วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

อบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

Spread the love

ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่ออบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

 

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่ออบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียนและบทบาทภารกิจของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเพื่อเสริมสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินงาน

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่ออบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ นางสาวสาธนา ขณะรัตน์ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 จากการลงนามในปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Declaration) หรือเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าปฏิญญากรุงเทพ ( Bangkok Declaration) ต่อมาในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของการก่อตั้งอาเซียน ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้ลงนามรับรองกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เพื่อรวมตัวกันอย่างเป็นทางการ และยกฐานะของอาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 หลังจากประเทศสมาชิกให้สัตยาบันครบทั้ง 10 ประเทศโดยมีเป้าหมายการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ 1) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และ 3) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่ออบรมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียนและบทบาทภารกิจของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเพื่อเสริมสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินงาน โดยกำหนดจัดขึ้นจำนวน 5 ครั้ง ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ณ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ครั้งที่ 4 ณ จังหวัดชลบุรี และครั้งที่ 5 ณ จังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐที่บังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่จากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100 คนนายสมชาย คมกริช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของประเทศไทย และโดยเฉพาะความพร้อมของบุคลากรของรัฐและประชาชน เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ. 2558 เป็น วาระแห่งชาติ อีกเรื่องหนึ่ง ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ การสร้างองค์ความรู้เรื่องอาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นความจำเป็นประการแรกๆ ที่จะช่วยให้เราทันสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศ ประชาชนรวมทั้งกับตัวเราเองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ซึ่งประชาคมอาเซียนเป็นที่สนใจและจับตามองของประชาคมทั่วโลกด้วย ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 เสาหลัก ตามที่ผู้รายงานได้กล่าวถึงนั้น ครอบคลุมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในทุกด้าน คือ ด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายด้านการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศกลุ่มอาเซียน ทั้งหมดล้วนเป็นภารกิจที่ดำเนินการตาม ยุทธศาสตร์ แผนงาน และข้อตกลงภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่บุคลากรของรัฐจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของตนให้มีความสอดคล้องต่อการร่วมกันสร้างประชาคมอาเซียน ตามคำขวัญ อาเซียน : “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม”สำหรับบทบาทของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 นั้น จะมุ่งเน้นภารกิจการพัฒนางานให้ความคุ้มครองประชาชน คือ 1. สร้างมาตรฐานการให้บริการประชาชน เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือประชาชนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา โดยมีกฎหมายรองรับ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และการคุ้มครองพยาน ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. 2556 ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีงบประมาณดำเนินการ สามารถให้ความคุ้มครองทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติในประเทศไทย อย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมกัน 2.การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย การให้บริการประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา134/1 ( พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22 ) พ.ศ. 2547) (คุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน) จึงอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้การคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้เสียหายในเรื่องนี้กับประเทศสมาชิกอาเซียน ได้เป็นอย่างดีเนื่องจาก การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนมีความเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน การเตรียมความพร้อมสำหรับบุคลากรจึงมีความสำคัญ ซึ่งในวันนี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมในด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกอาเซียน การคุ้มครองสิทธิของประชากรอาเซียน รวมทั้งบทบาทของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับประชาชนที่อยู่ภายใต้ภารกิจความรับผิดชอบของหน่วยงานท่านทั้งหลายด้วย 

 

 

สำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน