วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

คณะแพทย์ฯ มช. เปิดตัว “เครื่องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน”

Spread the love

คณะแพทย์ฯ มช. เปิดตัว “เครื่องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน” 

คณะแพทย์ฯ มช. เปิดตัว “เครื่องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน” เครื่องแรกของประเทศไทยและเป็นเครื่องที่ 3 ในเอเชีย เตรียมความพร้อมสู่ Medical HUB

คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดห้องปฏิบัติการหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พร้อมเปิดตัวเครื่องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron microscope) เครื่องแรกในประเทศไทยและเป็นเครื่องที่ 3 ในภูมิภาคเอเชีย เมื่อวันพุธ ที่ 31 ตุลาคม  2555  ที่ผ่านมา

ห้องปฏิบัติการหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอน อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์เครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์  สังกัดงานบริหารงานวิจัย  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชั้น 1 ตั้งอยู่ที่อาคารปฏิบัติการ 50 ปี  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์เครื่องมือวิจัยฯ ได้เริ่มดำเนินการก่อตั้งขึ้นมาเป็นเวลา 20 ปี โดยเปิดดำเนินการเมื่อเดือนพฤษภาคม  2535  ให้บริการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรค และให้บริการด้านการวิจัยในระดับจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแก่นักศึกษา นักวิจัย และคณาจารย์ทั้งในคณะแพทยศาสตร์ และคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ภายนอกทั้งของภาครัฐ และเอกชน ภายในห้องปฏิบัติการหน่วยจุลทรรศน์อิเล็กตรอนประกอบไปด้วยเครื่องมือหลักคือ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน (Transmission Electron microscope: TEM)และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด(Scanning Electron Microscope: SEM)

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์เครื่องมือฯได้จัดหาเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการทำวิจัยให้หลากหลายแขนงมากที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนจากทางคณะฯและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนโยบายเน้นการพัฒนาด้านการวิจัย การเรียนการสอน และการบริการผู้ป่วยเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้องเชิงลึก และซับซ้อน จึงได้ซื้อเครื่องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน Electron microscope ที่มีประสิทธิภาพและความหลากหลายในการวิเคราะห์ตัวอย่างไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรค ตัวอย่างทางชีววิทยา จุลชีววิทยา วัสดุศาสตร์ เป็นต้น มีมูลค่ากว่า 47 ล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องที่ 3 ของเอเชีย มีใช้อยู่ที่สิงคโปร์  อินเดีย และไทยเท่านั้น สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นเครื่องแรกของประเทศที่มีการนำเครื่องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเข้ามาใช้ และปัจจุบันเรามีความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์  และประเทศญี่ปุ่น โดยใช้เครื่องนี้ในงานวิจัยร่วมกัน เครื่องตัวนี้จะทำให้คณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นสถาบันชั้นนำในการทำให้เกิด Medical HUB ในอนาคตพร้อมกับงานวิจัยเชิงลึก

รองคณบดี กล่าวต่อว่า เครื่องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน มีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคที่ค่อนข้างซับซ้อน มีประสิทธิภาพและความหลากหลายในการวิเคราะห์ตัวอย่างไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยโรค ตัวอย่างทางชีววิทยา จุลชีววิทยา วัสดุศาสตร์ เครื่องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะทำให้เราสามารถมองเห็นเซลล์ที่มีขนาดเล็กได้อย่างละเอียดและชัดเจน ซึ่งกล้องจุลทรรศน์ธรรมดาไม่สามารถทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนได้  สิ่งที่สำคัญคือเราตัดชิ้นเนื้อของผู้ป่วยในการวินิจฉัยโรคขนาดเพียงไม่เกิน 1 มิลลิเมตรเท่านั้นก็สามารถทำให้เราทราบว่าเป็นโรคอะไร ทำให้การวินิจฉัยโรคได้ละเอียดชัดเจนขึ้นและลดความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย โดยค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการวินิจฉัยโดยใช้เครื่องElectron microscope ประมาณ 3,000 บาท

สำนักข่าว 
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ รายงาน