว 5 ถ้วย หรือมากกว่านั้นต่อวัน และจากรายงานการแพทย์ของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1982 และ 1987 ได้พบว่าในแถบจังหวัดมิซูโอกะ ซึ่งเป็นถิ่นที่มีการดื่มชาเขียวกันมาก มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ส่วนรายงานจากทีมวิทยาศาสตร์จากศูนย์กลางการวิจัยโรคมะเร็ง ในบริติช โคลัมเบีย ได้สรุปว่าสารคาเทชินในชาเขียวสามารถยับยั้งการสร้างไรโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังมีการการทดลองในหนูทดลองเพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยให้หนูทดลองบริโภคสารละลายโพลีฟีนอลแต่ละชนิด และฉีดสารก่อมะเร็งเอ็นเอ็นเคเข้าไป ผลปรากฏว่าสารโพลีฟีนอล EGCG ที่พบมากในชาเขียวสามารถลดอัตราการก่อตัวเป็นมะเร็งได้ดีที่สุด โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า catechins มีบทบาทช่วยลดภาวะเป็นพิษของสารก่อมะเร็งบางชนิด แทรกแซงกระบวนเกาะยึดตัวของสารก่อมะเร็งต่อ DNA ของเซลล์ปกติ มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง ช่วยเสริมการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระและเอนไซม์อื่นๆ และช่วยจำกัดการลุกลามของเซลล์เนื้องอก

การวิจัยเมื่อปี 1997 ของมหาวิทยาลัยแคนซัส ได้สรุปว่า EGCG นั้นมีฤทธิ์แรงเท่ากับ Resveratrol ถึงเกือบ 2 เท่า ซึ่งเป็นการอธิบายว่า ทำไมชาวญี่ปุ่นจึงมีอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจค่อนข้างต่ำ แม้ว่ามากกว่า 75% ของชาวญี่ปุ่นจะสูบบุหรี่ก็ตาม แล้วทำไมชาวฝรั่งเศสจึงมีอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจน้อยกว่าชาวอเมริกัน ทั้งๆ ที่บริโภคอาหารที่มีไขมันสูงเช่นกัน สาเหตุก็เป็นเพราะชาวฝรั่งเศสชอบดื่มไวน์แดง ซึ่งมีสาร Resveratrol ที่เป็นโพลีฟีนอล ที่ช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่และรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงนั่นเอง

ชาเขียวมีฤทธิ์ต่อต้านและยับยั้งการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ จากข้อมูลในปัจจุบันได้แนะนำว่าการบริโภคอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสามารถช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ เพราะสารต้านอนุมูลอิสระจะไปยับยั้งขบวนการออกซิเดชั่นของไขมันอันจะนำไปสู่การลดการลดการเกิดของหลอดเลือดแข็งตัว (antherosclerosis) และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ในที่สุด

สาร EGCG สามารถช่วยยับยั้งการก่อตัวแบบผิดปกติของก้อนเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหัวใจวายและลมชักได้ และจากผลการวิจัยอื่นๆ ยังพบอีกว่าชาเขียวนั้นมีสรรพคุณเทียบเท่ากับยาแอสไพรินในการยับยั้งการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจวายและหลอดเลือดสมอง

สารไทอะนีน (Theanine) เป็นกรดอะมิโนที่ทำชาเขียวมีรสกลมกล่อม สามารถช่วยควบคุมการทำงานของสมองและลดความดันโลหิตได้

นอกจากชาเขียวจะมีสาร EGCG แล้ว ชาเขียวยังมีสารอื่นๆ ที่สำคัญอีกมากมาย เช่น วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย สารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ที่มีประโยชน์ต่อขบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และช่วยในการจับสารพิษตกค้างออกจากร่างกาย

                 มหาวิทยาลัย Cleveland’s Western Reserve ได้สรุปว่า การดื่มชาเขียว 4 แก้วหรือมากกว่านั้น จะช่วยป้องกันโรคปวดข้อหรือลดอาการปวดในกรณีของคนที่ป่วยอยู่แล้ว

                    รายงานไม่ได้บอกว่าดื่มชาเขียวหวานเจี๊ยบแล้วจะได้อะไร

                     แต่ก็มีข่าวว่า บางคนดื่มแล้วได้เงินล้านบ้าง ไอโฟนบ้าง  ได้ทองแท่งบ้าง รถเบนซ์บ้าง  เลยดื่มกันจนพุงปลิ้น จนคนขายรวยจนพุงปลิ้น

 

 

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียงและรายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ