วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

กรมการแพทย์จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรเสวนา

10 ส.ค. 2013
183
Spread the love

 

                สถาบันธัญญารักษ์ร่วมกับกรมการแพทย์จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรเสวนา

สถาบันธัญญารักษ์ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรเสวนาเผยแพร่ข้อมูลด้านวิชาการสมองติดยา หายขาดได้ หวังสร้างประสิทธิภาพการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เน้นกระบวนการสมัครใจ เล็งเห็นประโยชน์การบำบัดและโทษของยาเสพติดด้วยแรงขับจากตัวผู้เสพและครอบครัว โดยหวังสื่อกระจายข้อมูล การเข้าถึงตรงจุดและสร้างทัศนคติผู้เสพคือผู้ป่วย หายขาดได้ ถ้าได้รับโอกาส

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราดวงตะวัน จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยนายแพทย์อังกูร ภัทนากร รองผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ เป็นประธานเปิดงานเสวนาให้กับสื่อมวลชนเพื่อสานความร่วมมือมายังสื่อมวลชนทุกแขนงในการเป็นสื่อกลางหรือกระบอกเสียงสำคัญเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องโทษยาเสพติด รวมถึงลดจำนวนผู้ที่ติดยาเสพติด และช่วยให้ครอบครัวหรือคนในสังคมได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อผู้เคยผ่านเข้ารับการบำบัด พร้อมเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้อยู่ร่วมในสังคมโดยไม่เกิดความรู้สึกกดดันและกลับไปเสพซ้ำ

ด้านรองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ยาเสพติดยังมีตัวเลขที่สูงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะลดลงไปบ้างในอดีต เนื่องจากการเอาจริงเอาจริงด้านการปราบปรามและเฝ้าระวัง แต่จากการคาดประมาณของสำนักงาน ป.ป.ส. คาดว่ามีผู้เสพติดมากกว่า 1,200,000 คน และจากข้อมูลผู้เข้ารักการรักษาซึ่งกรมการแพทย์โดยสถาบันธัญญารักษ์และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในเขตภูมิภาคอีก 6 แห่งทั่วประเทศ พบว่าสถิติผู้เสพติดทั้งหมดจำแนกตามปีงบประมาณ 2552-2556 เมื่อแยกตามช่วงอายุของผู้เข้ารับการบำบัด พบว่าในปี 2555-2556 ผู้ป่วยยาเสพติดส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-24 ปี ซึ่งต่างจากในช่วงแรกที่อยู่ในกลุ่มอายุ 15-19 ปีซึ่งยังถือว่าเป็นกลุ่มของวัยรุ่น และในปี 2552-2556 กลุ่มผู้ป่วยยาเสพติดส่วนใหญ่คือกลุ่มมัธยมศึกษา โดยเปรียบเทียบในปี 2555 มีจำนวนร้อยละ 58.50 และในปี 2556 มีจำนวน 59.64 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้น และหากดูสถิติของผู้เข้ารับการรักษาโดยมีการจำแนกตามประเภทของสารเสพติดพบว่ายาบ้า มีปริมาณสูงที่สุดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552-2556 โดยในปี 2556 มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 55.97 ลงรองมาคือสุรา ร้อยละ 17.96 นอกจากนี้ยังพบว่ายาไอซ์ ก็เป็นยาเสพติดอีกชนิดที่พบว่ามีแนวโน้มการแพร่ระบาดสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

และการดำเนินโครงการภายใต้สโลแกน ติดยา หายขาดได้ จะเป็นสาระสำคัญกับยุทธศาสตร์การบำบัดรักษาปี 2556 โดยประมาณการผู้เสพติดไว้ที่ประมาณ 1.9 ล้านคน เพื่อควบคุมและลดระดับปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน ให้ได้ให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ป้องกันลดรายใหม่ ปรับระบบบำบัด และจำแนกตัดกรองพร้อมติดตามและสานต่อไปยังพื้นที่เป้าหมายส่งผลต่อการลดปัญหาให้ได้ พร้อมปลูกฝังเยาวชนทั้งในระดับครอบครัวและสถานการศึกษา ไม่ให้มีค่านิยมเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและช่วยให้ปริมาณของผู้ใช้สารเสพติดเข้ามาสู่กระบวนการบำบัดรักษาด้วยวิธีการสมัครใจให้มากที่สุด จนเกิดประสิทธิภาพและเป็นโอกาสที่ดีในการส่งคืนคนดีกลับสู่สังคมไทยอย่างได้ผล.

 

 

สำนักข่าว
cnx news เจาะข่าว ตรงใจคุณ