วันเสาร์, 27 เมษายน 2567

กวดขันวินัยจราจร จับจริง ปรับจริง

06 มี.ค. 2015
235
Spread the love

กวดขันวินัยจราจร จับจริง ปรับจริง

จราจร

ค้นหาเหตุแท้จริง ที่แท้ รำไม่ดี โทษปีโทษกลอง

             รณรงค์กันมาตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2558ในเรื่องกวดขันวินัยจราจรของผู้ขับขี่รถจัรยานยนต์ ว่าด้วยการสวมหมวกนิรภัย หรือ หมวกกันน้อค และข้อหาอื่นๆ ฝ่ายตำรวจก็กำหนดวันที่จะดำเนินการแบบเฉียบขาดคือ จับจริง ปรับจริง วันที่ 1 มีนาคม 2558

          สำนักข่าว CNX ของเราก็เอาจริงกับเขาเหมือนกัน คือ ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดโดยไปติดตามการทำงานของตำรวจจราจรในวันที่1มีนาคม2558 ที่บริเวณถนนนิมมานเหมินทร์ สี่แยกรินคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเชียงใหม่ นำโดย พันตำรวจเอก  ปิยะพันธ์ ภัทรพงษ์สินธุ์ ผู้กำกับการกลุ่มงานจราจร ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ จัดชุดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการจับจริงปรับจริง เพื่อคุ้มเข้มกฎจราจร ซึ่งถือเป็นวันแรกภายหลังจากที่ได้มีการประกาศแจ้งและการทำกิจกรรมรณรงค์มาแล้วก่อนหน้านี้ ผลการปฏิบัติการพบว่ายังมีผู้ปฏิบัติผิดกฎจราจรทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมากกว่า 1,000 คัน ไม่ว่าจะเป็นการขับขี่จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย การฝ่าฝืนกฎจราจรอีกหลายข้อ ภายหลังการดำเนินการจับกุมเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับทันที พบว่า มีประชาชนจำนวนมากต่อคิวเป็นแถวยาวเพื่อรอจ่ายค่าปรับตามที่ได้ระบุฐานความผิดในใบสั่ง

ขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนจำนวนมากให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามกฎจราจรทางตำรวจทางตำรวจคาดว่าการปฏิบัติการข้อบังคับที่ดำเนินการใช้พร้อมกันทั่วประเทศในครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อตัวประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้แล้วตำรวจจราจรได้กระจายกำลังประจำจุดต่างๆ ที่เป็นถนนเส้นทางหลักและแยกสำคัญๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อคอยตรวจจับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอีกด้วย

           ผู้กำกับการกลุ่มงานจราจร ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ บอกกับผู้สื่อข่าว CNX ว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรนี้ถือเป็นการเริ่มปฏิบัติการอย่างจริงจังเป็นวันแรก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ไปแล้วหลายกิจกรรมเพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งการดำเนินการโครงการนี้ ได้ดำเนินการตามที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ค.ศ.2011-2020 พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญและผลักดันเรื่องความปลอดภัยทางถนนโดยกำหนดเป็นเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ.2020

 

        เอาละครับ รายงานให้ทราบถึงเนื้อหา บรรยากาศแล้ว ขอตัดกลับมายังเรื่องสำคัญบ้าง

   

                ในวันที่ 4 มีนาคม 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เขาก็จัดเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานมีเวทีเสวนา คนปลอดเหล้า ถนนปลอดภัย สถานการณ์และข้อมูลสถิติความปลอดภัยทางถนน จังหวัดต้นแบบการสร้างมาตรการลดอุบัติเหตุ และเสียงสะท้อนภัยจากอุบัติเหตุ CNX   ก็ตามไปรายงานข่าวด้วย

เวทีสัมมนา นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็น อันดับที่ 3 ของโลก ในทุกๆ ชั่วโมงจะมีคนไทยเสียชีวิต 3 คน ทุกชั่วโมง มีคนไทยป่วย 200 คน ส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยนต์ รองลงมา คือ รถปิ๊กอัพ จักรยาน เป็นต้น

คุณหมอบอกว่า “ปัญหาการสูญเสียจากอุบัติเหตุในประเทศไทยมาจากพฤติกรรมการขับขี่ถึง 94% รองลงเรื่องถนน 34% เรื่องของรถ 12% อนาคตถ้าประเทศไทยยังไม่มีมาตรการการแก้ปัญหาที่ดี เราก็ต้องสูญเสียชีวิตกันมากกว่านี้ ยิ่งเปิดประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้คาดว่าอุบัติเหตุจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก”

              คุณหมอ วิทยา กล่าวถึงภาพที่อยากเห็นมากที่สุดคือ คนขับรถจักรยานยนต์ใส่หมวกนิรภัย คนขับรถยนต์รัดเข็มนิรภัย ไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ที่สำคัญเมาไม่ขับ

             น่าตกใจมากคือคุณหมอบอกว่า เชื่อใหม จากสถิติจากการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีกฎหมายหมวกนิรภัยมา 20 ปี แต่คนไทยสวมหมวกนิรภัยแค่ 44% เท่านั้น

ด้าน ผศ.ดร.วิชุดา เสถียรนาม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลับมีมุมมองต่างไป กล่าวถึงการจัดการกับจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันอุติเหตุว่า เรื่องอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แต่เป็นเรื่องที่อธิบายได้ สามารถป้องกันได้

             อาจารย์ วิชุดากล่าวว่าเวลาที่เกิดอุบัติเหตุเรามักจะรู้สึกคือ ..ซวย ..แต่ในความเป็นจริงที่สามารถอธิบายได้คือ  เมา เร็ว ง่วง หลุม  วัยรุ่นเพิ่งหัดขับรถ คนสูงวัยที่มีการตัดสินใจช้า มองไม่เห็นทาง ย้อนศร มืด ไม่ชำนาญ บรรทุกเกินขนาด ระบบเบรกไม่ดี สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งคนขับรถไม่ค่อยนึกถึง  จะคิดแค่ว่า ตัวเองซวยเป็นอันดับแรก ขณะที่สื่อมวลชนก็พาดหัวข่าว เคราะห์ดี ห้อยพระดีดวงไม่ถึงคาด รอดปาฏิหาริย์. แต่ความเป็นจริง คนขับคาดเข็มขัดนิรภัย มีถุงลมนิรภัย ใส่หมวกนิรภัย หรือพูดง่ายๆว่า ป้องกันตัวเองได้ดี

              ผศ.ดร.วิชุดา กล่าวถึงการลดอุบัติเหตุได้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดก่อนถึงจะเป็นต้นแบบของการลดอุบัติเหตุได้ และอีกหนึ่งวิธีการที่ลดจุดเสี่ยงเพื่อไม่เกิดอุบัติเหตุ ทำสัญลักษณ์ที่ชัดเจน ให้อยู่ในระยะที่ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถระวัง หรือหลบหลีกได้ทัน

                สรุปง่ายๆก็คือ จับคนทำผิดกฎจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุ แต่ไม่พูดถึงจุดเสี่ยง   เช่น หลุม บ่อ บนถนน   สัญญาณต่างๆไม่มี หรือไม่ชัดเจนเกิดอุบัติเหตุที ก็โยนความผิดไปที่  คน ก่อนเลย หาว่า ประมาท บ้าง เมาแล้วขับ บ้าง

               แบบนี้  เขาเรียกว่า รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง

 

 อรุณ ช้างขวัญยืน/รายงาน

สำนักข่าว CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ