วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

Spread the love

คณะแพทยศาสตร์ มช. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

คณะแพทยศาสตร์ มช.เชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ

เพื่อการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

เมื่อวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการจัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ  ณ ห้องประชุมบุญสมมาร์ติน คณะแพทยศาสตร์  โดยพิธีลงนามได้รับเกียรติจาก นพ.อำพล   จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และรศ.นพ.วัฒนา นาวาเจริญ คณบดี คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพไว้ในหมวดสิทธิชุมชน มาตรา 67 วรรค 2 ว่า   “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดสาระสำคัญเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตามมาตรา 5 ว่า “บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมทั้งมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ” และมาตรา 11 ว่า “บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมิน และมีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ และบุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาต หรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว”

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ผ่านมา พบว่ายังมีปัญหาอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงการติดตามตรวจสอบกิจกรรม/โครงการ   หรือนโยบายสาธารณะภายหลังการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการติดตามตรวจสอบกิจกรรม/โครงการ หรือนโยบายสาธารณะ ที่ผ่านมารศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ในฐานะกรรมการภาคีเครือข่ายการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ได้พัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยให้ชุมชนสามารถติดตามตรวจสอบกิจกรรม/โครงการ หรือนโยบายสาธารณะ โดยใช้วิธีการทางระบาดวิทยา เรียกว่า “ระบาดวิทยาภาคประชาชน โดยใช้แผนที่เดินดิน” ทั้งยังได้ทดลองใช้ในหลายพื้นที่จนได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ

       นายแพทย์วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เปิดเผยว่า   เห็นสมควรว่าจะได้มีการเผยแพร่เครื่องมือดังกล่าวในวงกว้าง และเห็นว่าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติ จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” ขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในวงกว้าง ในการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพอันอาจเกิดจากโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าได้ด้วยตนเองต่อไป

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ