วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ “ออบขาน”และ”ไพรพง”

Spread the love

มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ “ออบขาน”และ”ไพรพง”

 

อุทยานแห่งชาติออบขาน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 302,500 ไร่ หรือ 484 ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสะเมิง ท้องที่ตำบลสะเมิงใต้ ตำบลแม่สาบ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขาน-แม่วาง ท้องที่ตำบลแม่วิน ตำบลบ้านกาด ตำบลดอนเปา ตำบลทุ้งปี้ อำเภอแม่วาง ตำบลน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง และป่าท่าช้าง-แม่ขนิล ท้องที่ตำบลน้ำแพร่ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงที่สุด ได้แก่ ยอดขุนเตียนสูง 1,550 เมตร มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม ได้แก่ ออบขาน ออบไฮ ผาตูบ ถ้ำตั๊กแตน ถ้ำห้วยหก น้ำตกแม่สะป๊อก และน้ำตกขุนวิน นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าที่สำคัญอีกหลายชนิด

ความวิกฤตการณ์เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะจากภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์อุทกภัยภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2531 ส่งผลให้มีพระราชกำหนดปิดป่าสัมปทานทำไม้ (เฉพาะป่าบก) ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2532 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามนโยบายโดยรีบด่วน เมื่อพิจารณาแล้วกรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 สั่งให้ข้าราชการในสังกัดกองอุทยานแห่งชาติ ออกไปสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ป่าจำนวน 28 แห่ง ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่แตง ป่าแม่ริม และป่าแม่สะเมิง ป่าแม่ขาน-แม่วาง ป่าท่าช้าง-แม่ขนิล จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการสำรวจเบื้องต้น ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ให้ นายทวีชัย คำภีระ ไปสำรวจเพิ่มเติมและจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาเห็นชอบ ตามที่อุทยานแห่งชาติเสนอ คือ ใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติว่า “อุทยานแห่งชาติออบขาน” ตามที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้ประชุมครั้งที่ 2/2535 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 มีมติเห็นชอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กรมป่าไม้เห็นควรจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูนและหินอัคนีเรียงรายสลับซับซ้อน แนวเขาวางตัวในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เป็นแนวเทือกเขาติดต่อมาจากเทือกเขา ในเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ภูเขาส่วนใหญ่จะไม่สูงมากนัก ยอดเขาที่สูงที่สุด ได้แก่ ยอดขุนเตียน สูง 1,550 เมตร ดอยขุนห้วยพระเจ้า สูง 1,443 เมตร ดอยขุนวินสูง 1,424 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นต้น กำเนิดแม่น้ำ ลำห้วยสายสำคัญที่ไหลลงสู่แม่น้ำปิง ได้แก่ น้ำแม่ขาน น้ำแม่วาง น้ำแม่เตียน ห้วยแม่วิน ห้วยแม่โต๋ ห้วยแม่ขนิล ห้วยหละหลวง เป็นต้น พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ลักษณะพื้นที่มีความลาดชันสูง โดยเฉลี่ยประมาณ 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพื้นที่ราบขนาดเล็กตามริมแม่น้ำ ลำห้วย และที่ราบเชิงเขาเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่

ภูมิอากาศโดยทั่วไปค่อนข้างจะร้อนในฤดูร้อน อากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว และมีฝนตกชุก เป็นช่วงระยะสั้นๆ ในฤดูฝน ฤดูร้อนค่อนข้างยาวนาน

เนื่องจากสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง-ต่ำสลับซับซ้อน สภาพป่าจึงมีหลายประเภท ประกอบด้วย ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ในบริเวณพื้นที่ที่มีระดับความสูงประมาณ 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไป จะเป็นป่าดิบเขา และป่าสนเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กระบก กระบาก ยมหอม แดงน้ำ สมพง ยาง ก่อ จำปีป่า ทะโล้ อบเชย กำยวน สนสองใบ สนสามใบ สัก เต็ง รัง พลวง ประดู่ มะค่าโมง ยางนา ตะแบก ตะคร้อ ตีนนก สมอไทย และไผ่ชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังพบพันธุ์พืชหายาก เช่น กล้วยไม้รองเท้านารี

 

สัตว์ป่าที่พบ ได้แก่ เลียงผา เก้ง หมีขอ หมีควาย เสือปลา เสือไฟ กระจง อีเห็น กระต่ายป่า หมูป่า ชะนี ลิง นางอาย พังพอน เม่น หมาจิ้งจอก กระรอก กระแต หนูต่างๆ ตะพาบน้ำ เต่าปูลู ไก่ฟ้า และนกชนิดต่างๆ จำนวนมาก เป็นต้น

ธนวรรธน์  จรณชัยวัจน์

ทีมข่าว CNXNEWS รายงาน