วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

เปิดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด รุ่น 2/2556

Spread the love

 

เปิดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด รุ่น 2/2556

จังหวัดเชียงใหม่ เปิดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด รุ่น 2/2556

จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกรมรบพิเศษที่ 5 ค่ายขุนเณร เปิดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด นำผู้เสพผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ประจำปี 2556 ณ กรมรบพิเศษที่ 5 ค่ายขุนเณร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา เวลา 13.30 น. นายประจวบ กันธิยะ นายอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกรมรบพิเศษที่ 5 ค่ายขุนเณร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด นำผู้เสพผู้ติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 6-14 กรกฎาคม 2556 ณ กรมรบพิเศษที่ 5 ค่ายขุนเณร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ผู้เสพและผู้ติด        ยาเสพติด ได้มีการเรียนรู้ พัฒนาทักษะด้านต่างๆ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม และหลังจากผ่านหลักสูตรแล้ว ยังจัดให้มีระบบการเฝ้าระวัง ติดตามฟื้นฟู ช่วยเหลือดูแล โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน หน่วยงาน ตลอดถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้ผู้ที่ผ่านกระบวนการบำบัดรักษา สามารถพึ่งพาตนเองได้ และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

นายอำเภอแม่ริม เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อให้ผู้ที่หลงผิดไปเสพยา ให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม โดยการคัดกรองใช้กระบวนการชุมชน ให้ชาวบ้านมาประชาคมแล้วชี้ตัวว่าใครคือผู้เสพ ผู้ค้า แต่ละหมู่บ้านจะมีคณะผู้ทำงานประสานพลังแผ่นดิน หมู่บ้านละ 25 คน มีชื่อเรียกว่า ตาสับปะรด จะมีหน้าที่กลั่นกรองว่าใครคือผู้เสพจริง หรือผู้ที่ถูกชาวบ้านใส่ร้าย หลังจากนั้นจะมีการจัดชุดคณะทำงานลงพื้นทีอีก 11 ชุด ประกอบด้วย ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข อาสาสมัคร กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตรวจปัสสาวะ กรณีที่พบสารเสพติดก็จะแนะนำให้มาเข้าค่ายบำบัด โดยพื้นที่ ที่จับตามองเป็นพิเศษ อยู่ที่ตำบลโป่งแยง เพราะเป็นหมู่บ้านที่มีชาวไทยภูเขาเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ได้กำหนดจัดค่ายฯ รุ่นที่ 3 ในเดือนสิงหาคม 2556 โดยรายชื่อผู้เสพผู้ติด ได้มาจากกระบวนค้นหา โดยการทำประชาคมหมู่บ้าน การสุ่มตรวจปัสสาวะ รวมทั้งผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกบังคับบำบัด เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแก้ไขที่เหมาะสม หลังจากนี้ยังต้องติดตามพฤติกรรม   ผู้ผ่านค่ายต่อเนื่องอีก 1 ปี โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และนายจ้างสถานประกอบการ เพื่อเข้าไปดูแล ช่วยเหลือแบบครบวงจร ให้คนเหล่านี้ ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขต่อไป

 

 

สำนักข่าว

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน