วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

ก.วัฒนธรรมเดินหน้าช่วยศิลปินพื้นบ้าน ประเดิมอุ้มคณะลิเก

Spread the love

ก.วัฒนธรรมเดินหน้าช่วยศิลปินพื้นบ้าน

ประเดิมอุ้มคณะลิเก

scoop111

ท่านผู้อ่านครับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว       ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2558 คุณวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  ในฐานะประธานการประชุมกำหนดแนวทางการดูแลสวัสดิการให้แก่ศิลปินพื้นบ้าน เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมดูแลศิลปินทุกสาขา อาทิ ลิเก หมอลำ ลำตัด มโนราห์ ซอพื้นเมือง วงดนตรีพื้นเมืองสะล้อซึง ในฐานะที่ศิลปินเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมก็ได้มีแผนการดำเนินงานช่วยเหลืออย่างแรกไปแล้วคือ จะทำให้นาฏดนตรี หรือ ศิลปินลิเกมีงานและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง

               โดยมีแนวทางว่าในระยะแรกเสนอให้มีการพัฒนาบทบาทการแสดง ด้วยการนำเนื้อเรื่องใหม่ๆ สะท้อนชีวิตที่น่าสนใจและเพิ่มความสนุกสนานยิ่งขึ้น อีกทั้งเสนอให้คณะลิเกควรทำการตลาดให้ผู้สนใจรู้ว่ามีคณะลิเกอยู่ที่ใดบ้าง เรื่องนี้ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำทำเนียบคณะลิเกทั่วประเทศ เพื่อแสดงข้อมูลรายละเอียดของคณะลิเกนั้นๆ อย่างครบถ้วนไปแล้ว อาทิ ที่อยู่ รายนามนักแสดง อัตราค่าจ้าง ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะจัดพิมพ์และแจกจ่ายไปยังห้องสมุดและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งจะจัดทำเว็บไซต์ให้ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นได้ทางอินเตอร์เนต ซึ่งจะเป็นการประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง

ท่านรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ศิลปินลิเกควรจับมือกัน  ไม่ตัดราคากัน มีการแลกเปลี่ยนนักแสดงร่วมกัน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวต้องจัดตั้งเป็นรูปแบบสมาคมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และปรึกษาหารือถึงปัญหาต่างๆ ในการแสดง ซึ่งเมื่อสามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมแล้ว กระทรวงก็จะมีงบอุดหนุนให้ เพื่อสมาคมฯสามารถนำมาบริหารจัดการได้อีกด้วย

นอกจากนี้กระทรวงวัฒนธรรมยังมีแผนที่จะจัดงานมหกรรมลิเกขึ้นในส่วนภูมิภาค เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาสนใจการแสดงลิเกมากขึ้น และคณะลิเกขนาดเล็กจะได้มีพื้นที่สำหรับแสดงอีกด้วย

สำหรับการส่งเสริมรายได้นั้น กระทรวงวัฒนธรรมจะขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานราชการในท้องถิ่นและวัดต่างๆ หันมาใช้บริการจากคณะนักแสดงลิเกในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีแผนจะจัดให้มีการประกวดคณะลิเกยอดเยี่ยม นักแสดงยอดเยี่ยม เพื่อเป็นรางวัล และกระตุ้นให้ศิลปินลิเกเกิดการตื่นตัวมากยิ่งขึ้น โดยในความเห็นของตน อยากให้มีการปลูกฝังการแสดงลิเกในสถานศึกษาต่างๆ โดยจะจัดให้มีการฝึกฝนด้านการแสดงลิเกให้กับนักเรียน นักศึกษาที่สนใจพร้อมกันไปด้วย

ทั้งนี้ศิลปินพื้นบ้านถือว่าเป็นรากฐานของสังคมไทย ที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีตที่จะต้องรักษาไว้ ซึ่งต้องมีการพัฒนามาตรฐานลิเกไทยให้มีความทันสมัย รวมทั้งเนื้อเรื่องและบทลิเกก็ต้องมีการปรับปรุง โดยอยากจะให้บทแสดงลิเกมีการสอดแทรกเนื้อหาด้านความดี การสร้างความปรองดองในสังคม มีความเอื้ออาทร มีน้ำใจ เพื่อเป็นการปลูกฝังและเป็นแบบอย่างให้กับเด็กและเยาวชนในอนาคตต่อไป.

ดูจากข่าว ก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ทุกเรื่องเลยครับ เป็นเรื่องที่บางเรื่องดูว่ายาก แต่ถ้าลงมือทำทีละเล็กละน้อยก็มีความหวังว่าน่าจะประสพความสำเร็จได้ แต่ในความเห็นของผู้เขียน เห็นว่า ศิลปินพื้นบ้านนั้นเป็นวัฒนธรรมประจำถิ่น เช่น ลิเก นิยมกันทางภาคกลาง หมอลำ อยู่ทางภาคอีสาณ ภาคไต้ก็ต้องมโนราห์ และภาคเหนือคือ ซอพื้นเมือง

             หากจะสนับสนุนส่งเสริมก็ต้องแบ่งภาคเสียก่อน ทั้งนี้เพื่อย่อขนาดของงานให้เหมาะสม ถ้าเราจะสนับสนุน จะพัฒนา จะอนุรักษ์อย่างใดอย่างหนึ่งไปทั่วประเทศก็คงลำบาก เพราะประชาชนในท้องถิ่นอาจจะไม่นิยม เช่น ถ้าจะให้คนเหนือไปสนับสนุนและส่งเสริมมโนราห์ก็คงลำบาก หรือเอาหมอลำไปส่งเสริมภาคไต้ ก็คงไม่ง่ายเช่นกัน

                        อย่างไรก็ตาม หากว่ากระทรวงวัฒนธรรมมีความตั้งใจ ก็ขอสนับสนุนครับ

อรุณ ช้างขวัญยืน/รายงาน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เจ้าพระยานิวส์ออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน เรียบเรียงและรายงาน