วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาที่แก้ยากไปจนถึง….ไม่ได้

23 มี.ค. 2015
445
Spread the love

ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ปัญหาที่แก้ยากไปจนถึง….ไม่ได้

ละเมิดสิทธิ

เมื่อปลายเดือน กุมภาพันธ์ 2558 องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จัดแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปี 2557-58 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ

                  ขอแทรกนิดหน่อยครับ องค์กรนี้คือ องค์การนิรโทษกรรมสากล  มีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์เรียกร้องให้ประชากรของโลกได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกัน ไม่มีใครถูกละเมิดในความเป็นคน หรือ เรียกร้องสิทธิมนุษยชนนั่นเอง

              น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล   ผอ.สาวของ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกที่ผ่านมาว่า

ยังมีความล้มเหลวในการปกป้องพลเรือนจากสถานการณ์อาชญากรรมสงครามอยู่ ดังเช่นกรณีความขัดแย้งในประเทศซีเรีย ซึ่งขณะนี้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่สามารถปฏิบัติภารกิจใด ๆ ได้เลย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2 แสนคน ผู้อพยพลี้ภัยอีกราว 7.6 ล้านคน

นอกจากนี้การบังคับให้สูญหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นอีกสิ่งที่กังวล โดยเฉพาะภูมิภาคละตินอเมริกา ในประเทศเม็กซิโก ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2557 มีการบังคับนักศึกษาให้สูญหายจำนวน 43 คน หลังจากตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีบุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้วราว 2.2 หมื่นคน ทั่วประเทศ

คุณผอ.องค์การแอมเนสตี้ฯ กล่าวถึงการปราบปรามองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน/ภาคประชาสังคมที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพของตนเอง โดยยกตัวอย่างในประเทศรัสเซีย อียิปต์ และฮ่องกง ซึ่งประเทศหลังเพิ่งเกิดการประท้วงเกิดขึ้น และต้องเผชิญหน้ากับการถูกข่มขู่คุกคาม จนมีใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจในการปราบปรามเช่นเดียวกับการทรมานที่ยังเกิดสถานการณ์อยู่ แม้ว่าจะมี 150 ประเทศ ลงนามในภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน แต่ยังพบ 131 ประเทศ ทำการทรมานประชาชนในประเทศ เพื่อให้ได้มาของคำรับสารภาพและข้อมูลอยู่

                  “ประเทศทั่วโลกที่เกิดอาชญากรรมสงคราม 18 ประเทศ มีพลเรือนตกเป็นเหยื่อและเสียชีวิต 35 ประเทศ และมี 62 ประเทศ ยังจับกุมขังนักโทษทางความคิด เพียงแค่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นโดยสงบและสันติ ซึ่งมีความแตกต่างทางการเมือง ศาสนา และชาติพันธุ์” เธอ กล่าว

และว่ามี 119 ประเทศ จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและปราบปรามสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง ใน 28 ประเทศ มีการตรากฎหมายให้การทำแท้งถือเป็นอาชญากรรม อีกทั้ง 78 ประเทศ ตรากฎหมายห้ามมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน และ 93 ประเทศ มีการไต่สวนไม่เป็นธรรมขึ้น

สำหรับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยนั้น ผอ.องค์การแอมเนสตี้ฯ ระบุมี 11 ประเด็น คือ 1.การขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศ 2.การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย 3.การบังคับบุคคลให้สูญหาย 4.เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม 5.การจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ 6.การไต่สวนคดีอย่างไม่เป็นธรรม 7.การลอยนวลพ้นผิด 8.นักปกป้องสิทธิมนุษยชน 9.การค้ามนุษย์ 10.ผู้ลี้ภัยและแสวงหาผู้พักพิง และ 11 โทษประหารชีวิต

                    จากเรื่องนอกบ้านก็มาถึงสถานการณ์ในบ้านเรา  ผอ.ปริญญา  กล่าวตอนหนึ่งถึงสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธในประเทศว่า เกิดจาก 2 เหตุการณ์ คือ ความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตลอด 11 ปี ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์กว่า 9,000 ครั้ง เฉลี่ย 2.25 ครั้ง/วัน มีผู้เสียชีวิต 3,929 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1 หมื่นคน และกว่าร้อยละ 80 เป็นพลเรือน ซึ่งขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยธรรม ระบุว่า พลเรือนต้องไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายต้องรับความเสี่ยงจากความขัดแย้งใด ๆ

คุณ น.ส.ปริญญา กล่าวด้วยว่า แอมเนสตี้ฯ มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยที่สำคัญ คือ ให้ปฏิรูปหรือยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องต่อพันธะกรณีของไทย โดยเฉพาะกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ควบคุมตัวโดยพลการ การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมโดยสงบ และประกันว่าผู้ถูกคุมตัวทุกคนจะมีการนำตัวเข้าสู่การไต่สวนที่เป็นธรรมและอิสระโดยทันที อีกทั้งยุติการใช้ศาลทหารไต่สวนคดีพลเรือน ไม่ว่ากรณีใด ๆ

นอกจากนี้ด้านกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เรียกร้องให้รัฐบาลฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบ แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยให้ยกเลิกข้อบัญญัติอนุญาตให้บุคคลใดฟ้องร้องบุคคลอื่นในข้อหานี้ได้ และกำหนดอัตราโทษที่ไม่ได้สัดส่วนในความผิด พร้อมขอให้มีการชะลอการใช้กฎหมายนี้จนกว่าจะมีการแก้กฎหมายต่าง ๆ

สำหรับสถานการณ์ทางการเมือง ผอ.แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า เรียกร้องให้ทบทวนวิธีการควบคุมฝูงชนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการสลายฝูงชนและการใช้กำลัง พร้อมประกันว่าจะมีการสอบสวนข้อร้องเรียนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยทันทีอย่างรอบด้านและอย่างเป็นอิสระ และให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และในระหว่างการสอบสวนให้สั่งพักราชการบุคคลใด ๆ ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดดังกล่าว รวมถึงให้ทางการประกาศอย่างชัดเจนถึงรายละเอียดส่วนบุคคลและสถานที่ควบคุมตัวบุคคลทุกคนโดยเฉพาะในระหว่างการใช้กฎอัยการศึก .

                  ทั้งหมดที่นำมาเสนอ เป็นรายงานสถานการณ์ทั้งต่างประเทศและในบ้านเรา ซึ่งถ้าอ่านให้ละเอียด จะพบว่าสถานการณ์ต่างๆนั้น องค์การแอมเนสตี้ไม่ได้แสดงบทบาทอะไรเลยว่า ได้เข้าไปช่วยเหลือ บีบบังคับนานาชาติให้เลิกการกระทำดังกล่าวเสีย ทั้งนี้เพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน อันเป็นวัตถุประสงค์ขององค์การ

                     องค์การแอมเนสตี้ทำงานประหนึ่งว่า  รู้   ว่านานาชาติเขาทำอะไรกัน   แต่ได้แค่รู้   ไม่มีอำนาจอะไรไปยับยั้ง ทำได้แค่เพียง   เรียกร้อง    ให้ยุติการกระทำเสีย

                    อย่างเข่นในบ้านเรา ก็ เรียกร้อง เรียกร้อง   ซึ่งก็ยังเป็นห่วงว่าจะได้รับการสนองตอบแค่ไหน อย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญ คือ เรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  อันนี้ดูเหมือนว่าจะล่อแหลมไปสักหน่อยกับองค์การต่างประเทศ เพราะมันคือการแทรกแซงการปกครอง  กืจการภายในของประเทศไทย

                          คือ สรุปว่า แก้ยาก และ แก้ไม่ได้

 

อรุณ ช้างขวัญยืน /รายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ