วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

เปิดตัวหญิงไทยคนแรกตะลุย’อวกาศ’

Spread the love

เปิดตัวหญิงไทยคนแรกตะลุย’อวกาศ’

 

เปิดตัวหญิงไทยคนแรก เตรียมท่องอวกาศกับโครงการ “แอ๊กซ์ อพอลโล่”ต้องผ่านภารกิจโหด ก่อนได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 23 คน จากผู้สมัคร 107 คนทั่วโลก

ภาควิชาโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แถลงข่าวเปิดตัวผู้หญิงไทยคนแรกที่มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวอวกาศ (THAILAND’S FRIST SPACE TRAVELLER) กับโครงการ “แอ๊กซ์ อพอลโล่” ซึ่งเธอเป็น 1 ใน 23 คน จากผู้สมัคร 107 คนทั่วโลก ที่ได้รับคัดเลือกท่องอวกาศในช่วงปี 2558

ผู้หญิงไทยคนแรกที่จะได้เดินทางท่องอวกาศ คือ น.ส.พิรดา เตซะวิจิตร์ ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ปัจจุบันทำงานเป็นวิศวกรดาวเทียม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(GISTDA) ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับดาวเทียมไทยโซต หรือดาวเทียม THEOS ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย โดยดูทั้งภาคพื้นดินและบนดาวเทียม สำหรับใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนบริหารประเทศในอนาคต

สำหรับโอกาสที่ได้รับคัดเลือกเดินทางท่องอวกาศในครั้งนี้ เธอบอกว่า ระหว่างที่ได้รับทุน THEOS Operational Training Progrogram(TOTP) ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านดาวเทียมที่สถาบัน ISAE ที่ประเทศฝรั่งเศษ ได้มีโอกาสเดินตามความฝันของตัวเอง โดยการสมัครเข้าร่วมโครงการ “แอ๊กซ์ อพอลโล่” ซึ่งหลังจากผ่านการทดสอบทั้งด้านความกล้าหาญ ความกระตือรื้อร้น และการทำงานเป็นทีม สุดท้ายจึงได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 23 คน จากผู้สมัคร 107 คน 62 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีผู้หญิงที่ได้รับคัดเลือกเพียง 2 คน ในการเดินทางไปท่องอวกาศ ในช่วงปี 2558 โดยขึ้นเครื่องบิน ลิงซ์ มาร์ค ทู (LYNX MARK II) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์เพอดิชั่นคอร์เปอเรชั่น (SXC)

น.ส.พิรดา เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนท่องอวกาศได้เข้าฝึกที่แคมป์ทางอวกาศ ณ เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา พร้อมกับผู้เข้ารอบอีก 2 คน ซึ่งได้เรียนรู้การเป็นนักบินอวกาศอย่างแท้จริง ก่อนที่คณะกรรมการ ประกอบด้วย บัซ อัลดริน นักบินอวกาศผู้เหยียบดวงจันทร์ คนที่ 2 ต่อจาก นีล อาร์มสตรอง และตัวแทนจากบริษัท สเปซเอ็กซ์เพอดิชั่นคอร์เปอเรชั่น จะตัดสินเลือกตัวแทนจากแต่ละประเทศ ซึ่งในการเตรียมตัวก่อนเดินทางนั้น หัวใจหลักคือ ความแข็งแกร่งของทั้งด้านร่างกายและจิตใจซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องมีการตรวจสมรรถภาพร่างกายเหมือนนักบิน รวมทั้งการทดสอบด้านจิตวิทยา เพื่อทดสอบสภาพจิตใจว่า สามารถรับแรงกดดันได้มากน้อยแค่ไหน หากเจอภาวะเครียด ภาวะขาดออกซิเจนจะต้องควบคุมสติอย่างไร

“สิ่งที่หนักหนาสาหัสที่สุด คือ การฝึกความแข็งแกร่งของร่างกาย ในเรื่องของความกล้าหาญ มีการใช้คอร์สฝึกทหารมาใช้ทดสอบ เช่น ปีนผาจำลอง วิดพื้น ซิตอัพ กระโดดข้ามรั้ว จากนั้นจึงต่อด้วยการทำภารกิจ G-Centrifuge หรือการทดลองนั่งในห้องนักบินในภาวะยานขับสู่ชั้นบรรยากาศจริง เพื่อทดสอบสภาวะร่างกายภายใต้แรงดันสูงถึง 4.5 จี ภารกิจ Jet Fighter Flight คือ การทดลองบินเร็วกว่าเสียง บินกลับหัวกลางอากาศ และภารกิจ Zero G Flight ซึ่งจะบินเป็นเส้นโค้งพาราโบลา ทุกคนจะได้ลองสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนัก” น.ส.พิรดา เล่า

น.ส.พิรดา เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเดินทางท่องอวกาศ คาดว่า จะเดินทางประมาณปี 2558 โดยเริ่มจากการขึ้นเครื่องที่โมฮาเวย์ แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการเดินทางจะมีเพียงนักบิน 1 คน และผู้โดยสาร 1 คน ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก ด้วยความเร็ว 3,552 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลา 3.30 นาที จากนั้น ยานลำนี้จะขึ้นมาอยู่บริเวณ 103 กิโลเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในความสูง 103 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งผู้โดยสารจะต้องสวมชุดจั๊มพ์สูทป้องกันแรงกระแทก จะได้สัมผัสกับภาวะไร้แรงโน้มถ่วง โดยนักบินจะดับเครื่องยนต์ราว 6 นาที เพื่อให้ผู้โดยสารได้ถ่ายรูปและจดจำประสบการณ์ท่องอวกาศ ขณะที่ ขากลับยานลำนี้จะต้องใช้แรงขับมากกว่าแรงโน้มถ่วงโลก ถึง 4 เท่า ก่อนที่จะหล่นลงจอดเหมือนเครื่องบินทั่วไป รวมเวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 60 นาที

 

ขอบคุณที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20140206/5

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน