วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

วันต้อหินโลก

Spread the love

โรคต้อหิน มฤตยูร้าย ภัยเงียบที่มองไม่เห็น

โรงพยาบาล

คณะแพทยศาสตร์ มช. จัดกิจกรรมวันต้อหินโลก รณรงค์ให้ประชาชนตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคต้อหิน  พบ90%ผู้ป่วยโรคต้อหินระยะแรกไม่แสดงอาการ และจะแสดงอาการเมื่อเป็นระยะรุนแรงแล้ว  หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้ตาบอดอย่างถาวร

วันต้อหินโลกกำหนดให้มีขึ้นสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมในทุกๆปี ซึ่งในปีนี้อยู่ระหว่างวันที่8-14 มีนาคม 2558  และในสัปดาห์วันต้อหินโลกนี้ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมวันต้อหินโลกขึ้น ในวันที่ 12 มีนาคม 2558 ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี ตั้งแต่เวลา 8.30 – 12.00 น. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจในเรื่องเกี่ยวกับต้อหินให้มีการตื่นตัว และทราบถึงความสำคัญของการตรวจตาในเวลาที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้การตรวจประเมินโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหินให้ได้มีโอกาสตรวจ scan เบื้องต้น เพื่อให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

โรคต้อหินเป็นสาเหตุของภาวะตาบอดของประชากรทั่วโลกเป็นอันดับสองรองจากโรคต้อกระจก แต่ภาวะตาบอดที่เกิดจากโรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้กลับมาเห็นได้ตามปกติหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรกของโรค อัตราความชุกของโรคต้อหินพบเพิ่มขึ้นตามอายุ ในประเทศไทยผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี พบมีความชุกของโรคร้อยละ 2 และเพิ่มเป็นร้อยละ 6 เมื่ออายุมากกว่า 60 ปีตามลำดับ

อาจารย์แพทย์หญิงลินดา  หรรษภิญโญ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “โรคต้อหินเป็นโรคที่ทำให้ตาบอดถาวร ผู้ป่วยต้อหินในระยะแรกจะไม่มีอาการผิดปกติ ไม่มีตามัว ไม่มีปวดตา หากไม่ได้รับการตรวจตาเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว มองเห็นภาพแคบลงเรื่อยๆ จนกระทั่งตาบอดในที่สุด ปัจจุบันนอกจากพบโรคนี้ในประชากรที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว ยังพบในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีด้วย เนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้แก่ พันธุกรรม,ผู้ป่วยเบาหวาน,ความดัน,นอนกรน,ไมเกรน,สายตาสั้นมากๆ,สายตายาวมากๆ,คนที่เคยผ่าตัดตา,ความดันลูกตาผิดปกติ และตาอักเสบเป็นต้น”

อาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา กล่าวต่อว่า “คนไข้โรคต้อหิน 90%ในระยะเริ่มแรกไม่แสดงอาการเลย การมองเห็นจะเป็นปกติ ส่วนมากเมื่อรู้สึกผิดปกติแล้วมาพบแพทย์จะเป็นระยะปานกลางหรือรุนแรงแล้วเกือบทุกราย  บางรายอาจนำมาด้วยอาการปวดตา ปวดศีรษะเป็นๆหายๆ ปวดตาเฉียบพลันอย่างรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของต้อหิน ซึ่งชนิดที่พบบ่อย คือ ต้อหินเรื้อรังชนิดมุมเปิด จะแสดงอาการเมื่อระยะท้ายๆของโรคคนไข้มากกว่า 80-90%ที่มาพบแพทย์สูญเสียการมองเห็นไปแล้ว การป้องกันที่ดีที่สุดคือตรวจสุขภาพตากับแพทย์เฉพาะทางอย่างน้อยปีละครั้ง”

กิจกรรมวันต้อหินโลกประกอบด้วยการเสวนา เรื่อง ความรู้เกี่ยวกับโรคต้อหิน ,การตรวจ scan โอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหินให้แก่ผู้สนใจ และกลุ่มเสี่ยง,ตรวจวัดความดันลูกตาและถ่ายภาพจอประสาทตา ร่วมชมนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับต้อหิน และการให้คำปรึกษาจากอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต้อหิน.

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ