วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

พิธีวางศิลาฤกษ์อุทยานดาราศาสตร์ ณ เชียงใหม่

Spread the love

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ อุทยานดาราศาสตร์ ณ จังหวัดเชียงใหม่

unnamed (1)

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดพิธีวางศิลาฤกษ์อุทยานดาราศาสตร์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษา ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางดาราศาสตร์ของประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ ณ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2558 เวลา 14.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอุทยานดาราศาสตร์ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ และคณะกรรมการจัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ ภริยารองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของอุทยานดาราศาสตร์ เสด็จยังมณฑลพิธีวางศิลาฤกษ์ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นศิลาฤกษ์หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารเครื่องเคลือบกระจก ทอดพระเนตรแบบจำลองอุทยานดาราศาสตร์ เสด็จพระราชดำเนินเข้าภายในอาคารเครื่องเคลือบกระจก ทอดพระเนตรนิทรรศการเครื่องเคลือบกระจก ทรงกดปุ่มสั่งงานและทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของเครื่องเคลือบกระจก ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกันออกแบบและพัฒนาขึ้นสำหรับใช้เคลือบกระจกกล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวแห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ทอดพระเนตรนิทรรศการอุทยานดาราศาสตร์และชมวีดิทัศน์ภาพมุมสูงของอุทยานดาราศาสตร์ ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ได้ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแบบจำลองกระจกปฐมภูมิที่เคลือบด้วยฟิล์มบางอะลูมิเนียมจากเครื่องเคลือบกระจกดังกล่าวด้วยจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินออกจากอาคารเครื่องเคลือบกระจก ไปยังบริเวณนิทรรศการดาราศาสตร์กองทัพอากาศ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ถวายคู่มือการใช้กล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ 0.7 เมตร ตั้งอยู่ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ สถานีรายงานดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และทรงทอดพระเนตรนิทรรศการดาราศาสตร์ของกองทัพอากาศ เวลาประมาณ 14.42 น. ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่อุทยานดาราศาสตร์ หรือ Astro Park มีเป้าหมายสำคัญที่จะให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษา ค้นคว้าวิจัยและพัฒนาทางดาราศาสตร์ของประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ภูมิภาคทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา พิษณุโลก และขอนแก่น เชื่อมโยงเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ณ สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน และออสเตรเลีย รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความร่วมมือกับหอดูดาวเครือข่ายในต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะเป็นศูนย์รวบรวมศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เป็นแหล่งค้นคว้า ศึกษาวิจัย บ่มเพาะและสร้างนักวิจัยดาราศาสตร์ เป็นศูนย์บริการข้อมูล ฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีและจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ เป็นแหล่งข้อมูลจดหมายเหตุดาราศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการ และในอนาคตยังมีแผนดำเนินการเป็นศูนย์ฝึกอบรมทางดาราศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรทางดาราศาสตร์ให้มีองค์ความรู้ดาราศาสตร์ขั้นสูง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาการดาราศาสตร์ในภูมิภาคอีกด้วยอุทยานดาราศาสตร์ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 54 ไร่ บริเวณตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 1) อาคารศูนย์วิจัยและบริการทางดาราศาสตร์ ซึ่งใช้เป็นอาคารสำนักงานและดำเนินภารกิจด้านต่างๆ ของสถาบันฯ 2) อาคารปฏิบัติการและอาคารเครื่องเคลือบกระจก 3) อาคารฉายดาวและพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยส่วนท้องฟ้าจำลอง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร ความจุประมาณ 100 ที่นั่ง และส่วนนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุดาราศาสตร์ 4) อาคารหอดูดาว เป็นอาคารสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าด้วยกล้องโทรทรรศน์แบบต่างๆ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงแบบริชชี-เครเทียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.7 เมตร ด้านข้างเป็นระเบียงดาวมีหลังคาแบบเลื่อนเปิดออกได้ ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีขีดความสามารถสูง จำนวน 4-6 กล้อง สำหรับให้บริการดูดาว สังเกตวัตถุท้องฟ้า รวมทั้งถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า 5) อาคารศูนย์ประชุม เป็นศูนย์การเรียนรู้และปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ จัดประชุม อบรม สัมมนา และกิจกรรมบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ 6) ลานกิจกรรมอเนกประสงค์กลางแจ้ง ใช้ในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ และกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เช่น กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน การสังเกตปรากฏการณ์ท้องฟ้าและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ รองรับประชาชนได้มากกว่า 500 คนสำหรับแผนดำเนินการก่อสร้างอุทยานดาราศาสตร์ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ในกรอบวงเงินงบประมาณ 400 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จประมาณปี 2561 คาดหวังให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงดาราศาสตร์ของไทย และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางดาราศาสตร์ของชาติและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทร. 053-225569 ต่อ 210 , 081-8854353 โทรสาร 053-225524 E-mail: pr@narit.or.th Website : www.narit.or.thFacebook : www.facebook.com/NARITpage Twitter : @N_Earth , Instagram : @NongEarthNARIT Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313

 

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ