วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ชลประทานเชียงใหม่ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งปี2558

Spread the love

ชลประทานเชียงใหม่ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งปี2558

ชลประทานเชียงใหม่

 

โครงการชลประทานเชียงใหม่ รายงานสถานการณ์บริหารจัดการน้ำ และเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย ในปี 2558 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 พร้อมสำรวจข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซากในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 57 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานเชียงใหม่ เข้าร่วมแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยแถลงในวาระ “สถานการณ์น้ำของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน” ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล เปิดเผยว่า ในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2558 แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ ด้านแรกสภาพฝนในปัจจุบัน บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน ได้แผ่เสริมลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ทำให้ภาคเหนือมีผลการตรวจวัดน้ำฝนสะสมเดือน เม.ย.-ก.ย. 2557 มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ ด้านที่สอง ผลตรวจวัดน้ำท่าสะสมเดือน เม.ย.-ก.ย.2557 สถานี P.1 สะพานนวรัฐมีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสะสมน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 37.62 ด้านที่ 3 สภาพน้ำในเขื่อน/อ่าง เขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวง มีปริมาณน้ำสามารถใช้การได้ 187.686 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ35.54 ของความจุ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 12 แห่ง มีปริมาณน้ำสามารถใช้การได้ 25.228 ล้าน ลบ.ม คิดเป็นร้อยละ 29.112 รวมปริมาณน้ำสามารถใช้การได้ทั้งสิ้น 212.914 ล้าน ลบ.ม. และต้องฝ้าติดตามสถานการณ์จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ่างฯห้วยมะนาว อ่างฯ โป่งจ้อ และอ่างฯแม่ตูบ ที่มีปริมาณน้ำใช้งานได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 35 และการจัดสรรน้ำอุปโภค-บริโภค ได้สนับสนุนน้ำดิบสำหรับการผลิตประปา ในเขตเมือง 42,0000 ลบ.ม./วัน เพียงพอไม่ขาดแคลน ด้านการเกษตร ในพื้นที่เขตชลประทาน มีการวางแผนการใช้น้ำ 423.05ล้าน ลบ.ม.ให้กับทุกภาคส่วน โดยปริมาณน้ำที่เหลือในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 12แห่ง เพียงพอต่อการเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงฤดูฝนปี 2557หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การเตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้ง ได้วางแผนกำหนดพื้นที่เพราะปลูกพืชฤดูแล้ง ให้เหมาะสมสัมพันธ์กับปริมาณน้ำต้นทุนในปัจจุบันที่มีอยู่ร้อยละ 39.41 โดยจัดลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ พร้อมสำรวจข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซากในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่สำรวจแหล่งน้ำขนาดเล็กหนอง บึง ที่สามารถนำมาใช้ได้ในฤดูแล้งในภาวะฉุกเฉิน ขอความร่วมมือ อปท.ขุดลอกเปิดทางน้ำและเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด และได้ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ สามารถติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้ที่ www.rid-1.com และwww.irricm.net

 

 

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ