วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

สื่อนอกเผย พิษค่าแรง 300 ปิด 7,221 บริษัท

27 ก.พ. 2013
226
Spread the love

สื่อนอกเผยพิษ300ปิด7,221บริษัท

‘บลูมเบิร์ก’ ชี้ ธุรกิจของคนไทยปิดกิจการเพิ่มกว่าเมื่อช่วงวิกฤติน้ำท่วมถึง 27 เปอร์เซ็นต์

 

27 ก.พ. 56  สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า  คอนเฟ็ดเดอร์เรท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดนอน และเป็นธุรกิจในครอบครัวของคนไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ ต้องสูญเสียลูกค้าเยอรมัน ที่ทำธุรกิจร่วมกันมานาน 22 ปี หลังการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท เมื่อปีที่แล้ว ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงตามไปด้วย

นายวีรยุทธ สุขหัตถาโก เจ้าของธุรกิจ ที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายที่เยอรมนีและฝรั่งเศส มูลค่าปีละ 80 ล้านบาท บอกว่า ตอนนี้ลูกค้าไปยอมคุยด้วย ทั้งที่ทำธุรกิจร่วมกันมายาวนาน เขาตั้งบริษัทเมื่อ 28 ปีก่อน แม้ว่าไม่อยากจะสูญเสียธุรกิจไป แต่ก็อาจจำเป็นต้องปิดกิจการภายในสิ้นปีนี้ ถ้าไม่สามารถหาออร์เดอร์ใหม่ ๆ ได้

นายวีรยุทธ ไม่ใช่คนรายเดียวที่เจอกับวิกฤตินี้ / จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า เมื่อไตรมาสที่แล้ว มีบริษัทของคนไทย 7,221 แห่ง ต้องปิดกิจการไป ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ ถึง 27 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยเผชิญน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี / ตัวเลขบริษัทที่ปิดกิจการ เมื่อปีที่แล้ว ยังสูงเป็นสองเท่าของตัวเลขเฉลี่ยนของบริษัทที่ปิดกิจการในระยะ 9 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 3 ,000 แห่งด้วย

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ เมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากเริ่มปรับขึ้นใน 7 จังหวัด เมื่อเดือนเมษายน รวมทั้งกรุงเทพฯกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า ก่อนจะมีการปรับขึ้น อัตราค่าแรงขั้นต่ำมีตั้งแต่ 159 บาท ที่จังหวัดพะเยา ไปจนถึง 221 บาท ที่จังหวัดภูเก็ต

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าว ได้มีขึ้นในช่วงที่ภาคการผลิตของไทย กำลังรับมือกับค่าเงินบาทแข็งและการส่งออกที่ชะลอตัวลงเพราะความต้องการลดลง อันเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกถดถอย

อูจีน เหลียว นักเศรษฐศาสตร์ของ ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ปัญหาเรื่้องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทย อาจมีผลต่อการแข่งจัน เนื่องจากจะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นของบรรดาบริษัทต่าง ๆ และถ้าไม่มีหนทางมาชดเชยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตามไปด้วย และยังมีความวิตกเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาทอีก

บลูมเบิร์ก ระบุว่า เงินบาทแข็งค่าที่สุดในบรรดาสกุลเงิน 11 ชาติในเอเชีย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามข้อเสนอของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ประชุมนาน 3 วัน /  นายกิตติรัตน์ ต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศลดดอกเบี้ย เพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ค่าเงินบาทแข็งสุดในรอบ 17 เดือน เมื่อเดือนมกราคม

องค์การแรงงานสากล หรือ ไอแอลโอ เปิดเผยว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเอเชีย เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วงระหว่างปี 2543 – 2554 / รายงานจาก เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ พีแอลซี ระบุว่า แรงงานจากจีนจนถึงอินโดนีเซีย ได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อันเป็นการรับมือกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น แต่ทำให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้่นอย่างถาวรตามไปด้วย บริษัทหลายแห่งจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้า

ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลางของไทย จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มและไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเพียงพอจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล / บริษัทในไทยต้องเจอค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น 6.39 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ อาจมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอีก 0.57 เปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทขนาดย่อมจะได้รับผลกระทบหนักสุด เพราะค่าใช้จ่ายสูงถึง 17.8 เปอร์เซ็นต์

จากข้อมูลเมื่อปี 2554 ของรัฐบาล พบว่า มีบริษัทมากกว่า 2.9 ล้านแห่งในประเทศไทย ทั้งขนาดย่อมและขนาดกลาง ที่ครองส่วนแบ่งในภาคธุรกิจทั้งหมด 99.8 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ และมีแรงงานราว 9.7 ล้านคน หรือเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ของตำแหน่งงานทั้งหมดของประเทศ และมีรายได้ปีละ 3.5 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของจีดีพี แม้ว่าจะมีโรงงานหลายแห่งปิดกิจการไป แต่อัตราการว่างงานของไทยก็ยังต่ำที่สุดในโลก โดยอยู่ที่ 0.48 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปี 2554 ที่อยู่ที่ 0.63 เปอร์เซ็นต์ / นักวิเคราะห์ของมูดี้ส์ อนาลีติกศ์ ที่ซิดนีย์ ให้ความเห็นว่า ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรง ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เผชิญค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้นนั้น ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงอำนาจในการซื้อของลูกค้า และช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจด้วย เพราะทำให้ครอบครัวที่ยากจน รายได้ต่ำ สามารถบริโภคได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มการใช้จ่ายของพวกเขาด้วย ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วภูมิภาค และยังอาจช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เนื่องจากมันจะดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น

แต่สำหรับนายวีรยุทธ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจชุดนอนที่เชียงใหม่ ซึ่งมีคนงาน 140 คน กลับมองไม่เห็นโอกาสที่จะได้ประโยชน์ดังกล่าว เขาบอกว่า ลูกค้าของเขาพูดแต่ว่า ไม่เข้าใจว่าประเทศไทยขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำพรวดเดียวขนาดนี้ได้อย่างไร ทั้งที่มันควรจะค่อย ๆ ขึ้นไปทีละขั้น

 

ขอบคุณภาพและข่าว http://www.komchadluek.net

สำนักข่าว

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน