วันอังคาร, 30 เมษายน 2567

ให้โอกาสคนจนสู้คดีอาญาแล้วประกันตัวไม่ต้องใช้หลักทรัพย์

Spread the love

scoop213

สกู๊ปพิเศษ CNX NEWS

ให้โอกาสคนจนสู้คดีอาญาแล้วประกันตัวไม่ต้องใช้หลักทรัพย์

           

ท่านผู้อ่านครับ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการศาลยุติธรรม เป็นประธานเปิดงานสัมมนาสื่อมวลชนที่จ.กาญจนบุรี ในระหว่างการสัมมนา  ท่านเลขาฯระบุว่าศาลยุติธรรมมีการพัฒนาระบบการจัดการคดีให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา  เพื่อให้การพิจารณาคดีมีความรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยชั่วคราวหรือการประกันตัวจำเลยในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีในศาล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยต้องวางหลักทรัพย์หรือมีบุคคลค้ำประกัน

           ท่านเลขาฯบอกอีกว่า จากสถิติผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 พบว่า มีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวนและการพิจารณาของศาลมีจำนวนถึง 59,070 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 289,675 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 20.29 ของผู้ต้องขังทั้งหมด และพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังที่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง แต่ไม่มีหลักทรัพย์วางประกันจึงทำให้ถูกขังระหว่างการพิจารณา

เรื่องนี้สำคัญมากแต่การปล่อยตัวชั่วคราวก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควร ศาลยุติธรรมจึงได้นำระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวมาทดลองใช้ในระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการหลบหนีของจำเลย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของศาลตรวจสอบข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กำหนดแล้วประเมินออกมาเป็นตัวเลขความเสี่ยงการหลบหนีเสียก่อน จึงนำเสนอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งจะปล่อยชั่วคราวหรือไม่อย่างไร โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน ซึ่งจะนำมาใช้เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โดยจะเริ่มโครงการทดลองวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 นี้

สำหรับวิธีการ นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า การประเมินความเสี่ยงในการหลบหนีจะแบ่งออกเป็นระดับ คือ เสี่ยงมากที่สุดจนถึงเสี่ยงน้อยมากที่สุด โดยประเมินจากการตรวจประวัติการก่อเหตุอาชญากรพฤติการณ์ในคดี, ความเสี่ยงการหลบหนี, ความเสี่ยงการก่อเหตุซ้ำ, ความเสี่ยงการก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม, ความเสี่ยงที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และฐานข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้น ประกอบกับการพิจารณาของผู้พิพากษา เช่น หากมีความเสี่ยงมาก ก็อาจจะปล่อย แต่ พิจารณาให้ใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ต้องคดี กำไลอีเลคโทรนิคส์ปัจจุบันใช้ในต่างประเทศหลายประเทศ ระบบยุติธรรมไทย อยู่ระหว่างออกแบบตัวกำไลเพื่อที่จะจัดซื้อ หรือ ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มีการโหลดแอพพลิเคชั่นติดตามตัว

        ประเด็นที่ว่า การทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่นั้นอาจจะมีทุจริต เรื่องนี้เป็นปัญหาที่จะต้องหาทางแก้แต่หากพบว่าไม่สุจริตมีลักษณะช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็ต้องมีความผิดทางอาญาแน่นอน

ทางด้านนายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า เบื้องต้นจะทดลองใช้แบบประเมินความเสี่ยงเฉพาะศาลชั้นต้นนำร่อง 5 ศาล ประกอบด้วย ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาลทั้งห้าแห่งมีลักษณะคดีและกลุ่มผู้ต้องหาหรือจำเลยแตกต่างกัน โดยใช้เวลาทดลอง 1-3 ปี ก่อนพิจารณาขยายไปยังศาลอื่นทั่วประเทศ และจะทดลองกับทุกฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูงขึ้น ยกเว้นความผิดในคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และคดียาเสพติดที่มีการครอบครองและจำหน่ายจำนวนมาก

       นายมุขเมธิน กล่าวอีกว่า ในการทดลองแม้อัตราโทษคดีไม่เกิน 5 ปี จะมีสิทธิได้รับการรอลงอาญาตามกฎหมายอยู่แล้ว  แต่จะมีการนำผลการหลบหนีของจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในโครงการทดลองมาเปรียบเทียบกับจำเลยที่ใช้หลักประกันและหลบหนี หากพบว่าจำเลยในโครงการทดลองมีการหลบหนีมากกว่า ก็จะปรับปรุงแก้ไขแบบประเมินความเสี่ยงให้มีความแม่นยำมากขึ้นเพราะหากผิดพลาดไปจะกลายเป็นว่าปล่อยคนที่ไม่สมควรปล่อย และขังคนที่ไม่สมควรขัง

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าการใช้งบประมาณในการประเมินความเสี่ยงปล่อยชั่วคราว จะสามารถลดงบประมาณการดูแลผู้ต้องขังได้ประมาณร้อยละ 10 ต่อคน และหวังว่าอนาคตจะได้รับเงินสนับสนุนในส่วนนี้จากภาครัฐ ส่วนการจัดซื้อกำไล EM ขณะนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 ชิ้น และคาดว่าจะนำมาทดลองใช้ได้ก่อน 100 ชิ้น ซึ่งกำไล EM ของจะมีลักษณะเหมือนนาฬิกาข้อมือคล้ายเครื่องประดับเพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องคดี

             อนึ่ง ผมขอส่งท้ายบทความนี้ว่า หากอ่านจากข้อมูลข่าวข้างต้นซึ่งจะเป็นภาษาของศาล ท่านผู้อานอาจจะมึนงง ผมจึงขอสรุปว่าปัจจุบันเรามีผู้ต้องคดีที่มีอัตราโทษน้อย คือ ไม่เกิน 5ปี ถูกขังระหว่างดำเนินคดีจำนวนมากซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผู้ยากไร้ ไม่มีทุนทรัพย์ที่จะเป็นหลักประกันเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างถูกดำเนินคดี ศาลยุติธรรมจึงนำเสนอมาตรการเพื่อช่วยคนเหล่านี้ โดยจะให้ประกันตัวออกไป แบบไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่จะต้องผ่านการประเมินจากเจ้าหน้าที่ศาลฯเสียก่อน ว่า ถ้าปล่อยไปแล้วจะไม่หนี  เมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วว่า ไม่หนี ก็จะแนบรายงานการประเมินให้ศาลพิจารณาอนุญาตให้ประกันตัวออกไป แต่ถ้ายังเสี่ยงในเรื่อง หนี ในอนาคตอาจจะมีเงื่อนไขให้สวมกำไลอีเลคโทรนิคแบบต่างประเทศ หรือใช้สมาร์ทโฟนแอพพลิเคชั่นให้ติดตัวไป ซึ่งเครื่องมือแบบนี้จะสามารถระบุตัวตนของผู้ได้รับการปล่อยตัวเพื่อติดตามจับได้ โครงการดังกล่าวนี้จะนำร่องในศาลจังหวัด5แห่งก่อน คือ ศาลอาญากรุงเทพไต้ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัด จันทบุรี  กาฬสินธ์   และ เชียงใหม่

           มาตรการที่ศาลยุติธรรมจะเริ่มวันที่ 1 ก.พ. 2560 นี้เป็นมาตรการที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ต้องคดีที่ยากจน จะได้กลับไปใช้ชีวิตตามปกตินอกเรือนจำ แต่ หากว่า ช่วยแล้ว ยังหนี ผมก็ไม่ทราบจะร้องเพลงอะไรละครับ ท่านทั้งหลาย

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวอิศรา. ออนไลน์

อรุณ ช้างขวัญยืน/เรียบเรียง/รายงาน

CNX NEWS เจาะข่าว ตรงใจคุณ

 

 

จคุณ