วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

จัดประชุมโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่ เมืองน่าอยู่

Spread the love

              จังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่   เมืองน่าอยู่

จังหวัดเชียงใหม่ จัดประชุมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่       เมืองน่าอยู่ พร้อมหารือการจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติเรื่องเชียงใหม่เมืองน่าอยู่ซึ่งจะมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่อง Eco village ระหว่างองค์กรนานาชาติด้าน Eco village กับจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

เมื่อวันที่ 6 ส.ค.56 ที่ผ่านมา เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าโครงการแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่เมืองน่าอยู่ พร้อมหารือการจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติเรื่องเชียงใหม่เมืองน่าอยู่ซึ่งจะมีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่อง Eco village ระหว่างองค์กรนานาชาติด้าน Eco village กับจังหวัดเชียงใหม่ด้วย โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ณ วัดป่าตึง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน

หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้าน และมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงการเพิ่มของประชากรที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย ซึ่งผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว ส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่กำลังประสบปัญหาพื้นที่แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายเริ่มลดลง มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพมากขึ้น และไม่เพียงพอต่อความต้องการ บางพื้นที่เกิดปัญหาการบุกรุกทำลายป่าและพื้นที่ป่าต้นน้ำ ซึ่งจากการสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มถูกทำลายและเริ่มเสื่อมโทรมและปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในด้านสังคม ภูมิปัญญาพื้นบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่นในหลาย ๆ พื้นที่เริ่มสูญหาย และขาดการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอด จากเหตุผลดังกล่าว จังหวัดเชียงใหม่จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะส่งเสริมชุมชนให้มีการจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้สามารถยกระดับศักยภาพของชุมชนในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวิภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดยให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อการบริหารจัดการเชิงป้องกัน ปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิตและการบริโภคให้เกิดความยั่งยืน ควบคู่กับการรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการฐานทรัพยากรของตนเองและสร้างทางเลือกของการพัฒนาบนความหลากหลายทางชีวิภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งและภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นเมืองน่าอยู่ (Eco village) จะพัฒนาควบคู่พร้อมไปกับจังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงทั้งภาคพื้นดินและอากาศ คือการเชื่อโยงไปสู่จังหวัดเชียงราย สู่ R3A ไปยังประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) การเชื่อมโยงไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน สู่พม่าและอินเดีย การเชื่อมโยงไปจังหวัดลำปางและแพร่ สู่ส่วนต่าง ๆ ของประเทศ (Land Logistics Hub & Rail Hub) และการพัฒนาสนามบินสู่การเป็นศูนย์กลางการบินนานาชาติ (Aviation Hub)  และจากการวิเคราะห์ศักยภาพและโอกาสในการพัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ได้กำหนดตำแหน่งการพัฒนาของจังหวัดเชียงใหม่ตามแผนพัฒนาจังหวัด 4 ปี (พ.ศ.2557-2560) เป็นเมืองน่าอยู่ เมืองน่าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและนิเวศน์ในระดับสากลด้วย โดยได้คัดเลือกพื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลออนใต้เป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องที่จะดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว เนื่องจากออนใต้เป็นตำบลที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการสร้างสรรค์ชุมชนเชิงนิเวศให้มีลักษณะบ้านชุ่ม เมืองเย็น เพราะเต็มไปด้วยศักยภาพและสิ่งที่ ท้าทาย จากการที่ทางจังหวัดได้ลงไปทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ทำให้ทราบว่าชาวบ้านมีความยินดีที่จะสร้างสรรค์ชุมชนให้เป็นชุมชนเชิงนิเวศ แต่ปัญหาที่ชาวบ้านเดือดร้อนคือการขาดน้ำสำหรับการเกษตร และบริโภคในครัวเรือน ดังนั้นการสร้างสรรค์ชุมชนเชิงนิเวศที่เทศบาลตำบลออนใต้ ต้องเริ่มต้นจากการแก้ปัญหาน้ำของชาวบ้านทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลังจากนั้นก็จะขยายโครงการไปดำเนินการในพื้นที่อำเภออมก๋อย เวียงแหง สะเมิง และอำเภอกัลป์ยาณิวัฒนา ต่อไป

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ