วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่ – ลำพูน

Spread the love

การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่ – ลำพูน

 

1082674_222007034617071_1346454346_n112

กรมทางหลวงมอบหมายกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่-ลำพูน สำหรับเป็นทางเลือกในการเดินทางเชื่อมโยงระหว่าง 2 จังหวัด และเพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความคุ้มทุนทางด้านเศรษฐกิจสูงสุด เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุดและเอื้อประโยชน์กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการและผู้ใช้เส้นทางมากที่สุด

นายสุริยะ  ประสาทบัณฑิตย์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าของโครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่-ลำพูน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ซึ่งทั้ง 2 จังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยที่ตั้งของตัวจังหวัดทั้งสองตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 20 กิโลเมตรทำให้แนวโน้มการพัฒนาและการเจริญเติบโตของตัวเมืองมีลักษณะต่อเนื่องกันเป็นเมืองแฝด ประกอบกับทางภาครัฐมีนโยบายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเมืองแฝดระหว่าง 2 จังหวัด จึงส่งผลให้มีความต้องการเดินทางระหว่างจังหวัดเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดทางด้านโครงข่ายทางหลวงที่เชื่อมระหว่าง 2 จังหวัด ผ่านพื้นที่ชุมชนหนาแน่น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแนวเหนือใต้นั้นมีเขตทางที่แคบ ประกอบกับมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขนาบข้าง 2 ข้างทางทำให้ไม่สามารถขยายความกว้างของผิวจราจรได้

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการดังกล่าวว่า ในปี พ.ศ.2550 กรมทางหลวงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่-ลำพูน พบว่า แนวเส้นทางโครงการไม่ได้ตัดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ที่เข้าข่ายประเภทของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการระเบียบวิธีปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากกรมทางหลวงให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ จึงได้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการในอนาคต

ต่อมา เมื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีประกาศลงวันที่ 20 มิถุนายน 2555 เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ที่ระบุให้โครงการทางหลวงหรือถนน ซึ่งมีความหมายว่าด้วยทางหลวงที่ตัดผ่านพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์หรืออุทยานประวัติศาสตร์ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในระยะทาง 2 กิโลเมตรขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจากการสำรวจแนวเส้นทางโครงการ พบว่า บริเวณพื้นที่โครงการในระยะ 2 กิโลเมตรของแนวเส้นทางโครงการ พบแหล่งโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรที่สำคัญ 1 แห่ง ได้แก่ เวียงกุมกาม ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนในหมวดสถานที่ทางวัฒนธรรมประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3683 วันที่ 8 มีนาคม 2478 จึงจำเป็นต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการขออนุมัติโครงการ ดังนั้น กรมทางหลวง โดยสำนักสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้ว่าจ้าง บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่-ลำพูน เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความคุ้มทุนทางด้านเศรษฐกิจสูงสุด เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติน้อยที่สุดและเอื้อประโยชน์กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่โครงการและผู้ใช้เส้นทางมากที่สุด

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงแนวใหม่ สายเชียงใหม่ – ลำพูน ว่า เพื่อศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของโครงการ ซึ่งประกอบด้วย การศึกษาด้านวิศวกรรม การศึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม การศึกษาด้านการจราจรและขนส่ง และการวิเคราะห์โครงการ เพื่อศึกษารวบรวมและวิเคราะห์รายละเอียดโครงการ รูปแบบการพัฒนาโครงการ และแผนการดำเนินโครงการเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์สภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการพัฒนาโครงการทั้งในระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ เพื่อเสนอแนะมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใช้เป็นข้อมูลประกอบการขออนุมัติโครงการ

       สำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการ มีระยะทางรวมประมาณ 19.4 กิโลเมตร โดยครอบคลุม 2 จังหวัด 4 อำเภอ 10 ตำบล โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ (ตำบลป่าแดด) อำเภอหางดง (ตำบลสันผักหวาน ตำบลสบแม่ข่า ตำบลบ้านแหวน ตำบลขุนคง) อำเภอสารภี (ตำบลขัวมุง ตำบลสันทรายมหาวงศ์) ส่วนจังหวัดลำพูน จะดำเนินการศึกษาในพื้นที่อำเภอเมืองลำพูน ประกอบด้วย ตำบลในเมือง ตำบลประตูป่า ตำบลเหมืองง่า

 

CNX NEWS รายงาน