วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

พอ.สว.จังหวัด ชม. ประชุมจัดงานรณรงค์ คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่าฯ

Spread the love

มูลนิธิ พอ.สว.จังหวัดเชียงใหม่ประชุมเตรียมจัดงานรณรงค์ “คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่าฯ”

 

มูลนิธิ พอ.สว.จังหวัดเชียงใหม่ประชุมเตรียมจัดงานรณรงค์ “คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่าฯ เนื่องในวันทันต-สาธารณสุขแห่งชาติ” ถวายเป็นพระราชกุศล วันที่ 18 – 19 ตุลาคมนี้ที่โรงพยาบาลเวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่

วันนี้ (17 ก.ย.55) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดจัดงานรณรงค์ “คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพรองค์ท่านในอันที่จะช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากให้พ้นจากโรคในช่องปากด้วยการให้บริการทันตกรรม

 

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมการจัดงานรณรงค์ “คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ”  ซึ่งเป็นการจัดรณรงค์ใหญ่ โดยปีนี้กำหนดจัดขึ้น ในระหว่างวันที่ 18 – 19 ตุลาคม 2555 ณ โรงพยาบาลเวียงแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมภายในงานวันแรกจะเป็นการให้บริการทันตสาธารสุขโดยไม่คิดมูลค่า ได้แก่ การอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินน้ำลายและโรคเกี่ยวกับช่องปาก เปิดให้บริการระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. และในวันที่ 19 ตุลาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่สองของการจัดรณรงค์ ได้กำหนดจัดพิธีเปิดในเวลา 10.09 น. ซึ่งนอกจากจะเปิดให้บริการทางด้านทันตสาธารณสุขระหว่างเวลา 09.00 – 14.00 น. แล้ว ยังมีบริการใส่ฟันปลอมแก่ผู้สูงอายุ การประกวดผู้สูงอายุฟันดี การประกวดแปรงฟันเด็กนักเรียนจาก 9 โรงเรียนในพื้นที่อำเภอเวียงแหงด้วย  รวมทั้งยังมีการมอบทุนพระเมตตา ให้แก่นักเรียนชั้น ม.6 ของโรงเรียนในพื้นที่อำเภอเวียงแหงที่เข้ารับการฝึกประสบการณ์ที่โรงพยาบาลเวียงแหงและมีผลการฝึกดีเด่นด้วย โดยผู้ได้รับมอบดังกล่าวจะได้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรทันตภิบาล และเมื่อจบการศึกษาแล้วก็จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลในพื้นที่อำเภอเวียงแหง เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในท้องถิ่นตนเองในด้านทันตสาธารณสุขด้วย โดยการจัดงานรณรงค์ในปีนี้ คาดว่าจะมีประชากรของอำเภอเวียงแหงซึ่งเป็นชนเผ่า 9 ชนเผ่า จะเข้าร่วมกิจกรรมและรับบริการในงานดังกล่าวประมาณ 1,000 คน  ในส่วนสถานบริการภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและต่างสังกัด  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลที่มีทันตบุคลากรปฏิบัติงาน และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ จะร่วมรณรงค์ ให้บริการทันตกรรมโดยไม่คิดมูลค่า ในวันที่ 19 ตุลาคม 2555 ด้วย

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีขึ้นในปี พ.ศ.2512 ซึ่งเรียกย่อ ๆ ว่า พอ.สว. เพื่อให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในถุ่นทุรกันดาร โดยพระองค์เป็นองค์นายิกากิตติมศักดิ์ ปฏิบัติงานโดยอาสาสมัคร ประกอบด้วย แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสมทบ ออกปฏิบัติหน้าที่ในชนบทห่างไกล และทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โดยเสด็จฯ ในการออกเยี่ยมพื้นที่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารเสมอมา ต่อมาได้ทรงก่อตั้งเป็นมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เริ่มแรก 1 ล้านบาท โดยอาสาสมัคร พอ.สว.ทุกคนจะสวมเสื้อสีเทา กระเป๋าสีเขียว มีเครื่องหมายขงหน่วยแพทย์ พอ.สว.ที่ประชาชนเรียกขานอาสาสมัครเหล่านี้ว่า “หมอกระเป๋าเขียว”

 

ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มดำเนินงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. ตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา โดยการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.ที่บ้านสามหมื่น หมู่ที่ 6 อ.เชียงดาว ซึ่งปัจจุบันแยกออกมาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอเวียงแหง นับเป็นการเริ่มออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.ครั้งแรก และทันตบุคลากรก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมอาสาสมัครของหน่วยแพทย์ ในปี 2529 เริ่มจัดกิจกรรมรณรงค์ทางทันตสาธารณสุขเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันที่สมภพซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม  และในปี 2532 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคมเป็น “วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ”  โดยหลังจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกิตติมศักดิ์ ระหว่างปี 2538 – 2550 หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกิตติมศักดิ์จนถีงปัจจุบัน

สำหรับโรงพยาบาลเวียงแหง ปัจจุบัน มี ทันตแพทย์หญิงโสธิดา สาระพันธุ์ หัวหน้าฝ่ายทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลเวียงแหง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งในแต่ละวันจะมีประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นชนเผ่า 9 ชนเผ่า มารับบริการด้านทันตสาธารณสุขวันละประมาณ 30 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เข้ารับการรักษาด้วยโรคฟันผุ

 

สำนักข่าว

Cnxnews เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน