วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ขาดแคลนแรงงาน หนุนเด็กไทย เรียนสายอาชีพ

Spread the love

ขาดแคลนแรงงาน หนุนเด็กไทย เรียนสายอาชีพ

ต่อไป จบ ปวช.เงินเดือนเท่าปริญญาตรี

scoop1

                  ท่านผู้อ่านครับ  ประเทศไทยเรามีอุตสาหกรรมมากมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์  แต่   เชื่อใหมครับ   เรากลับมีปัญหา ขาดแคลนแรงงาน    ทั้งนี้เพราะเด็กไทยไม่ค่อยสนใจจะเรียนสายอาชีพ   เรื่องนี้     มีรายงานเมื่อเร็วๆนี้ว่า หลายฝ่ายได้หยิบเอาปัญหานี้มาตั้งวงสนทนากัน  แล้ว หอการค้าไทย ในฐานะเจ้าภาพก็ได้ทำโครงการขึ้นมา   เพื่อ หนุนเยาวชนไทยรุ่นใหม่เข้าเรียนในโรงเรียนสายอาชีพมากขึ้น หวังช่วยสร้างแรงงานมีฝีมือ ทดแทนอนาคตที่ไทยอาจขาดแคลนแรงงาน

         ลองมาฟังแผนงานดูครับ

            คุณภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ท่านเปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนกลุ่มต่างๆ ได้วางแผนงานแรกโดยการสร้างแรงจูงใจนักเรียนให้หันมาเรียนหนังสือในระดับ ปวช.มากขึ้น เพื่อลดปัญหาการแย่งตัวแรงงานฝีมือ เช่นจะมีการ ปรับอัตราค่าจ้าง  ผู้ที่ผ่านหลักสูตรเฉพาะด้านสาขาอาชีพในระดับ ปวช. และปวส. จะได้ค่าตอบแทนเริ่มต้นเท่ากับปริญญาตรี คือ 15,000 บาทต่อเดือน

             และยังจะเพิ่มช่องทางต่างๆ ให้เป็นหัวหน้างานได้เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนทั้งในและต่างประเทศบ่นว่าขาดแคลนแรงงานอาชีวะอย่างมาก เนื่องจากผู้ที่จบระดับปริญญาตรีมีมาก แต่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งในภาพรวมการจ้างงาน หอการค้าฯ ต้องการให้รัฐบาลปรับหลักเกณฑ์เรื่องของรายได้ในส่วนของผู้ที่จบสายอาชีพให้สูงขึ้นหรือใกล้เคียงกับผู้ที่จบระดับปริญญาตรีด้วย เพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนหันมาเรียนปวช.และปวส.กันมากขึ้น

              ทั้งนี้เอกชนกลุ่มต่างๆ อยู่ระหว่างการร่างหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะด้าน แก่โรงเรียนอาชีวะ หรือสถาบันต่างๆ ที่มีการลงนามข้อตกลงกับแต่ละกลุ่มธุรกิจ ให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณา เช่น หลักสูตรอุตสาหกรรมยานยนต์, การพัฒนาหรือซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตร, อสังหาริมทรัพย์, เกษตรแปรรูป, การค้าและอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้ศึกษา และฝึกทำงานในสถานประกอบการเหมือนกับพนักงานของบริษัท เพื่อรองรับความต้องการแรงงานเฉพาะด้านของนักลงทุน เพราะเมื่อจบการศึกษาก็สามารถทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาในการศึกษางาน เหมือนกับปัจจุบัน โดยผู้ที่จบออกมาก็จะได้ทำงานหมดซึ่งการร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในหลายโครงการก็ได้ดำเนินการและเกิดการ จ้างงานแล้ว

เกี่ยวกับ เรื่องนี้ ก็มีข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรม มีแรงงานกว่า 6,000,000 คน แบ่งเป็นแรงงานวิชาชีพกว่า 1,000,000 คน และแรงงานฝ่ายผลิตกว่า 5,000,000 คน โดยแรงงานจะอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น และประเมินว่าใน 3-4 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมไทยจะขาดแรงงานฝ่ายผลิตประมาณ 300,000 คน เพราะแรงงานภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนหนึ่ง เป็นแรงงานที่มีอายุสูง ซึ่งยังเป็นแรงงานที่มีฝีมือด้วย ดังนั้นแสดงให้เห็นว่าในอนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานประเภทดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ

              อย่างไรก็ดี นักวิชาการลงความเห็นว่า ความต้องการตลาดแรงงานสายวิชาชีพ มีสูงกว่าแรงงานสายสามัญ แต่ปัจจุบันค่านิยมการศึกษาของไทย ไม่ตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจมากนัก นักเรียน นักศึกษาเลือกเรียนสายสามัญอยู่ 60% แต่กลับมีสัดส่วนการว่างงานเพิ่มขึ้นมาก

              และเลือกสายอาชีวะ 40% แต่มีอัตราการว่างงานน้อย ดังนั้นต้องมีการปรับสัดส่วนให้เท่ากันจึงจะทำให้แรงงานที่จบมีเพียงพอต่อความต้องการ ขณะเดียวกันหากมีหลักสูตรเฉพาะด้านก็จะดียิ่งขึ้น โดยแรงงานที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศต้องการมากในระดับ ปวช. และ ปวส. เช่น สาขาช่างกลโรงงาน, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ช่างยนต์ เป็นต้น

             

 

 ขอขอบคุณที่มา แนวหน้าออนไลน์………………

 อรุณ ช้างขวัญยืน เรียบเรียงและรายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ