วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ศาลจังหวัดเชียงใหม่เปิดคลีนิกจิตสังคม

Spread the love

              ศาลจังหวัดเชียงใหม่เปิดคลีนิกจิตสังคม และพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดี

ศาลจังหวัดเชียงใหม่จัดตั้งคลินิกจิตสังคมและพัฒนาระบบการบริหารจัดการคดีของศาล ในการรายงานสถานการณ์คดีปัจจุบัน การอ่านคำสั่งคำร้องปล่อยชั่วคราว การฝากขังในลักษณะการประชุมทางจอภาพ (Video Conference) การบันทึกคำสั่งอื่นๆ ของศาล และรายงานผลการส่งคำคู่ความ เพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลยและประชาชนผู้มาติดต่อศาลให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา เวลา 10.00 น. นายปกิต สุวรรณพรหมา อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 เป็นประธานในพิธีเปิดคลินิกจิตสังคมศษลจังหวัดเชียงใหม่ และระบบงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเทคโนโลยีสารสนเทศของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องโถงหน้าอาคารศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายปกิต สุวรรณพรหมา อธิบดีผู้พิพากษาภาค กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการคดีของศาล โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการทั่วองค์กร สร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอก พร้อมพัฒนาและเพิ่มศักยภาพบุคลากรในการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ศาลยุติธรรมสามารถอำนวยความยุติธรรมและให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการดังนี้

1.จัดตั้งคลินิกจิตสังคม บริเวณชั้น 1 อาคารศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตามคำสั่งศาล ในคดีโทษเล็กน้อย คดีความรุนแรงในครอบครัว  คดียาเสพติดในกลุ่มของผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ซึ่งสามารถรอการกำหนดทาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้คำปรึกษาได้แก่ผู้พิพากษาและผู้ประนีประนอมประจำศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการอบรมจากนักจิตวิทยา ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการเยียวยาทางจิตใจและได้รับการบำบัดที่ถูกวิธีพร้อมการส่งต่อการรักษาเพื่อให้เลิกจากยาเสพติดในโรงพยาบาลภาครัฐ และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคมโดยปกติสุข

2.ระบบการรายงานสถานการณ์คดีปัจจุบัน (Real Time) ใช้ในศาล ได้แก่ การพิจารณาพิพากษาคดี การไกล่เกลี่ย การสมานฉันท์และสันติวิธี การขอปล่อยชั่วคราว และการฝากขัง เพื่อให้คู่ความและผู้มาติดต่อสามารถทราบว่าคดีอยู่ระหว่างขั้นตอนใด อันเป็นการให้ความเป็นธรรม ความยุติธรรมอย่างเสมอภาคว่าคำร้องหรือคดีของตนได้รับการพิจารณาตามขั้นตอนแล้วเสร็จ

3.การอ่านคำสั่งคำร้องปล่อยชั่วคราวระหว่างศาลอุทธรณ์ภาค 5 และศาลจังหวัดเชียงใหม่ผ่านระบบจอภาพ (Conference) และระบบรายงานสถานการณ์คดี (Real Time)

4.การฝากขังในลักษณะการประชุมทางจอภาพ (Video Conference) กับสถานีตำรวจในเขตอำนาจศาลจังหวัดเชียงใหม่ เรือนจำกลางเชียงใหม่ และทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จากเดิมที่พนักงานสอบสวนจะต้องเดินทางไปขอฝากขังผู้ต้องหาที่ศาลด้วยตนเองทุกครั้ง ทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งสุ่มเสี่ยงต่อการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันเรือนจำได้ย้ายไปอยู่ห่างไกลจากศาลมาก ศาลจังหวัดเชียงใหม่จึงนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในงานฝากขังครั้งที่ 2 เป็นต้นไป สำหรับการรายงานสถานการณ์คดีปัจจุบัน กระดานฝากขังจะปรากฏข้อมูลคดีฝากขังเป็นเลขคดี ฝ. ชื่อสถานีตำรวจที่ยื่นคำร้องขอฝากขัง ชื่อผู้ต้องหาและสถานะที่แสดงว่าอยู่ระหว่างเสนอศาลหรือศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังแสดงอยู่บนจอภาพ เพื่อให้ผู้ต้องหา ญาติ หรือผู้มีประโยชน์ที่เกี่ยวข้องทราบและเข้าใจขั้นตอนการดำเนินการขอฝากขังจนเสร็จสิ้นขั้นตอนการฝากขัง

5.การบันทึกคำสั่งอื่นๆ ของศาล และรายงานผลการส่งคำคู่ความในโปรแกรมคำสั่งคำร้องและผลหมาย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบทางเว็บไซต์ของศาลจังหวัดเชียงใหม่

นายปกิต สุวรรณพรหมา อธิบดีผู้พิพากษาภาค กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายการบริหารงานศาลยุติธรรมของท่านประธารศาลฎีกา พุทธศักราช 2557-2558 ด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยมุ่งอำนวยความยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิของจำเลยและประชาชนผู้มาติดต่อศาลให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง

 

 

 

ำนักข่าว

cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน