วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

นักท่องเที่ยวจีนยังทะลักเข้าไทยไล่บี้ทัวร์ศูนย์เหรียญ……คนละเรื่อง

Spread the love

scoop213

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS 

นักท่องเที่ยวจีนยังทะลักเข้าไทยไล่บี้ทัวร์ศูนย์เหรียญ……คนละเรื่อง

       ท่านผู้อ่านครับ ปี 2558-2559 เป็นปีที่ “ประเทศไทย” ได้ถูกปักหมุดไว้ในแผนที่เป้าหมายปลายทาง ที่นักท่องเที่ยวจีน ทะลักไหลเข้ามาเยือนอย่างไม่ขาดสาย มีตัวเลขครึ่งปีแรกจีนเข้าไทยมาแล้ว 5.5 ล้านคน มากสุดกว่าชาติอื่น ควักเงินใช้จ่ายมากสุดกว่า 7 หมื่นล้านบาท จนเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์เหลือเชื่อที่ “จีนทะลัก ไทย” ก็ว่าได้ และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  เผยตัวเลขนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ เออีซี มาทัวร์ทั่วไทย ปี  2559 ในช่วง 5 เดือน ตั้งแต่มีนาคม-กรกฎาคม  พบว่าอันดับที่ 2  ได้แก่ มาเลเซีย 288,877 คน คิดเป็นร้อยละ 9.8 และอันดับที่ 3 ได้แก่ สปป.ลาว 123,855 คน คิดเป็นร้อยละ 4.2

          ส่วนตัวเลขอื่นๆ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม ปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา พบว่า นักท่องเที่ยวทั่วโลกทะลักเข้ามายังไทยแล้วรวม 19.06 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.90 ในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวจีน 5.5 ล้านคน  เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 แต่ภาพรวมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางมาไทยนั้น ได้ส่งผลให้เกิดรายได้ในไทยแล้วกว่า 9 แสนล้านบาท และยังพบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 16 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ.2558 ที่ผ่านมาด้วย และในจำนวนรายได้รวมจากทั่วโลกนี้พบว่า รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน ปี พ.ศ.2559 มีมูลค่าถึง 2.44 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับรายได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ปี พ.ศ.2558 ที่ 1.86 แสนล้านบาท

วิถีการท่องเที่ยวในยุค 4G นี้นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาเที่ยวด้วยตัวเองมากขึ้น นิยมชมชอบไปดูประเพณีท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมตามภูมิภาคต่าง ๆ นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลไทยและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ควรเร่งหากลยุทธ์รุกทุกรูปแบบ เพื่อดึงดูดโน้มน้าวหรือจูงใจนักท่องเที่ยวจีนให้เดินทางไปสัมผัสท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วไทยให้มากกว่าเดิม เข้าทำนอง “น้ำขึ้นให้รีบตัก

มาดูข้อมูลสถิติของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) พบว่ารายได้ด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ไทยได้รับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดทั้งปี พ.ศ.2558 โดยสำรวจ 5 อันดับแรก พบว่า นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายมากที่สุด 71,040.32 ล้านบาท อันดับที่ 2 ได้แก่ นักท่องเที่ยวอังกฤษ 15,675.22 ล้านบาท อันดับที่ 3 ได้แก่ นักท่องเที่ยวรัสเซีย 15,437.93 อันดับที่ 4 ได้แก่ นักท่องเที่ยวมาเลเซีย 15,343.18 ล้านบาท และอันดับสุดท้ายที่ 5 ได้แก่ นักท่องเที่ยวออสเตรเลีย 12,436.43 ล้านบาท

การท่องเที่ยวเชิงอาหาร กำลังได้รับความนิยมสูงสุดทั่วโลก เมื่อย้อนไปดูในปี พ.ศ.2558 พบว่า ไทยเองก็ได้รับความนิยมเช่นกัน เพราะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอาหารมากถึง 4.56 แสนล้านบาท  หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

ในปี พ.ศ.2559 นี้ คุณกอบกาญจน์  วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า “ปีนี้คาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากถึง 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10”  ซึ่งอาหารเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 นั่นหมายถึงว่าติดอันดับโลกเลยทีเดียว  ยกตัวอย่างเช่น เมนูขึ้นชื่อรสชาติจัดจ้าน..ต้มยำกุ้ง ผัดไทย แกงเขียวหวาน ต้มข่าไก่ จะสังเกตว่าล้วนแต่เป็นเมนูประเภทต้มยำทั้งสิ้น ซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากมีวัตถุดิบหรือส่วนผสมที่เป็นเครื่องเทศอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดเด่นของอาหารไทย

 

 

หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ ไทยได้เปิดเส้นทางการบินใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ.2559 จากประเทศต่าง ๆ เช่น จีน มีราว 9 เส้นทาง ส่วนใหญ่มาจากเมืองรอง เช่น อุรุมฉี  เหวินโจว คุนหมิง เสิ่นหยาง ซัวเถา ฉางชา จี้หยาง ฉงชิ่ง และหนานจิง รวมเที่ยวบินอย่างน้อย 47 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และยังมีเส้นทางหนิงโป-กรุงเทพฯ ของ สปริง แอร์ไลน์ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์อีกด้วย

อีกหนึ่งในแผนพัฒนาท่องเที่ยวที่จะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ไหลทะลักเข้าไทยได้เพิ่มขึ้นอีก และนั่นหมายรวมถึงนักท่องเที่ยวจีนด้วย นั่นก็คือ การชู 8 คลัสเตอร์ เข้ามาอยู่ในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวที่ได้วางเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-2560 แล้ว  ได้แก่ 1.เขตพัฒนาท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา (เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พะเยา และเชียงราย) 2.เขตพัฒนาท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (เพชรบุรี ประจวบฯ ระนอง และชุมพร) 3.เขตพัฒนาท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) 4.เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล) 5.เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอิสานใต้ (นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี)  6.เขตพัฒนาการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง (อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี อ่างทอง และสิงห์บุรี) 7.เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง (เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร) และคลัสเตอร์สุดท้ายคือ 8.เขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม  (ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย และพิษณุโลก

ทางด้านคุณรณรงค์ ชีวินสิริอำนวย นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน ได้เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า แม้นักท่องเที่ยวจีนจะสร้างปัญหาให้คนไทย แต่พวกเขาไม่ได้บอยคอตประเทศไทย และปัญหาเกิดขึ้นที่ภาคเหนือกับนักท่องเที่ยวขับรถเข้ามาเที่ยวเชียงราย เชียงใหม่ เท่านั้น นักท่องเที่ยวจีนยังคงเดินทางมาเมืองไทยทางอากาศเป็นจำนวนมาก แต่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจว่า ไทยยังยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน โดยมิได้เลือกปฏิบัติ

ส่วนแผนรับมือหรือแก้ปัญหานี้นั้น  ทาง ททท. ได้เชิญสำนักข่าวชื่อดังของจีน ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี ทีวีและเว็บไซต์ซินหัว, @Mangu  และพีเพิล เดลี่ มาทำความเข้าใจกรณีมีข่าวผ่านสังคมออนไลน์ว่าคนไทยต่อต้านนักท่องเที่ยวจีน จนทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่พอใจ เกิดการบอยคอตไม่มาเที่ยวเมืองไทยแล้วนั้น  ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมีเฉพาะที่เชียงรายเพียงแห่งเดียว หรือคิดเป็นร้อยละ 1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยเท่านั้น

ทางด้าน ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์  ผู้บริหารบริษัท Golden Discovery Express และเลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ได้เปิดเผยว่า “สถิตินักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในไทยของปีนี้ในช่วงระยะ 8 เดือนแรก มีราวเดือนละ 9 แสนถึง 1 ล้านคน มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละราว 3 หมื่นกว่าบาทต่อคนต่อครั้ง”

ในเรื่องแผนงานรองรับกระแสทัวร์จีนทะลักนั้น ดร.อดิษฐ์ ตอบว่า “การรับมือเป็นไปด้วยดี เพราะเรานโยบายที่ชัดเจนนั่นคือ  มีการขึ้นค่าธรรมเนียมการทำวีซ่าที่หน้าด่าน จาก 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท” การขึ้นค่าธรรมเนียมนี้ก็คือ อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (วีซ่า) ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งทาง สตง.ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่เรียกเก็บเพิ่มขึ้นนี้ ก็เพราะเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ  ดร.อดิษฐ์ ให้สัมภาษณ์ต่อว่า “ทางด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็ให้ร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการตอบรับทัวร์จีน เช่น ร้านอาหาร ที่พักโรงแรม ร้านขายของที่ระลึก แหล่งท่องเที่ยว ชุมชน ฯลฯ” ส่วนเรื่องวิธีรับมือกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากทัวร์จีน ดร.อดิษฐ์ เปิดเผยว่า “เราได้ทำการรณรงค์ เพื่อทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ”

           ปัญหาและอุปสรรคที่พบก็คือ  ทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่เป็นข่าวใหญ่อยู่ในขณะนี้   ดร.อดิษฐ์ พูดถึงเรื่องนี้ว่า “เหตุการณ์นี้เรียกว่าเกิดการ ‘ช็อกของตลาด’  เราแก้ไขปัญหานี้ด้วยการหารือกับภาครัฐ เพื่อหามาตรฐานป้องกันที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นโดยเร็ว” ส่วนแนวโน้มในอนาคตของทัวร์จีนเที่ยวไทยนั้น ดร.อดิษฐ์ กล่าวว่า “อนาคตถ้าเราได้ปรับแก้ไขทุกอย่าง  และมีแนวทางที่ชัดเจน นักท่องเที่ยวชาวจีนก็ยังจะเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยกันต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า อนาคตทัวร์จีนเที่ยวไทยก็ยังสดใสอยู่”

              ผมก็ขอสรุปส่งท้ายว่า การปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่เป็นข่าวว่าทำให้นักท่องเที่ยวจีนเลิกมาไทย นั้นเป็นคนละเรื่องกับสถานการณ์ปกติ เพราะพวกที่มากับทัวร์ศูนย์เหรียญ อาจจะชะงักเพราะถูกปราบปราม แต่การท่องเที่ยวของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและภาพรวมของคนชาติอื่น ก็ยังเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ดังตัวเลขที่ปรากฏ ไม่ได้เหงาหงอยทำตลาดซบเซาดังที่กล่าวกันแต่อย่างไร  คือ มัน..คนละเรื่อง.ครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Bangkok Bank SME

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS  เจาะข่าว  ตรงใจคุณ