วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

เล็งเก็บภาษีลาภลอย จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

09 มิ.ย. 2017
277
Spread the love

scoop

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS

เล็งเก็บภาษีลาภลอย จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

 

              ท่านผู้อ่านครับ พูดกันมาระยะหนึ่งว่า รัฐบาลมีแผนจะเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เรียกว่า ภาษีลาภลอย  คนก็งง  ว่า ภาษีลาภลอยคืออะไร เก็บภาษีจากคนถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือไง เก็บภาษีจากคนได้รางวัลจากการชิงโชคหรือไร ผมมีรายละเอียดมาบอกให้ท่านทราบวันนี้ครับ

               เรื่องมีว่า อันเนื่องมาจาก รัฐบาลได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งในปัจจุบันและอนาคตจำนวนมาก ทำให้ผู้มีที่ดินหรือที่อยู่อาศัยได้ประโยชน์มูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น โครงการลงทุนด้านคมนาคมของรัฐบาล 1.79 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 2558-2565 ทำให้มูลค่าที่ดินและห้องชุดบริเวณโครงการเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยดูจากราคาประเมินปี 2559-2562 เพิ่มขึ้น 100-150% เทียบกับราคาประเมินช่วง 4 ปีก่อนหน้า จึงเห็นว่าการที่มีผู้ได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากการลงทุนนี้เพราะสามารถขายที่ดินที่ตนเองครอบครองอยู่ได้ราคาดี การที่อสังหาริมทรัพย์ที่เราครอบครองอยู่เดิมไม่มีราคา พอมีการพัฒนาของรัฐเข้ามาทำให้ทรัพย์สินมีราคาเพิ่ม ได้เงินเพิ่ม ถือว่า นี่คือ ลาภลอย

              ความคืบหน้าล่าสุด คุณกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.ได้จัดการ เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. …. หรือที่รู้จักกันว่า การเก็บภาษีลาภลอย แล้ว  โดยสาระสำคัญของกฎหมาย กำหนดว่าผู้เสียภาษีลาภลอย คือ ผู้ขายที่ดินหรือห้องชุด เจ้าของที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐทั้งนี้ โครงการที่จะจัดเก็บภาษีคือ โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน สนามบิน ท่าเรือ โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง

การจัดเก็บภาษีจะมี 2 กรณี คือ กรณีที่ 1.การจัดเก็บในระหว่างการดำเนินโครงการฯ จะจัดเก็บจากการขาย หรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง รอบพื้นที่โครงการในรัศมีที่กำหนด กรณีที่ 2 คือ การจัดเก็บเมื่อการดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จ จะจัดเก็บจากที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท แต่จะยกเว้นการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรม   จะเก็บจากห้องชุดของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่รอการจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการฯ โดยให้เก็บภาษีดังกล่าวในปีถัดจากปีที่โครงการฯ แล้วเสร็จเพียงครั้งเดียว

สำหรับพื้นที่จัดเก็บภาษีกำหนดขอบเขตไว้ ดังนี้ 1.โครงการฯ และพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมีของโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2.5 กิโลเมตร รอบสถานี 2.โครงการฯ และพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมีสนามบิน 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน 3.โครงการฯ และพื้นที่ ที่อยู่ในรัศมี ท่าเรือ 5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ และ 4.โครงการฯ และพื้นที่ ที่อยู่ในรัศโครงการทางด่วนพิเศษ 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้นและทางลงทั้งนี้ ผู้จัดเก็บภาษีคือกรมที่ดิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยอัตราการเก็บภาษีกำหนดเพดานสูงสุด 5% แต่จัดเก็บจริงจะพิจารณากำหนดโดยคณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษี โดยออกเป็นกฎกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป

                        คุณกฤษฎากล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังได้ศึกษาการเก็บภาษีลาภลอยนี้มานานแล้ว  เมื่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอให้เก็บภาษีดังกล่าว  สศค. จึงนำร่างกฎหมายนี้มารับฟังความเห็นจากประชาชน เพื่อดูข้อดีข้อเสียของกฎหมาย ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป.

                         ผมก็ขอสรุปส่งท้ายว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่นี้คงมีความเป็นไปได้ในไม่ช้านี้ และเรื่องนี้มองแล้วเหมือนว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริง ตอนนี้ยังไกล แต่อนาคตอาจจะไม่ไกล เพราะกางลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ มิได้จำกัดในเมืองหลวง จังหวัดเชียงใหม่ของเรามีหลายโครงการที่ศึกษากันอยู่และจะต้องมีความเป็นไปได้ในเวลาอันไม่ช้านี้เหมือนกัน จึงประมาทไม่ได้ ต้องรับรู้รับทราบแต่เนิ่นๆ เช่น โครงการขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้าของเชียงใหม่ก็ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ถ้าเกิดขึ้นมา อันนั้นคือ ใช่เลย ครับ หากที่ดินมีราคาแพงขึ้น ใครได้รับประโยชน์ก็จะต้องโดนภาษีลาภลอย ครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Mgr. ออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน