วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

วันเบาๆ เรื่องเบาๆ ห้ามสตรีขยันท้อง

Spread the love

 วันเบาๆ เรื่องเบาๆ ห้ามสตรีขยันท้อง

กฎหมายใหม่เอี่ยมของพม่า

 สตรีท้อง

       ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอเริ่มเรื่องประเภทขี้หมูราขี้หมาแห้งก่อนครับ จากแฟ้มข้อมูลส่วนตัว ผมมีรายงานชิ้นหนึ่งเก็บไว้แต่ปี2553ข้อมูลนั้นมาจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ารัฐบาลพม่าไม่อนุญาตให้ผู้หญิงแต่งงานกับชาวต่างชาติ โดยระบุว่าเพื่อป้องกันหญิงพม่าตกเป็นเหยื่อขบวนการค้า มนุษย์

             มาตรการนี้มีขึ้นหลังจากที่ทางการพม่าได้จับกุมนายหน้าชาวพม่าที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ของชาวต่างชาติ   ประกอบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว(2548) เคยมีหญิงพม่าฆ่าตัวตาย เพราะถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานกับชาวต่างชาติ โดยมาตรการใหม่จะบังคับใช้เฉพาะกับหญิงชาวพม่าที่อยู่ในประเทศเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ชายชาวพม่าที่ต้องการแต่งงานกับชาวต่างชาติจะต้องยื่นเรื่องต่อศาลแขวง ล่วงหน้า 21 วัน เพื่อขออนุญาตแต่งงาน แต่สำหรับผู้หญิงจะไม่ได้รับอนุญาต ในขณะนั้นก็มีเสียงคัดค้านออกมามากมาย  สมาคมผู้ประกอบการหญิงของพม่ามองว่า ผู้หญิงควรมีสิทธิ์เลือกที่จะแต่งงานกับใครก็ได้ที่พวกเธอพอใจ เช่นเดียวกับนายอ่อง เทียน ที่ปรึกษาทางกฏหมาย ที่แม้จะเห็นด้วยว่า วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ แต่หากมองอีกแง่ก็เห็นว่าไม่ยุติธรรมที่จะจำกัดสิทธิ์ของคนที่รักกันอย่าง แท้จริง และต้องการแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

               เป็นข้อมูลที่เก็บเอาไว้หยิบมานำเรื่องเพราะมีเรื่องใหม่ที่เกี่ยวพันกับการจำกัดสิทธิของสตรี คือ   รอบเดือนที่ผ่านมาในปี 2558 มีรายงานข่าวออกมาชิ้นหนึ่งโดยสำนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งดูเหมือนว่า สอดคล้องกับมาตรการเมื่อ5ปีก่อนนั่น

           สำนักข่าวเอพีในย่างกุ้ง รายงานว่า ประธานาธิบดีพม่านายเต็งเส่ง ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายฉบับหนึ่ง ที่กำหนดให้มารดาบางกลุ่มต้องทิ้งระยะห่างเป็นเวลา 3 ปีในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง

หมายความว่าสตรีจะมีบุตรได้ต้องทิ้งระยะห่าง3ปีนั่นเอง มาตรการในกฎหมายนี้มันก็คือการคุมกำเนิดถ้าจะเรียกว่า แบบอ่อนๆก็คงได้ เพราะไม่ได้ห้ามมีบุตร แต่ให้ทิ้งระยะห่างหน่อย ไม่ใช่ปั้มกันออกมาหัวปีท้ายปี โดยประเทศที่มีมาตรการคุมอัตราการเกิดของพลเมืองเด่นชัดคือ จีน เนื่องจากจีนมีประชากรมาก จึงมีระเบียบให้ครอบครัวหนึ่งมีบุตรได้เพียงคนเดียวเป็นมาตรการแข็งกร้าว คือ ห้ามมีบุตรเกิน1คน

ไม่มีรายงานว่ามีบทลงโทษอย่างไรสำหรับคนฝ่าฝืนกฎหมาย ทางจีนนั้น ทราบมาว่าก็ไม่ลงโทษรุนแรงอะไร เพียงแต่ประเทศเขามีสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย การศึกษาและการเลี้ยงดู เขาก็จะมอบสวัสดิการนั้นให้ครอบครัวที่มีบุตรคนแรกและคนเดียว หากลักลอบเกิดบุตรคนที่2 บุตรคนนั้นก็จะไม่ได้รับสวัสดิการแค่นั้นเอง

กฎหมายใหม่ของพม่า ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย รวมทั้งนักการทูตสหรัฐ กับนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่วิตกว่าไม่เพียงแต่จะเป็นกฎหมายที่กฎขี่สตรีเพศ หากยังอาจจะใช้เพื่อกดขี่ทางด้านศาสนา และชาติพันธุ์อีกด้วย

            เหวี่ยงแหไปที่ชุมชนชาวโรฮีนจาเลย

รัฐบัญญัติการควบคุมประชากรและสุขภาพ ที่ร่างขึ้นภายใต้การกดดันของบรรดาพระสงฆ์ฝ่ายหัวรุนแรง ที่ต่อต้านชาวมุสลิมในประเทศอย่างแข็งขัน ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา และ ประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้ลงนามรับรองเพื่อบังคับใช้แล้ว สื่อของทางการรายงานในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก นายแอนโธนี บลิงเคน (Anthony Blinken) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้พบกับผู้นำสูงสุดของพม่า และ แสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ว่าขณะที่พม่าซึ่งมีผู้นับถือพุทธศาสนาเป็นประชากรส่วนใหญ่ เริ่มเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เสรีภาพในการแสดงออกได้ช่วยเปิดเผย ให้เห็นความเกลียดชังชนกลุ่มน้อยนับถือศาสนาอิสลาม ที่ฝังรกรากมายาวนาน รวมทั้งชาวโรฮิงยามุสลิมที่อพยพหลบหนีหนีไปยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ในเรือเก่าๆ อย่างเบียดเสียดแออัดมีเป็นจำนวนมากที่หลบหนี การทำร้ายกับและการใช้ความรุนแรง ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 280 คน กับอีกราว 140,000 คน ถูกบังคับให้ต้องทิ้งบ้าน ในรัฐระไค (Rakhine/ยะไข่) ทางตะวันตกของประเทศ

แม้กฎหมายประชากรซึ่งแม้จะไม่มีบทลงโทษ แต่ก็ได้ให้อำนาจแก่ทางการท้องถิ่นต่างๆ ในการบังคับใช้มาตรการว่างเว้นการตั้งครรภ์ ในพื้นที่ที่มีอัตราการเกิดสูง และ ถึงแม้รัฐบาลจะอธิบายว่า กฎหมายมีจุดประสงค์เพื่อการลดอัตราการตายของมารดาและทารกแรกเกิด นักเคลื่อนไหวได้ตอบโต้ว่า สิ่งนี้เป็นการละเมิดต่อสิทธิแห่งการเจริญพันธุ์ของสตรี และ ยังสามารถใช้ในการควบคุมการเติบโตของประชากรบางกลุ่มได้อีกด้วย

       ก่อนหน้านั้นชาวพุทธฝ่ายที่แข็งกร้าวได้เตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ชาวมุสลิมที่มีอัตราการเกิดสูง อาจจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่มีพลเมือง 50 ล้านคนได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันประชากรชาวมุสลิมในพม่า จะมีจำนวนคิดเป็นเพียง 10% ก็ตาม

“เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมาก” นางขิ่นเล (Khin Lay) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีกล่าวถึงการที่ประธานาธิบดีพม่าลงนามบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้

“ถ้าหากรัฐบาลปรารถนาจะพิทักษ์ปกป้องสตรี ก็ควรจะใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วดำเนินการ” นางเลกล่าว

มาดูท่าทีของฝ่ายต่างๆบ้าง สำนักข่าวเอเอฟพีเขารายงานว่า – พม่าออกบังคับใช้กฎหมายประชากรที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีเป้าหมายที่ชาวมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นศูนย์กลางของวิกฤตการอพยพที่ทำให้เห็นผู้คนจำนวนหลายพันคนหลบหนีออกจากประเทศ

กฎหมายฉบับใหม่ของพม่าจะอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นดำเนินมาตรการกฎระเบียบเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวเพื่อให้อัตราการเกิดในเขตพื้นที่ของตัวเองอยู่ในระดับต่ำ ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์เมียนมาอาลิน

ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถสำรวจพื้นที่ของตัวเองเพื่อพิจารณาตรวจสอบหากพบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความสมดุลอันเนื่องจากจำนวนผู้อพยพในพื้นที่มีมาก อัตราการเติบโตของประชากรสูง และอัตราการเกิดสูง พวกเขาสามารถร้องต่อรัฐบาลส่วนกลางที่จะกำหนดกฎหมายบังคับใช้กับผู้หญิงให้เว้นระยะเวลาอย่างน้อย 36 เดือน หลังจากให้กำเนิดบุตรก่อนที่จะตั้งครรภ์คนถัดไป

ฮิวแมนไรท์วอช (HRW) ระบุว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้มีเป้าหมายชัดเจนที่ชาวโรฮิงญาซึ่งอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ที่คนเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับของทางการในฐานะพลเมือง และถูกเรียกว่าเบงกาลี หรือผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

“สิ่งนี้จะยิ่งทำให้ความตึงเครียดทางศาสนา และชาติพันธุ์เลวร้ายลง เราคิดว่าชาวมุสลิมโรฮิงญาในยะไข่ จะตกเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ของกฎหมายฉบับนี้” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ HRW ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุว่ากฎหมายที่ประกาศบังคับใช้ยิ่งทำให้พม่าเผชิญต่อแรงกดดันของนานาประเทศต่อการจัดการการอพยพของชาวโรฮิงญา เพราะการอพยพของผู้คนเป็นจำนวนมากได้เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่เกิดความรุนแรงทางศาสนาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2555 ระหว่างชาวโรฮิงญา และชาวพุทธท้องถิ่น โดยในรายงานอย่างเป็นทางการหลังเหตุความไม่สงบในปี 2555 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 200 คน และไร้ที่อยู่อีก 140,000คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและคณะกรรมาธิการรัฐบาลระบุว่าทางการควรส่งเสริมการวางแผนครอบครัวในชุมชนชาวโรฮิงญาเพื่อจำกัดการเติบโตของประชากร

              แต่เรื่องนี้ สมาชิกรัฐสภาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี กล่าวออกตัวแบบเป็นมวยว่า ไม่มีสมาชิกรัฐสภาของ NLD คนใดที่ลงมติเห็นชอบให้กฎหมายนี้ น๊ะจ๊ะ

       เก็บมาเล่าสู่กันฟังถึงการบริหารจัดการเรื่องการบ้านการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเราบ้างแค่นั้นเอง ไม่มีอะไรมาก

ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วน จาก เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์        

อรุณ ช้างขวัญยืน เรียบเรียงข่าวและรายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ