วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ประเพณีฟ้อนบวงสรวงบรรพกษัตริย์อารักษ์หลวงแห่งนครเชียงใหม่

Spread the love

ประเพณีฟ้อนบวงสรวงบรรพกษัตริย์อารักษ์หลวงแห่งนครเชียงใหม่

เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.ของวันที่ 30 มิ.ย.2556  ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณด้านหลังหอประวัติ

ศาสตร์ (ด้านหลังหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่) ได้มีการจัดประเพณีฟ้อนบวงสรวงบรรพกษัตริย์อารักษ์หลวง แห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดย ภาควิชาศิลปะไทย และกลุ่มหน่อศิลป์ (ศิษย์เก่าภาควิชาศิลปะไทย) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมการจัดงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
โดยการจัดงานดังกล่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงและแสดงกตัญญุตาคารวะแด่บรรพกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ และบรรพชนล้านนาในช่วงหลังจากเทศกาลบุญปีใหม่สงกรานต์และก่อนเทศกาลเข้าพรรษา และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีการบวงสรวงผีอารักษ์และผีบรรพบุรุษของล้านนา เผยแพร่เกียรติคุณของบรรพชนล้านนาผ่านความศรัทธาและพิธีกรรมโบราณ และเป็นการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในประวัติศาสตร์  สังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้แก่สาธารณชนทั่วไป รวมถึง เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่สู่สาธารณชนในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และสากลให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
ทั้งนี้ ผศ.มาณพ มานะแซม รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการริเริ่มและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ท้องถิ่น ภาควิชาศิลปะไทย และกลุ่มหน่อศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ซึ่งสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ มีความสำนึกและตระหนักถึงพระปรีชาชาญของเหล่าบรรพกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ในอดีตทั้งสองราชวงศ์ ที่ทรงขับเคลื่อนนำพาสังคมและวัฒนธรรมล้านนาให้ดำเนินมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 7000 ปี มาแล้ว
โดยในครั้งนี้ได้จัดให้มีงานประเพณีฟ้อนบวงสรวงบรรพกษัตริย์อารักษ์หลวงแห่งนครเชียงใหม่ ซึ่งมีสถานที่สถิตอยู่ ณ หอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ ที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ใจกลางเมืองในเขต “คุ้มแก้วหอคำ” ของบรรพกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ในครั้งอดีต นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของนครเชียงใหม่ในปัจจุบัน โดยพื้นที่แห่งนี้ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่  นับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา
ผศ.มาณพฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับกำหนดการจัดงานประเพณีดังกล่าวนี้จักได้ถือปฏิบัติเป็นประจำทุก 4 ปี อันเป็นการกำหนดช่วงเวลาที่เรียกว่า “3 ปี 4 รวงข้าว” ตามแบบโบราณสืบไป เพื่อเป็นการจรรโลงไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ดีงาม  ตามความเชื่อและศรัทธาในท้องถิ่นล้านนา ซึ่งนับเนื่องแต่อดีตที่เคยได้มีการจัดงานบวงสรวงบูชาคารวะ  เพื่อแสดงออกถึงกตัญญุตาต่อผีอารักษ์และบรรพบุรุษในช่วงเวลาดังกล่าว เอาไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลังสืบต่อไปภายหน้า โดยมีรูปแบบการจัดงานกอบด้วยการทำพิธีกรรมแบบโบราณ  การสังเวยด้วยเครื่องสักการะการฟ้อนบวงสรวง  โดยเหล่าบรรดาม้าขี่ที่นั่งของผีบรรพบุรุษ ผีอารักษ์และผีเจ้านาย ทั้งจากเมืองลำปาง เมืองลำพูนและเมืองเชียงใหม่
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดนิทรรศการภาพ ถ่ายทางวิชาการประกอบเป็นส่วนหนึ่งในงาน เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจให้สาธารณชนถึงแนวความคิดในคติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษโดยสังเขป ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการนำวัฒนธรรมล้านนามาเป็นส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพสังคม อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยว  ที่สืบเนื่องภายหลังเทศกาลปีใหม่สงกรานต์ จนถึงเทศกาลเข้าพรรษาของเมืองเชียงใหม่ได้ด้วยงานประเพณีและพิธีกรรมดั้งเดิมอีกทางหนึ่งด้วย

สำนักข่าว

cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ