วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

ช่วยกันผลักดันให้เด็ก G มีสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข

23 ธ.ค. 2016
532
Spread the love

unnamed (1)

ช่วยกันผลักดันให้เด็ก G มีสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข

 

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 องค์การแพลนประเทศไทย (เชียงราย) ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย พร้อมทั้งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่บ้านห้วยหมากเลี่ยม ตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมค้นหาและติดตามปัญหาที่เด็กนักเรียนรหัสจี (เด็ก G) ประสบอยู่ ซึ่งเด็ก G ในเขตอำเภอฝางส่วนใหญ่ เป็นชนเผ่าดาราอัง

นายสุมิตร  วอพะพอ ผู้จัดการโครงการสถานะบุคคลและสิทธิพลเมือง องค์การแพลนประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า “เด็กจี (G) หรือเด็กรหัสจี หมายถึงเด็กนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย ที่ยังไม่ได้ถือครองสัญชาติไทย ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ และไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ ตลอดจนขาดสิทธิในด้านอื่นๆ ตามที่พลเมืองไทยได้รับ เว้นเสียแต่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ โดยที่โรงเรียนจะมีระบบการคัดแยกเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ด้วยการระบุอักษร G นำหน้าเลขประจำตัวประชาชน”

 ปัจจุบันสำรวจพบเด็กนักเรียนติดรหัส G ในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย จำนวน 67,433 คน (ในอำเภอฝางมีอยู่ประมาณ 1,500 คน) โดยขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเด็กนักเรียนรหัสจีนั้นเริ่มต้นที่โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นโรงเรียนชายขอบ กล่าวคือ เมื่อโรงเรียนเริ่มต้นปีการศึกษาใหม่ในแต่ละภาคเรียน จะมีการเปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ หากพบว่าเด็กคนใดไม่มีหลักฐานแสดงตัวตน หรือเอกสารที่ระบุสถานะการเป็นพลเมืองไทย (เลขประจำตัว 13 หลัก) ทางโรงเรียนจะดำเนินการสอบประวัติ และส่งข้อมูลให้กับสำนักงานเขตการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อดำเนินการกำหนดหมายเลขประจำตัวนักเรียน 13 หลัก ประเภทเด็กนักเรียนรหัสจี ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่เด็กในราชอาณาจักรไทยทุกคนที่ต้องการเรียน โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นประชากรไทยหรือไม่

แม้โรงเรียนจะไม่ได้แบกรับภาระโดยตรง  เนื่องจากได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายหัวของเด็กนักเรียนรหัสจี จากกระทรวงศึกษาธิการ แต่ภาระต่างๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ได้ตกไปอยู่ที่ครู ผู้ปกครอง และโรงพยาบาลในท้องถิ่นนายสมจิต  อุดมโชคมหาศาล หัวหน้างานเวชระเบียน โรงพยาบาลฝาง กล่าวว่า “ทางโรงพยาบาลเรา ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ โรงพยาบาลต้องให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มความสามารถ แต่กรณีที่มีเด็กกลุ่มจีเข้ามารับการรักษา จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากยังไม่มีสถานะเป็นพลเมืองไทย ดังนั้นเมื่อเกิดค่าใช้จ่ายขึ้น บางครั้งครู หรือผู้ปกครองที่พาเด็กมารักษาตัว ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่กรณีที่ไม่มีเงินชำระค่ารักษาได้ ทางโรงพยาบาลก็ต้องทำสัญญาการผ่อนชำระ และมีระบบการติดตามหนี้สิน ท้ายที่สุดแล้วเมื่อไม่สามารถติดตามหนี้สินได้  ก็กลายเป็นหนี้สูญของโรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลฝางต้องแบกรับหนี้สูญกว่า  10 ล้านบาท”

เพื่อไม่ให้ภาระตกอยู่ที่ครู ผู้ปกครอง และโรงพยาบาล หน่วยงานรัฐในพื้นที่และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ต่างมีความเห็นตรงกัน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรับรองสิทธิของเด็กนักเรียนที่ติดรหัสจีให้ชัดเจน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความล่าช้าในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 20 เมษายน 2559 ว่าด้วยการเพิ่มเติมรายชื่อของผู้ตกสำรวจ

นายวิวัฒน์  ตามี่ ผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและในนาม 37 องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสุขภาพ ได้อธิบายถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาว่า “เคยมีข้อเสนอทางนโยบายผ่านกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา จนกระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีให้เพิ่มชื่อบุคคลผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิ เข้าสู่กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ตามมติ ครม. 23 มีนาคม 2553 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 โดยครั้งนั้นมีผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 208, 631 คน แต่ก็ยังมีกลุ่มเด็กจีที่ตกไปจากมติ ครม. เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่ายังขาดข้อมูลที่ชัดเจน”

การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมร่วมกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการติดตามและแก้ไขปัญหาของเด็กจีในระดับนโยบาย

ทั้งนี้นายวิวัฒน์ ตามี่ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถอนุมัติให้เด็กเหล่านี้เข้าสู่บริการด้านสาธารณสุขได้ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อเสนอให้กลับไปทบทวนตัวเลขของจำนวนผู้ได้รับสิทธิ และจำนวนผู้ขาดสิทธิในปัจจุบัน ภายใน30 วัน แต่บัดนี้ล่วงเลยมาหลายเดือนแล้ว และตัวเลขก็ถูกส่งขึ้นไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศได้”

นายวิวัฒน์  ตามี่ กล่าวสรุปว่า “สิ่งที่เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน 37 องค์กร ร่วมกันเรียกร้องอย่างเร่งด่วนในตอนนี้ มิได้หมายถึงการให้สิทธิในสัญชาติโดยทันที หากแต่เป็นการเรียกร้องให้เด็กๆ กลุ่มนี้ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับบริการด้านสุขภาพ ที่มนุษย์ทั่วไปพึงมีตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และอยากให้มีการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี2559 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่อันล้ำค่าแก่เด็กๆ และทุกคนที่เกี่ยวข้อง”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

นายวิวัฒน์  ตามี่ 088 252 4790

นายสุมิตร  วอพะพอ 080 127 4270

 

 

unnamed (2)

unnamed (3)

unnamed

CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ

รายงาน