วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า

Spread the love

จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า 

ผู้ว่า

จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมพิจารณาแนวทางการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนด Road Map การแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ อนุรักษ์ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีแนวทางขับเคลื่อนทั้งระยะเร่งด่วน (6 เดือน) ระยะปานปลาง (1 ปี) ระยะยาว (1 ปีขึ้นไป)

เมื่อวันที่ 29 ก.ค.57  เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายสุริยะ  ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายชนะ  แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และคณะอนุกรรมการ ฯ เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมพิจารณาแนวทางการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนด Road Map การแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ อนุรักษ์ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงใหม่  โดยมีแนวทางขับเคลื่อนทั้งระยะเร่งด่วน (6 เดือน) ระยะปานปลาง (1 ปี) และ ระยะยาว (1 ปีขึ้นไป)

นายจงคล้าย  วรพงศธร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่  ในฐานะฝ่ายเลขานุการ รายงานว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 64/2557 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2557 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งสรุปสาระสำคัญโดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ         ทั้งภาครัฐและเอกชนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการป้องกัน ปราบปราม ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกภาคส่วนต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีข้อสั่งการให้จัดประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดเชียงใหม่ (คปป.จ.ชม.) ทุกเดือน

สำหรับสาระสำคัญของการประชุมนั้น ในระเบียบวาระเรื่องเพื่อทราบ ฝ่ายเลขานุการ ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้ชี้แจงถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหลายฉบับ ได้แก่ คำสั่งที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ คำสั่งที่ 66/2557       ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากร  ป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสถานการณ์ปัจจุบัน ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ นอกจากนั้นยังได้ชี้แจงถึงคำสั่งจังหวัดเชียงใหม่     ที่ 2800/2557 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงาน ติดตาม ตรวจสอบ กลั่นกรองเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ที่ได้รับจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยมณฑลทหารบกที่ 33 รวมทั้งการรายงานสถิติคดีด้านป่าไม้และสถานการณ์ด้านการบุกรุกและลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2557 และการสรุปผลการสนธิกำลังเพื่อดำเนินการปิดล้อม/ตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายในห้วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2557 ในพื้นที่ อำเภอพร้าว แม่แตง และอำเภอเชียงดาว รวม 4 ครั้ง โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับ Road Map การแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ อนุรักษ์ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงใหม่นั้นได้กำหนดกลยุทธ์ และแนวทางขับเคลื่อนไว้ 3 กลยุทธ์โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนทั้งระยะเร่งด่วน (6 เดือน) ระยะปานกลาง (1 ปี) และ ระยะยาว (1 ปีขึ้นไป) ดังนี้

กลยุทธ์ที่ 1 ปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายป่าไม้ ใน ระยะเร่งด่วน ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมปราบปรามการกระทำผิดกฏหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษื เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานและปรานงานโดยใช้กลไกคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการตัดไม้ทำลายป่า (คปป.) และคณะอนุกรรมการการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าระดับจังหวัด (คปป.จ.) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ (คปป.อ.) ในระดับอำเภอเพื่อเฝ้าระวังแกไขการบุกรุกป่าระดับอำเภอ การสนธิกำลังทั้งในพื้นที่วิกฤต และพื้นที่ไม่วิกฤต เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ จัดตั้งจุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่ล่อแหลมต่อการกระทำผิด จุดละ 7 คน รวม 73 จุด สำรวจเพื่อจัดทำแผนการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์เพิ่มเติมเพื่อป้องกันและครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของอุทยาน ฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ประมาณ 40,000 ไร่ต่อหน่วย รวม 32 หน่วย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยป้องกันรักษาป่า (กรมป่าไม้) เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดตั้งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการควบคุมตรวจสอบ กิจการการแปรรูป การตั้งโรงงานแปรรูปไม้ การค้าไม้แปรรูป ตลอดจนการค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใดที่ทำด้วยไม้หวงห้าม  ระยะปานกลาง ให้ คปป.จ.ชม. ติดตาม ตรวจสอบ เร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดกฏหฝายว่าด้วยการป่าไม้ จัดตั้งและเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยป้องกันรักษาป่าเพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าจังหวัดเชียงใหม่ ระยะยาว ใช้มาตรการทางสังคม ส่งเสริมภาคประชาชนเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาป่า/ แจ้งเบาะแสการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวน เฝ้าระวัง โดยใช้อาศยาน และ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

กลยุทธ์ที่ 2 ปฏิรูประบบจัดการพื้นที่ป่าไม้ โดย ระยะเร่งด่วน ตรวจสอบสภาพพื้นที่ป่าไม้ที่เหลืออยู่โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศที่เป็นปัจจุบัน จัดพิมพ์แผนที่แนวเขตป่าที่ยังคงมีสภาพป่า โดยแนวเขตดังกล่าวผ่านการตรวจสอบและสำรวจร่วมกันกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน เพื่อจำกัดเขตพื้นที่ป่าไม้จริงไว้ และคุ้มครองกำกับดูแลรักษา ผนวกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม  เร่งดำเนินการสำรวจข้อมูล    ถือครองที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่า พิสูจน์สิทธิ์ ตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ให้แล้วเสร็จในทุกพื้นที่ และ เร่งจัดทำแนวควบคุมเพื่อป้องกันการขยายเบิกพื้นที่ใหม่ในช่วงขณะไม่สามารถอพยพออกพื้นที่ได้ ระยะปานกลางและระยะยาว ประกาศเขตปรับปรุงป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม รับรองสิทธิทำกินตามหนังสืออนุญาต สทก. ตรวจพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบการทับซ้อนของพื้นที่ป่าไม้กับที่ดินประเภทอื่น (ส.ป.ก. / นส.3/ เอกสารสิทธิที่ออกมิชอบ)

กลยุทธ์ที่ 3 อนุรักษ์ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ใน ระยะเร่งด่วน ฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรม และพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่รวมประมาณ 50,096 ไร่ พื้นที่ถูก บุกรุกแปลงเล็กให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปดำเนินการปลูกหลังดำเนินคดี พื้นที่ถูกบุกรุกแปลงใหญ่จัดทำแผนขอสนับสนุนงบประมาณ และปลูกแบบประชาอาสา จัดชุดประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ และชุดมวลชนสัมพันธ์เข้าไปทำความเข้าใจกับราษฎร เรื่องการอนุรักษ์ เริ่มดำเนินการในพื้นที่วิกฤตก่อน จัดฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพเสริมสร้างเครือข่าย ทสม. รสทป. และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยในการดูแลพื้นที่ป่าในหมู่บ้านทุกแห่ง นำแนวทางโครงการตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่วิกฤตให้อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ระยะปานกลางและระยะยาว ฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลายทันทีที่ถูกบุกรุกทำลาย ทันทีที่คดีสิ้นสุดลง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และสนับสนุนเครือ่ายภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าในชุมชนที่อยู่รอบป่า (Buffer Zone)

 

สำนักข่าว CNX NEWS “เจาะข่าว ตรงใจคุณ”