วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

อาจารย์ คณะแพทย์ มช. คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2559

05 ก.ย. 2016
379
Spread the love

unnamed (1)

อาจารย์ คณะแพทย์ มช. คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2559

อาจารย์  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่   สาขาชีววิทยา ประจำปี 2559  ด้วยผลงาน“การพัฒนาเทคนิคพื้นฐานด้านปรสิตวิทยาทางการแพทย์เพื่อการประยุกต์” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

ผศ.ดร.อติพร แซ่อึ้ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา  คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่าผลงานวิจัยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันของทีมวิจัย ซึ่งประกอบด้วย นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ          และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มีอยู่ 3 หัวข้อหลักใหญ่ๆ คืองานวิจัยยุงก้นปล่องพาหะนำโรค ,งานวิจัยแมลงริ้นดำ และงานวิจัยหนอนพยาธิโรคเท้าช้าง        นับว่าผลงานวิจัยทั้ง 3 หัวข้อนี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม รวมทั้งส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนา  เนื่องจากการศึกษาวิจัยพื้นฐานด้านปรสิตวิทยาทางการแพทย์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เป็นรากฐานสำคัญของการวิจัยและพัฒนาต่อยอดอย่างมีประสิทธิภาพ          จะนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ที่ก้าวหน้าทางวิชาการ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคปรสิต

สำหรับงานวิจัยด้านยุงก้นปล่องพาหะนำโรค เป็นการพัฒนาขั้นตอนและเทคนิคที่เป็นระบบ  มาใช้จำแนกสปีชีส์ยุงก้นปล่องในกลุ่มสปีชีส์ซับซ้อน ได้สำเร็จ โดยเริ่มจากการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงยุงก้นปล่องในห้องปฏิบัติการ  จากนั้นทำการศึกษาวิจัยแบบสหวิทยาการ ซึ่งเป็นการวิจัยที่ได้บูรณาการความรู้และข้อมูลที่ได้จากทั้งในภาคสนาม   และห้องปฏิบัติการอย่างละเอียดและเป็นระบบ  อาทิ การศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาของยุงก้นปล่องในระยะต่างๆ  การศึกษาด้านชีววิทยา  นิเวศวิทยา  พันธุศาสตร์ระดับโครโมโซมและระดับโมเลกุลดีเอ็นเอ  การวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการของยุงก้นปล่อง   และศึกษาศักยภาพของยุงก้นปล่องในการเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย   จนนำไปสู่การค้นพบยุงก้นปล่องสปีชีส์ใหม่ของโลก จำนวน 3 สปีชีส์  ซึ่งการค้นพบยุงทั้ง 3 สปีชีส์นี้ เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ศึกษาวิจัยยุงก้นปล่องทั่วโลก เพราะการจำแนกสปีชีส์ของยุงได้ถูกต้องนั้น เป็นหัวใจสำคัญของการวิจัยต่อยอดในด้านต่างๆ และนอกจากนี้ ยังเป็นทีมวิจัยแรก ที่ศึกษาพันธุศาสตร์ของยุงก้นปล่อง จำนวน 8 ชนิด ที่เป็นสมาชิกของยุงกลุ่มไฮร์คานัสในประเทศไทย โดยอาศัยเทคนิคที่ได้พัฒนาขึ้นมา และประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้เทคนิคทางจุลทรรศน์อิเล็กตรอนและเทคนิคทางชีววิทยาระดับโมเลกุล มาใช้จำแนกสปีชีส์ยุงก้นปล่องกลุ่มนี้ได้

ในส่วนของงานวิจัยแมลงริ้นดำ เป็นการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสำรวจความหลากหลายของสปีชีส์แมลงริ้นดำ ที่มีการกระจายตัวในประเทศไทย และการค้นหาแมลงริ้นดำสปีชีส์ใหม่ การศึกษาด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา และอณูพันธุศาสตร์ของแมลงริ้นดำในประเทศไทย โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2553-2557 ทีมวิจัย ได้ค้นพบแมลงริ้นดำสปีชีส์ใหม่ของโลก จำนวน 7 สปีชีส์ และผลการสำรวจความหลากหลายของสปีชีส์แมลงริ้นดำจาก 41 จังหวัด ที่เป็นตัวแทนของ 6 ภูมิภาคในประเทศไทย พบว่า ภาคเหนือมีความสมบูรณ์ของสปีชีส์แมลงริ้นดำมากที่สุด ตามด้วยภาคกลาง     ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย มีประโยชน์ต่อผู้ที่ศึกษาวิจัยแมลงริ้นดำทั่วโลก สำหรับใช้จำแนกสปีชีส์แมลงริ้นดำ รวมทั้งนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย และเพื่อการประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ในอนาคต อาทิ การศึกษาการเป็นพาหะนำโรคของแมลงริ้นดำ  รวมถึงศึกษาโปรตีนและสารก่อภูมิแพ้ในต่อมน้ำลายของแมลงริ้นดำ เพื่อให้ทราบบทบาทหน้าที่ของโปรตีนในต่อมน้ำลายของแมลงริ้นดำ และโปรตีนชนิดที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญในผู้ป่วยคนไทยที่ถูกแมลงริ้นดำกัด เป็นต้น

สำหรับงานวิจัยหนอนพยาธิโรคเท้าช้าง เป็นการพัฒนาเทคนิคเพาะเลี้ยงหนอนพยาธิฟิลาเรียชนิด Brugia malayi ในห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก ได้ประสบความสำเร็จ ซึ่งผลงานวิจัยนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวิจัยต่อยอดได้  อาทิ การพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูป นอกจากนี้ ทีมวิจัย ยังได้ศึกษาศักยภาพของยุงก้นปล่องกลุ่มไฮร์คานัสในประเทศไทย ในการเป็นพาหะนำโรคเท้าช้างในห้องปฏิบัติการ และได้รับองค์ความรู้ใหม่จากงานวิจัยนี้ โดยค้นพบว่ายุงก้นปล่อง Anopheles peditaeniatus มีศักยภาพสูงในการเป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง รวมทั้งการค้นพบกลไกการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของยุงก้นปล่องกลุ่มนี้ต่อหนอนพยาธิโรคเท้าช้างอีกด้วย.

unnamed (3)

unnamed (4)

unnamed

unnamed (2)

CNX NEWS เจาะข่าว  ตรงใจคุณ